บทความ: บริหารจัดการเงิน
ปั้นกระปุกออมสินให้เป็นทุนการศึกษา: เทคนิคสำหรับพ่อแม่ยุคใหม่
ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้การศึกษามีบทบาทสำคัญต่อความสำเร็จในชีวิต การเตรียมความพร้อมทางการเงินเพื่อการเรียนของลูก จึงเป็นภารกิจสำคัญของพ่อแม่ยุคใหม่ แต่ด้วยค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี หลายครอบครัวอาจรู้สึกกังวลและไม่แน่ใจว่าจะเริ่มต้นอย่างไร อย่างไรก็ตาม หากมีเทคนิคการวางแผนการเงินที่เหมาะสมในการสร้างกองทุนการศึกษาให้ลูกอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเพิ่งเริ่มต้นหรือกำลังมองหาวิธีปรับแผนการออมที่มีอยู่ จะช่วยให้เข้าใจถึงความสำคัญของการเริ่มต้นเร็ว การตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน และกลยุทธ์การออมและการลงทุนที่เหมาะสม เพื่อให้มั่นใจว่าความฝันทางการศึกษาของลูกจะเป็นจริงได้โดยไม่เป็นภาระทางการเงินที่หนักเกินไป
ยิ่งเริ่มต้นเร็ว ยิ่งได้เปรียบกว่า
การเริ่มออมเงินเพื่อการศึกษาของลูกตั้งแต่เนิ่น ๆ เป็นกลยุทธ์ที่ดี เพราะด้วยพลังของดอกเบี้ยทบต้น ยิ่งเริ่มเร็วเท่าไร เงินก็จะงอกเงยได้มากเท่านั้น เช่น เริ่มออมเดือนละ 1,000 บาทตั้งแต่ลูกเกิด นำไปลงทุนในกองทุนรวมที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 7% ต่อปี เมื่อลูกอายุ 18 ปีและพร้อมเข้ามหาวิทยาลัย จะมีเงินเก็บ 430,721 บาท แต่หากรอจนลูกอายุ 10 ขวบแล้วค่อยเริ่มออม ด้วยจำนวนเงินเท่ากัน จะมีเงินเก็บ 128,198 บาท เวลาต่างกันแค่ 10 ปี เงินที่ได้ต่างกันถึง 3 เท่า
นอกจากนี้ การเริ่มออมแต่เนิ่น ๆ ยังช่วยลดภาระทางการเงินในอนาคต เพราะสามารถแบ่งเงินออมเป็นจำนวนน้อย ๆ ได้ แทนที่จะต้องหาเงินก้อนใหญ่มาจ่ายค่าเทอมทีเดียว เช่น เริ่มออมเงินเพื่อการศึกษาของลูกทันทีที่คลอด เดือนละ 500 บาท ผลตอบแทนเฉลี่ย 5% ต่อปี เมื่อลูกอายุได้ 5 ขวบ ก็มีเงินออม 34,000 บาท ทำให้มีกำลังใจที่จะออมต่อไปเรื่อย ๆ
อัตโนมัติไว้ก่อน ปลอดภัยไว้ก่อน
ในยุคดิจิทัลที่เต็มไปด้วยสิ่งเร้าทางการเงิน การตั้งระบบออมอัตโนมัติจึงเป็นเสมือนเกราะป้องกันที่ช่วยให้บรรลุเป้าหมายการออมได้อย่างมั่นคง วิธีนี้ช่วยขจัดอุปสรรคสำคัญ คือ การลืมออมและการเผลอใช้เงินเกินตัว วิธีการ คือ ตั้งคำสั่งโอนเงินอัตโนมัติจากบัญชีหลักไปยังบัญชีออมเงินหรือบัญชีลงทุน ทันทีที่เงินเดือนเข้า ซึ่งระบบจะหักเงินตามจำนวนที่กำหนดไว้โดยอัตโนมัติ นอกจากนี้ ยังมีแอปพลิเคชันทางการเงินที่ช่วยให้การออมอัตโนมัติทำได้ง่ายขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม การใช้ระบบออมอัตโนมัติไม่ได้หมายความว่าจะไม่ต้องสนใจการเงินของตัวเองอีกต่อไป แต่ควรตรวจสอบบัญชีเป็นประจำเพื่อให้แน่ใจว่าทุกอย่างดำเนินไปตามแผน และปรับเปลี่ยนจำนวนเงินออมตามความเหมาะสม
การตั้งระบบออมอัตโนมัติเป็นเหมือนการ “จ่ายตัวเองก่อน” ซึ่งเป็นหลักการสำคัญในการสร้างความมั่งคั่ง เมื่อทำให้การออมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ก็จะสามารถสร้างนิสัยการออมที่ดีและมีวินัยทางการเงินที่แข็งแกร่งในระยะยาว
ลงทุน ให้เงินช่วยทำงาน
