logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: บริหารจัดการเงิน

3 ทักษะการเงินเพื่อสร้างอนาคตที่มั่งคั่งให้ลูก

โดย ณัฐ เลิศมงคล นักวางแผนการเงิน CFP®

 

ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้นจนภาครัฐต้องออกมาตรการต่าง ๆ มาช่วยเหลือ เช่น ลดค่าผ่อนขั้นต่ำหนี้บัตรเครดิต ขยายเวลาชำระหนี้เพื่อลดค่าผ่อนต่องวด รวมถึงการเข้าไปช่วยเหลือเจรจาไกล่เกลี่ยสำหรับหนี้นอกระบบ ทำให้หลายคนเริ่มให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการเงินเพื่อป้องกันปัญหาหนี้สิน ส่วนผู้ไม่มีปัญหาหนี้สินก็เริ่มต่อยอดความรู้ทางการเงิน โดยเริ่มเก็บออมลงทุนเพื่อวัยเกษียณ และต้องการให้บรรจุความรู้ทางการเงินเข้าไปในหลักสูตรเพื่อให้เด็ก ๆ ได้ศึกษาเรื่องเงินตั้งแต่อายุยังน้อยจะได้มีทักษะทางการเงินที่ดีต่อไปในอนาคต ซึ่งการสร้างทักษะทางการเงินให้กับเด็ก ๆ ในแบบที่สามารถทำเองได้ที่บ้าน และนำไปประยุกต์สร้างอนาคตทางการเงิน มีดังนี้


สอนให้ลูกรู้คุณค่าของเงิน

การทำให้ลูกรู้คุณค่าของเงินเริ่มจากการชวนตั้งคำถาม และสังเกต เกี่ยวกับเงินในชีวิตประจำวัน เงินคืออะไร สำคัญกับตัวเองและการใช้ชีวิตขนาดไหน เพื่อให้เด็ก ๆ เห็นความเชื่อมโยงของเงินกับชีวิตประจำวัน

เงิน คือ สื่อกลางในการแลกเปลี่ยน สามารถนำเงินไปแลกสินค้าและบริการได้ การดำเนินชีวิตในปัจจุบันต้องใช้เงินสำหรับค่าอาหาร เครื่องดื่ม การเดินทาง สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ถ้าไม่มีเงิน คงจะกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันไม่มากก็น้อย เมื่อเด็ก ๆ ได้เห็นความเชื่อมโยงแล้วก็จะเริ่มเห็นความสำคัญของเงินมากขึ้น อยากรู้เรื่องเงินมากขึ้น ซึ่งในส่วนของวิธีการทำให้ลูกรู้คุณค่าเงิน สามารถสร้างการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้ เช่น

  • พาลูกชอปปิง ให้ลูกมีโอกาสเลือกซื้อของ โดยมีการจำกัดงบประมาณ เป็นการฝึกให้ลูกได้วางแผนค่าใช้จ่ายด้วยตัวเอง ในช่วงแรกลูกอาจตัดสินใจซื้อของที่อยากได้ตั้งแต่ชิ้นแรกที่พบ หลังจากจ่ายเงินไปแล้วอาจพบกับของที่อยากได้เพิ่มเติม แต่เงินไม่พอ เด็กจะได้บทเรียนว่า เงินมีอยู่อย่างจำกัด หากใช้เงินโดยไม่มีการวางแผนล่วงหน้า จะทำให้เสียโอกาสในการซื้อของที่จำเป็น หรืออยากได้มากกว่าในอนาคต
  • ทำงานบ้านแลกค่าขนมพิเศษ ลองหางานบ้านที่เด็ก ๆ พอจะช่วยทำได้เพื่อแลกกับเงินพิเศษเล็ก ๆ น้อย ๆ วิธีการนี้สามารถทำให้ลูกเข้าใจได้ว่า กว่าจะได้เงินมาต้องใช้แรงกายแรงใจในการหามา
  • มีส่วนร่วมจ่ายค่าของเล่น เมื่อลูกอยากได้ของเล่นชิ้นพิเศษ ลองให้ลูกมีส่วนร่วมในการจ่ายเงินบางส่วน จะทำให้ลูกเกิดความภูมิใจและเล่นอย่างระมัดระวังมากขึ้น

นอกจากกิจกรรมสำหรับลูกที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นแล้ว พ่อกับแม่ ควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูกในเรื่องการรู้คุณค่าของเงิน คิดก่อนจ่ายว่าเป็นสิ่งจำเป็น หรือแค่อยากได้ เมื่อได้ของมาแล้วก็ควรใช้อย่างระมัดระวัง ดูแลซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพที่ดีเสมอ อย่าลืมว่า เด็ก ๆ มักเลียนแบบพฤติกรรมของพ่อกับแม่โดยไม่รู้ตัว

