logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ประกันภัย

เตรียมพร้อมรับมือชีวิตที่ไม่แน่นอน ด้วยประกันอุบัติเหตุ

เผยแพร่วันที่ 30/07/2024

“อุบัติเหตุ” เหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากเจอ แต่บางครั้งก็มาเยี่ยมเยียนโดยไม่ทันตั้งตัว ไม่ว่าจะเป็นหกล้มธรรมดาหรือเรื่องใหญ่อย่างรถชน พูดง่าย ๆ ชีวิตผู้คนก็พลิกผันได้ในพริบตา จะดีกว่าไหม ถ้ามี “กันชน” ไว้รับมือด้วยการทำประกันภัยอุบัติเหตุ เป็นตัวช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายเมื่อเกิดอุบัติเหตุ

ประกันภัยอุบัติเหตุ คือ เกราะคุ้มครองทางการเงินเมื่อเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ที่พร้อมดูแลผู้ทำประกันภัยตลอด 24 ชั่วโมง

เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการบาดเจ็บเล็กน้อยหรือเหตุรุนแรง ประกันภัยนี้จะเข้ามามีบทบาทสำคัญ โดยให้ความคุ้มครองต่อผู้ทำประกันภัยในกรณีที่ผทำประกันภัย ประสบอุบัติเหตุได้รับความบาดเจ็บทางร่างกาย และหากผลของการบาดเจ็บนั้นส่งผลให้ผู้ทำประกันภัยต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลหรือรุนแรงถึงขั้นทุพพลภาพ สูญเสียอวัยวะ หรือเสียชีวิต บริษัทประกันภัยจะเข้ามารับภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาลของผู้ทำประกันภัย หรือจ่ายค่าทดแทนให้แก่ผู้ทำประกันภัยหากผู้ทำประกันภัยต้องสูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต ดังนั้น วัตถุประสงค์หลักของประกันภัยอุบัติเหตุ คือ การบรรเทาภาระทางการเงินที่อาจเกิดขึ้นจากเหตุไม่คาดคิด ทำให้ผู้ทำประกันภัยสามารถมุ่งเน้นการฟื้นฟูสุขภาพโดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย ซึ่งถือเป็นหลักประกันที่สำคัญสำหรับตัวเองและครอบครัว

อาจสงสัยว่าประกันอุบัติเหตุที่จ่ายเงินซื้อไว้นั้น จริง ๆ แล้วคุ้มครองอะไรบ้าง คำตอบคือ เมื่อผู้ทำประกันบาดเจ็บ สูญเสียอวัยวะ พิการ ไปจนกระทั่งเสียชีวิต โดยคุ้มครองตลอดระยะเวลา 24 ชั่วโมงทุกแห่งทั่วโลก ไม่ว่าจะซื้อออนไลน์หรือผ่านตัวแทน ความคุ้มครองจะเริ่มทันทีที่กรมธรรม์มีผล โดยความคุ้มครองภายใต้การประกันภัยจะแบ่งเป็น 2 แบบ

  • แบบ อบ. 1 คุ้มครอง การเสียชีวิต การสูญเสียมือ เท้า และสายตา หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง
  • แบบ อบ. 2 คุ้มครอง การเสียชีวิต การสูญเสียมือ เท้า และสายตา นิ้ว หูหนวกและเป็นใบ้ หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง ทุพพลภาพถาวรบางส่วน

ส่วนแบบความคุ้มครองเลือกซื้อเพิ่มเติมนั้น สามารถเลือกได้อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างรวมกันก็ได้ เช่น จ่ายค่ารักษาพยาบาล ชดเชยรายได้ระหว่างพักฟื้น ดูแลค่าทำศพ คุ้มครองอุบัติเหตุจากรถมอเตอร์ไซค์ ช่วยเหลือกรณีถูกทำร้ายหรือฆาตกรรม ดูแลเมื่อเกิดอุบัติเหตุจากการจลาจล หรือจ่ายค่ารักษาฟันที่เสียหายจากอุบัติเหตุ  

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าประกันอุบัติเหตุมีประโยชน์มากมาย แต่ก่อนตัดสินใจซื้อประกันก็ต้องพิจารณาถึงความเหมาะสม เพราะรูปแบบของกรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุมี 3 รูปแบบหลัก ๆ

ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA: Personal Accident Insurance)

ให้ความคุ้มครองความเสียหายที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุต่าง ๆ แก่ผู้ทำประกันภัย หรือบางกรมธรรม์อาจระบุความคุ้มครองครอบคลุมไปถึงบุคคลในครอบครัวได้ด้วย เป็นเหมือนซูเปอร์ฮีโร่ส่วนตัวที่คอยปกป้องตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุแบบไหน ตั้งแต่รถชน ตกบันได ไปจนถึงโดนแมวข่วน ประกัน PA ก็พร้อมเข้ามาช่วยเหลือ ถ้าเกิดบาดเจ็บ พิการ หรือแย่ที่สุด คือ เสียชีวิต ประกันจะจ่ายเงินชดเชยให้ผู้ทำประกันหรือครอบครัว ช่วยให้ไม่ต้องกังวลเรื่องค่ารักษาหรือค่าใช้จ่ายที่จะตามมา โดยประกัน PA มี 2 แบบ