การฝากเงินในบัญชีออมทรัพย์เพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอที่จะเอาชนะเงินเฟ้อในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพูดถึงการเก็บเงินเพื่อการศึกษาของลูกซึ่งมักใช้เวลานานหลายปี ดังนั้น การลงทุนจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องการเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้น
- พันธบัตรรัฐบาล เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำมาก เนื่องจากรัฐบาลเป็นผู้ค้ำประกัน แม้ผลตอบแทนอาจไม่สูงนัก แต่ก็มั่นคงและแน่นอน
- กองทุนรวมตราสารหนี้ เป็นกองทุนที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้เอกชน มีความเสี่ยงระดับต่ำ แต่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินฝากธนาคารทั่วไป
- กองทุนรวมแบบผสม เป็นกองทุนที่ลงทุนทั้งในตราสารหนี้และหุ้น ช่วยกระจายความเสี่ยงและสร้างโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงขึ้น
- กองทุนรวม SSF และ RMF นอกจากจะช่วยสร้างวินัยการออมแล้ว ยังมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีด้วย
อย่างไรก็ตาม การลงทุนย่อมมาพร้อมกับความเสี่ยง ควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนตัดสินใจ และอย่าลืมกฎของการลงทุนที่ว่า “อย่าเอาไข่ทุกใบใส่ในตะกร้าใบเดียว” ควรกระจายการลงทุนเพื่อช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว
นอกจากนี้ ควรพิจารณาปรับเปลี่ยนสัดส่วนการลงทุนตามอายุของลูกด้วย เช่น เมื่อลูกยังเล็ก อาจเน้นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงได้เพื่อโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่มากขึ้น แต่เมื่อลูกใกล้เข้ามหาวิทยาลัย ควรทบทวนไปสู่การลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำลงเพื่อรักษาเงินต้นไว้
ใช้ประโยชน์จากสวัสดิการรัฐ
ในการวางแผนการเงินเพื่อการศึกษาของลูก การใช้ประโยชน์จากสวัสดิการและโครงการสนับสนุนของรัฐบาล เป็นกลยุทธ์สำคัญที่ไม่ควรมองข้าม คือ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่งเป็นทางเลือกที่ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา
กยศ. ให้โอกาสนักเรียนนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ได้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา โดยมีเงื่อนไขการชำระคืนที่ผ่อนปรนและอัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยคิดดอกเบี้ยในอัตรา 1% ต่อปี ตั้งแต่เริ่มกู้จนชำระเสร็จสิ้นและไม่มีการคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ย ขณะเดียวกันในปีการศึกษา 2567 กยศ. ได้ขยายวงเงินกู้ยืมสูงสุดถึง 200,000 บาทต่อปีการศึกษาสำหรับบางสาขาวิชา ซึ่งครอบคลุมทั้งค่าเล่าเรียนและค่าครองชีพ นอกจากนี้ ยังมีสวัสดิการและโครงการอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
- กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนยากจนพิเศษ
- ทุนการศึกษาจากหน่วยงานรัฐและเอกชน มีทั้งทุนให้เปล่าและทุนต่อเนื่อง
