logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: เกษียณ

สิทธิประโยชน์จากประกันสังคมที่วัยเกษียณต้องรู้

โดย วินย์ ฉายศิริโชติ CFP®, CISA

อาจารย์ประจำหลักสูตรการวางแผนการเงินและการลงทุน มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

เผยแพร่วันที่ 3 ก.ย. 2567

 

ปัจจุบัน ประเทศไทยได้ก้าวสู่ “สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์” (Aged Society) อย่างเต็มตัวแล้ว ทำให้ “การวางแผนเพื่อวัยเกษียณ” เป็นที่กล่าวถึงกันอย่างแพร่หลาย และเมื่อพูดถึงแหล่งเงินเพื่อการเกษียณที่ใกล้ตัวคนไทยมากที่สุดแหล่งหนึ่งก็คือ “ประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพจากกองทุนประกันสังคม”

 

เงินชราภาพจากประกันสังคม คืออะไร

กองทุนประกันสังคม มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การสงเคราะห์แก่ผู้ประกันตนในกรณีต่าง ๆ 7 กรณี ที่เกี่ยวข้องกับการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ซึ่งรวมถึงกรณีชราภาพด้วย จึงกล่าวได้ว่า กองทุนประกันสังคมเป็นหลักประกันในความเป็นอยู่ร่วมกันของสมาชิก

สำหรับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ จะมีทั้ง “เงินบำเหน็จชราภาพ” ที่จ่ายให้ครั้งเดียว และ “เงินบำนาญชราภาพ” ที่จ่ายให้รายเดือนตลอดชีวิต

 

เงินบำเหน็จชราภาพ

ผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือน จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเมื่อมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ หรือหากความเป็นผู้ประกันตนยังไม่สิ้นสุดลงเมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ จะได้รับเมื่อความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง

หากผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบไม่ถึง 12 เดือน เงินบำเหน็จชราภาพที่ได้รับจะเท่ากับเงินสมทบเฉพาะส่วนของผู้ประกันตน (3% ของฐานค่าจ้างตั้งแต่ 1,650-15,000 บาท หรือสูงสุดเดือนละ 450 บาท) แต่หากผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12-179 เดือน เงินบำเหน็จชราภาพที่ได้รับจะเท่ากับเงินสมทบทั้งส่วนของผู้ประกันตนและส่วนของนายจ้าง (ฝ่ายละ 3% ของฐานค่าจ้างตั้งแต่ 1,650-15,000 บาท หรือสูงสุดเดือนละ 450 บาท) พร้อมผลประโยชน์ตอบแทนตามอัตราที่สำนักงานประกันสังคมจะประกาศเป็นปี ๆ ไป

ตัวอย่างที่ 1 นายสุขจริง สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนเมื่ออายุ 45 ปี ได้จ่ายเงินสมทบเป็นเวลา 10 เดือน มีฐานค่าจ้างสูงสุด 15,000 บาท ดังนั้น นายสุขจริงจะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเป็นจำนวน 450 × 10 = 4,500 บาท เมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์

ตัวอย่างที่ 2 นางสุดสวย สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนเมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ได้จ่ายเงินสมทบเป็นเวลา 150 เดือน มีฐานค่าจ้างสูงสุด 15,000 บาท ดังนั้น นางสุดสวยจะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเป็นจำนวน (450 + 450) × 150 = 135,000 บาท พร้อมผลประโยชน์ตอบแทน ประมาณปีละ 2-4%

 

เงินบำนาญชราภาพ

ผู้ประกันตนจะมีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพก็ต่อเมื่อได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือน ไม่ว่าจะติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม โดยจะได้รับตั้งแต่เดือนถัดจากเดือนที่อายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ หรือหากความเป็นผู้ประกันตนยังไม่สิ้นสุดลงเมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ จะได้รับตั้งแต่เดือนถัดจากเดือนที่ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง

หากผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือน เงินบำนาญชราภาพที่ได้รับจะเท่ากับ 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย (ฐานค่าจ้างตั้งแต่ 1,650-15,000 บาท) แต่หากผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือน อัตราเงินบำนาญชราภาพจะเพิ่มอีก 1.5% ต่อทุก 12 เดือนที่เกินมานั้น (เศษที่ไม่ครบ 12 เดือนจะปัดทิ้ง) ทั้งนี้ เงินบำนาญชราภาพจะต้องไม่ต่ำกว่าเดือนละ 720 บาท

ตัวอย่างที่ 3 นายไชโย ได้รับเงินเดือนเดือนละ 50,000 บาท สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนเมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ได้จ่ายเงินสมทบเป็นเวลา 180 เดือน แต่ฐานค่าจ้างสูงสุดจะอยู่ที่ 15,000 บาท ดังนั้น นายไชโยจะได้รับเงินบำนาญชราภาพเดือนละ 20% × 15,000 = 3,000 บาท ไปตลอดชีวิต

ตัวอย่างที่ 4 นางชื่นใจ สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนเมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ได้จ่ายเงินสมทบเป็นเวลา 270 เดือน มีฐานค่าจ้างสูงสุด 15,000 บาท แสดงว่าจ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือนมา 270 – 180 = 90 เดือน หรือครบ 12 เดือนเป็นจำนวน 7 ครั้ง จะปรับเพิ่มอัตราเงินบำนาญชราภาพอีก 7 × 1.5% = 10.5% เป็น 30.5% ดังนั้น นางชื่นใจจะได้รับเงินบำนาญชราภาพเดือนละ 30.5% × 15,000 = 4,575 บาท ไปตลอดชีวิต

 

ข้อควรระวังของเงินบำเหน็จชราภาพ VS เงินบำนาญชราภาพ

หากเปรียบเทียบระหว่างเงินบำเหน็จชราภาพกับเงินบำนาญชราภาพแล้ว อาจทำให้เราคิดว่าด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ ทำให้ผู้คนอายุยืนขึ้นกว่าเมื่อก่อน ดังนั้น เงินบำนาญชราภาพน่าจะคุ้มค่ากว่า แต่อย่าลืมว่าเพดานค่าจ้างในขณะนี้อยู่ที่ 15,000 บาท ซึ่งไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลยมาเป็นเวลามากกว่า 30 ปีแล้ว บวกกับภาวะเงินเฟ้อที่ทำให้อำนาจซื้อของเงินลดลง ทำให้เงินบำนาญชราภาพที่ได้รับในปีหลังๆ จะมีมูลค่าลดลงไปอย่างมากเมื่อเทียบกับปีแรกๆ

ในขณะที่เงินบำเหน็จชราภาพเป็นเงินก้อนที่ใหญ่กว่า แม้จะไม่มากนัก และได้รับเพียงครั้งเดียว จึงอาจทำให้เราตัดสินใจนำเงินนี้ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ คือ แทนที่จะเป็นเงินก้อนสำหรับใช้ในช่วงหลังเกษียณ กลับนำเงินนี้ไปปลดหนี้ หรือเริ่มต้นธุรกิจส่วนตัว ก็จะเป็นที่น่าเสียดายที่เงินออมสำหรับวัยเกษียณจะต้องลดลง

นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นเงินบำเหน็จชราภาพหรือเงินบำนาญชราภาพ ถ้าดูที่จำนวนเงินแล้วไม่น่าจะเพียงพอสำหรับการดำรงชีวิตหลังเกษียณ ดังนั้น ทุกคนควรจะวางแผนออมเงินเพื่อการเกษียณผ่านช่องทางอื่น ๆ เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ทั้งนี้ก็เพื่อให้สามารถ “เกษียณอย่างเกษม” ได้ในที่สุด...

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th