 

สอนให้ลูกรู้จักออม

ทุกคนเคยถูกสอนให้ออมเงินมาตั้งแต่ยังเด็ก โดยพ่อแม่พาไปเปิดบัญชีเพื่อฝากเงินกับธนาคารแล้วจะได้กระปุกออมสินเพื่อนำเงินค่าขนมส่วนที่เหลือไปหยอดกระปุกทุกวัน เมื่อเงินเต็มกระปุกก็จะนำเงินที่เก็บได้ไปฝาก จะเห็นได้ว่าการออมในวัยเด็กที่ผ่านมา เป็นการออมโดยไม่มีเป้าหมายชัดเจน ไม่มีการวางแผนล่วงหน้า บางครั้งในระหว่างการออมกลับรู้สึกไม่ดี เนื่องจากไม่ได้ใช้เงินอย่างที่ต้องการ ทั้งหมดนี้ทำให้ไม่สามารถสร้างนิสัยการออมขึ้นมาได้

กระบวนการสร้างวินัยการออมสำหรับเด็กเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เริ่มจากการสร้างนิสัยในการออมเป็นประจำ กระปุกออมสินสามารถยังใช้ได้อยู่ อย่าลืมสร้างความสนุกสานระหว่างการออมด้วย เช่น

  • ตั้งเป้าหมายการออม เมื่อลูกอยากได้ของเล่นชิ้นพิเศษ แล้วต้องมีส่วนร่วมในการจ่ายเงินบางส่วน สามารถนำจำนวนเงินที่ลูกต้องจ่ายมาตั้งเป็นเป้าหมายได้ หรือเมื่อจะไปเที่ยวลองให้เด็ก ๆ เก็บเงินสำหรับไปใช้ซื้อของที่อยากได้ เมื่อมีการตั้งเป้าหมาย การออมเงินที่น่าเบื่อจะกลายเป็นภารกิจที่น่าสนุกแทน
  • ฝึกทำบัญชีรายรับรายจ่าย สอนให้เด็ก ๆ จดบันทึกรายรับและค่าใช้จ่าย เพื่อให้เห็นภาพรวมของการใช้จ่ายของตัวเอง นอกจากนี้ บัญชีรายรับรายจ่าย ยังนำไปประยุกต์ใช้กับการกำหนดค่าขนมที่เหมาะสมได้ด้วย พ่อแม่จะได้เห็นว่าค่าใช้จ่ายจำเป็นของลูกเป็นอย่างไรบ้าง ค่าขนมในปัจจุบันเหมาะสมหรือไม่อาจต้องปรับเพิ่มขึ้นตามสถานการณ์ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังสามารถใช้บัญชีรายรับรายจ่ายเป็นสื่อกลางในการพูดคุยเรื่องการเงินกับลูกได้อีกด้วย
  • แบ่งเงินเป็นส่วน ๆ เด็ก ๆ บางคนอาจจะยังไม่สามารถควบคุมการใช้จ่ายของตัวเองได้ ลองชวนลูกแบ่งเงินเป็นส่วน ๆ เพื่อให้สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้ง่ายขึ้น เงินสำหรับออม ค่าขนม ค่าเดินทาง เมื่อแบ่งเงินเรียบร้อยแล้วสิ่งที่ต้องทำต่อไป คือ พยายามบริหารจัดค่าใช้จ่ายภายใต้งบประมาณนั้น เรื่องนี้ พ่อกับแม่ต้องเข้ามามีส่วนร่วมอย่างมาก

นอกจากนี้พ่อแม่ควรเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกในการออมเงิน โดยการตั้งเป้าหมายการออมทั้งของตนเองและครอบครัว มีการจดบันทึกรายรับรายจ่ายครอบครัว และใช้โอกาสนี้พูดคุยเรื่องสถานการณ์ทางการเงินของที่บ้านให้ลูกได้รับรู้ไปพร้อม ๆ กัน

 

สอนให้ลูกรู้จักหาเงิน

ในอดีตคนส่วนใหญ่มีรายได้จากการประกอบอาชีพเพียงอย่างเดียวตามสาขาวิชาที่เรียนมา เช่น เป็นข้าราชการ เป็นพนักงานบริษัท แต่ในปัจจุบันที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น ทำให้โอกาสในการหารายได้เปิดกว้างมากขึ้น เด็ก ๆ จึงมีโอกาสได้เรียนรู้ฝึกฝนทักษะใหม่ ๆ รวมถึงมีช่องทางในการหารายได้ตั้งแต่อายุยังน้อย ไม่จำเป็นต้องรอจนโต เรียนจบแล้วไปทำงานประจำอีกต่อไป สิ่งที่พ่อแม่ในยุคปัจจุบันต้องทำเพื่อจะแนะนำวิธีการหาเงิน คือ ต้องเปิดใจรับและศึกษาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้ทัน สำหรับคนที่ไม่ถนัดเรื่องการใช้เทคโนโลยี ก็สามารถหาเงินได้จากกิจกรรมเหล่านี้