- โครงการเรียนฟรี 15 ปี ครอบคลุมค่าใช้จ่ายพื้นฐานในการศึกษาภาคบังคับ
การใช้ประโยชน์จากสวัสดิการของภาครัฐ ต้องอาศัยการวางแผนล่วงหน้าและการเตรียมตัวที่ดี คุณพ่อคุณแม่ควรศึกษาเงื่อนไขและข้อกำหนดต่าง ๆ อย่างละเอียด และเตรียมเอกสารให้พร้อมก่อนถึงกำหนดการสมัคร
อย่าลืมใช้ประกันชีวิตเป็นตัวช่วยลดความไม่แน่นอน
การวางแผนการเงินเพื่อการศึกษาของลูกจะไม่สมบูรณ์หากขาดการวางแผนรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน การทำประกันชีวิตจึงเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้มั่นใจว่าลูกจะมีเงินเรียนต่อได้ แม้เกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์กับผู้ปกครอง
ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับการวางแผนการศึกษาของลูก เนื่องจากนอกจากจะให้ความคุ้มครองชีวิตแล้ว ยังมีส่วนของการออมทรัพย์ด้วย โดยเมื่อครบกำหนดสัญญาก็จะได้รับเงินก้อนซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นค่าเล่าเรียนของลูกได้ หรือประกันชีวิตแบบยูนิต ลิงค์ ที่ผสมผสานระหว่างการประกันชีวิตและการลงทุน ซึ่งอาจให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าแบบสะสมทรัพย์ แต่ก็มาพร้อมกับความเสี่ยงที่สูงขึ้นเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม การเลือกประกันชีวิตควรพิจารณาให้รอบด้าน ทั้งในแง่ของความคุ้มครอง ผลตอบแทน และความสามารถในการจ่ายเบี้ยประกัน ควรเปรียบเทียบข้อเสนอจากบริษัทประกันหลาย ๆ แห่ง และอ่านเงื่อนไขกรมธรรม์อย่างละเอียดก่อนตัดสินใจ
ทบทวนแผนเป็นระยะ
การวางแผนการเงินเพื่อการศึกษาของลูกไม่ใช่เรื่องที่ทำครั้งเดียวแล้วจบ แต่เป็นกระบวนการต่อเนื่องที่ต้องได้รับการทบทวนและปรับปรุงอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากชีวิตเต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงที่ไม่อาจคาดเดาได้ ทั้งในด้านส่วนตัว เศรษฐกิจ และสังคม ดังนั้น การทบทวนแผนการเงินเป็นประจำทุกปี เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลง โดยควรพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้
- สถานการณ์ทางการเงินของครอบครัว รายได้เพิ่มขึ้นหรือลดลง มีหนี้สินเพิ่มเติมหรือไม่
- เป้าหมายการศึกษาของลูก มีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เช่น ต้องการเรียนต่อต่างประเทศแทนในประเทศ
- ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา มีการปรับขึ้นของค่าเล่าเรียนหรือไม่
- ผลตอบแทนจากการลงทุน เป็นไปตามที่คาดหวังหรือไม่ ต้องปรับกลยุทธ์การลงทุนหรือไม่
- นโยบายภาครัฐ มีการเปลี่ยนแปลงด้านสวัสดิการหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องหรือไม่
นอกจากนี้ การทบทวนแผนยังเป็นโอกาสดีในการสอนลูกเรื่องการวางแผนการเงิน อาจชวนลูกมาร่วมพูดคุยด้วย โดยเฉพาะเมื่อพวกเขาเริ่มโต การให้ลูกมีส่วนร่วมในการทบทวนแผนการเงิน ไม่เพียงแต่จะช่วยให้เข้าใจความสำคัญของการวางแผนการเงิน แต่ยังเป็นการเปิดโอกาสได้แสดงความคิดเห็นและความต้องการของตัวเองด้วย ซึ่งจะช่วยให้แผนการเงินสอดคล้องกับความฝันและเป้าหมายของลูกด้วย