  • แบบความคุ้มครองทั่วไป เหมาะสำหรับคนทำงานออฟฟิศ ข้าราชการ หรือใครที่ชีวิตประจำวันไม่ค่อยเสี่ยงอันตราย เบี้ยประกันก็ไม่แพง แต่ให้ความคุ้มครองครอบคลุมเกือบทุกอย่าง ตั้งแต่อุบัติเหตุใหญ่อย่างรถชน      ไปจนถึงเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ไม่ได้นอนรักษาที่โรงพยาบาล เช่น มีดบาด
  • แบบความคุ้มครองขั้นสูง สำหรับคนที่งานเสี่ยงสูงกว่าแบบคุ้มครองทั่วไป เช่น วิศวกร นักกีฬาผาดโผน เบี้ยประกันจะแพงขึ้น แต่ให้ความคุ้มครองสูงกว่า โดยเฉพาะถ้าเกิดอุบัติเหตุร้ายแรง

 

ประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่ม

หากเปรียบเทียบประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่มเป็นเหมือนร่มใบใหญ่ที่คลุมคนทั้งกลุ่มเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานบริษัท ข้าราชการ หรือสมาชิกสมาคมต่าง ๆ ทุกคนในกลุ่มจะได้รับความคุ้มครองภายใต้ร่มเดียวกัน แต่ที่พิเศษคือ แต่ละองค์กรสามารถเลือกความคุ้มครอง และเงื่อนไขที่เหมาะกับกลุ่มของตัวเองได้

ข้อดี

  1. ประหยัด เพราะซื้อยกกลุ่ม ราคาจึงถูกกว่าซื้อแยกทีละคน
  2. ไม่ต้องตรวจสุขภาพ ส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องตรวจสุขภาพก่อนทำประกัน
  3. ครอบคลุมทุกคน แม้แต่คนที่อาจมีปัญหาสุขภาพบางอย่างก็ได้รับความคุ้มครองเท่าเทียมกัน
  4. สร้างขวัญกำลังใจ พนักงานรู้สึกว่าองค์กรใส่ใจดูแล ทำงานได้อุ่นใจขึ้น

 

ประกันภัยอุบัติเหตุสำหรับนักเรียน นิสิต และนักศึกษา

เป็นประกันที่ออกแบบมาเพื่อวัยเรียนโดยเฉพาะ เนื่องจากเด็ก ๆ ชอบวิ่งเล่น กระโดดโลดเต้น บางครั้งอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ๆ ประกันแบบนี้เลยเข้ามาช่วยอุ่นใจทั้งเด็กและผู้ปกครอง เปรียบเสมือนมีซูเปอร์ฮีโร่คอยปกป้องลูก ๆ ตลอด 24 ชั่วโมง ครอบคลุมทั้งในและนอกสถานศึกษา รวมถึงกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเรียน โดยประกันจะคุ้มครองกรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะหรือสายตา ทุพพลภาพถาวร

ข้อดี

  1. ราคาไม่แพง เทียบกับความคุ้มครองที่ได้ ถือว่าคุ้มมาก
  2. ครอบคลุมทั้งในและนอกโรงเรียน ไม่ว่าลูก ๆ จะอยู่ที่ไหน ก็ได้รับการดูแล
  3. ขั้นตอนเคลมง่าย ไม่ต้องกังวลเรื่องเอกสารยุ่งยาก
  4. สบายใจทั้งครอบครัว พ่อแม่ไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายหากเกิดเหตุไม่คาดฝัน

 

เรื่องควรรู้ก่อนทำประกัน

เริ่มต้นด้วยการดูเงินในกระเป๋าก่อน ด้วยการนำรายได้ลบรายจ่ายว่าเหลือเงินเท่าไร จากนั้นลองเติมค่าเบี้ยประกันเข้าไปแล้วดูว่าเงินเหลือหรือไม่ หากเหลือก็ถือว่าผ่านด่านแรก จากนั้นเลือกความคุ้มครองที่เหมาะสมกับปัจจัยของผู้ทำประกัน เช่น ทำงานอะไร ชอบเล่นกิจกรรมเสี่ยง ๆ แค่ไหน ไปจนถึงเงื่อนไขการจ่ายเงินทดแทนของบริษัทประกันภัย โดยเฉพาะ การที่ต้องสำรองจ่ายไปก่อนในกรณีที่มีอุบัติเหตุ ซึ่งเป็นเรื่องที่มีผลกับสภาพคล่องทางการเงินด้วย

ตัวอย่าง สมมติมีอาชีพเป็นฟรีแลนซ์ ทำงานวันต่อวัน ถ้าหยุดงานวันเดียวก็เสียรายได้ ควรเลือกประกันที่มีเงินชดเชยรายวันถ้าต้องนอนโรงพยาบาล ไม่ต้องสำรองจ่าย และคุ้มครองการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทั่วไป

 

ก่อนจะเซ็นชื่อซื้อประกัน อย่าลืมอ่านรายละเอียดให้ถี่ถ้วน เลือกแผนที่ใช่ ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคุณมากที่สุด เพราะไม่ว่าพรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้น การมีประกันอุบัติเหตุทำให้คุณอุ่นใจลดความกังวลใจได้ ได้เตรียมรับมือเป็นอย่างดีแล้ว

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th