  • ช่วยทำงานบ้านแลกเงิน ลองกำหนดค่าตอบแทนให้กับการช่วยงานบ้านที่เด็ก ๆ พอจะทำได้ นอกจากจะเป็นการหารายได้แล้ว ยังช่วยให้เด็ก ๆ รู้จักหน้าที่รับผิดชอบมากขึ้น
  • ชวนลูกขายของ กิจกรรมตลาดนัดสำหรับเด็กเริ่มมีมากขึ้นในปัจจุบัน โดยสามารถนำของเล่นเก่าไปขายต่อ หรือถ้าสะดวกจะทำขนมกับลูก ก็สามารถทำขนมไปขายได้ เป็นกิจกรรมที่จะสอนทั้งเรื่องการหาเงิน ค้าขาย และการคำนวณต้นทุนไปในเวลาเดียวกัน
  • ใช้ทักษะที่ถนัดเพื่อหาเงิน คุณพ่อคุณแม่ลองสังเกตว่าลูกชอบทำอะไร เช่น บางคนชอบวาดรูป อาจลองเข้าประกวดแข่งขันวาดรูป หรือจะแสดงผลงานทางอินเทอร์เน็ตก็อาจะเป็นช่องทางหาเงินได้ หรือ ถ้าลูกถนัดวิชาไหนเป็นพิเศษ ลองรับสอนพิเศษเพื่อหารายได้เพิ่มเติมได้

สิ่งที่ควรสอนเพิ่มเติมในเรื่องการหาเงิน คือ ในระหว่างการสอนเรื่องหาเงิน ควรสอดแทรกเรื่องการแบ่งปัน และเสียสละด้วย เพื่อไม่ให้เด็ก ๆ มุ่งมั่นหาเงินจนไม่ยอมช่วยงานบ้าน หรือไม่ช่วยเหลือคนอื่น เนื่องจากวัตถุประสงค์หลักของการสอนให้รู้จักหาเงิน คือ ต้องการให้เด็ก ๆ รู้จักช่องทางการทำงานผ่านกิจกรรมที่ชอบในอนาคตได้เอง

คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถใช้ช่องทางเหล่านี้เพื่อหาเงินพิเศษได้เช่นกัน ลองค้นหาความชอบของตัวเองให้พบ เปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อาจทำให้พบกับช่องทางหาเงินเพิ่มเติมให้กับครอบครัวได้เหมือนกัน

 

ข้อควรระวังในการสอนทักษะการเงิน  

  1. อย่าบังคับ การบังคับจะทำให้ลูกอึดอัด ไม่อยากทำ และอาจทำให้ลูกไม่ชอบทักษะการเงินที่จำเป็น
  2. ชื่นชมเมื่อสามารถทำได้ตามเป้าหมาย และให้กำลังใจหากลูกทำพลาด เพราะความเสียหายจากความผิดพลาดทางการเงินในวัยเด็กสามารถแก้ไขได้
  3. อย่าเปรียบเทียบลูกกับเด็กคนอื่น เด็กบางคนสามารถเรียนรู้และประยุกต์ใช้ได้เร็วกว่า ค่อย ๆ ให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้เรื่องเงินตามความเร็วของแต่ละคน

 

การสอนทักษะการเงินให้เด็ก ไม่ใช่เรื่องยาก ไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นด้วยตัวเลขและสมการที่ซับซ้อน สามารถเริ่มต้นจากกิจกรรมในชีวิตประจำวันง่าย ๆ ที่เด็ก ๆ สัมผัสได้ กิจกรรมเหล่านี้จะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องการเงินอย่างเป็นธรรมชาติ เข้าใจคุณค่าของเงินได้ดียิ่งขึ้น และที่สำคัญ คือ คุณพ่อ คุณแม่ อย่าลืมเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูกได้เรียนรู้ประสบการณ์ตรง หวังว่าผู้อ่านทุกท่าน จะนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของแต่ละครอบครัวต่อไป เพื่อให้เด็ก ๆ มีทักษะทางการเงินพร้อมสำหรับเผชิญหน้ากับโลกแห่งความจริงในอนาคตต่อไป

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th