logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: บริหารจัดการเงิน

เทคนิคเลือกบัตรเครดิตให้ตรงใจและคุ้มค่า

ธีรพัฒน์ มีอำพล นักวางแผนการเงิน CFP®

เผยแพร่วันที่ 18/7/2567

 

“บัตรเครดิต” ถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือทางการเงินที่ช่วยอำนวยความสะดวกด้านการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน นอกจากจะใช้ชำระค่าสินค้าหรือบริการได้แทนเงินสดแล้ว ยังให้สิทธิประโยชน์และเพิ่มความคุ้มค่าในการใช้จ่ายให้กับผู้ถือบัตร หรือบัตรบางใบยังมอบสิทธิประโยชน์พิเศษอื่น ๆ เช่น บริการเลขาส่วนตัว บริการช่วยเหลือฉุกเฉิน ที่จอดรถ การใช้บริการรถรับส่งสนามบิน สิทธิในการเข้าใช้ห้องพักรับรองที่สนามบิน  ความคุ้มครองด้านการเดินทางเมื่อไปต่างประเทศ เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ก่อนทำบัตรเครดิตควรให้ความสำคัญกับการเลือก "บัตรเครดิต"  เพราะหากรู้จักใช้และเข้าใจบัตร จะทำให้ได้รับสิทธิประโยชน์ที่ตรงจุด ช่วยให้การหยิบใช้บัตรเครดิตในแต่ละครั้งมีความคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น  

 

1.บัตรเครดิตกลุ่มได้เครดิตเงินคืน 

บัตรเครดิตเงินคืน (Cashback)  จะให้เงินคืนกับผู้ถือบัตรทุกครั้งเมื่อมีการใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการที่ตรงกับเงื่อนไขของบัตรเครดิต โดยจะคืนเงินเข้ามาในบัญชีเครดิต ซึ่งจำนวนเงินคืนก็จะแตกต่างไปตามเงื่อนไขของบัตรแต่ละใบ จะมีทั้งแบบที่ได้เครดิตเงินคืนทุกยอดการใช้จ่าย หรือได้เครดิตเงินคืน เมื่อรูดใช้จ่ายในหมวดค่าใช้จ่ายที่กำหนด ทำให้สามารถประหยัดเงินได้บางส่วนจากการใช้จ่ายตามปกติ 

บัตรเครดิตเงินคืนแต่ละใบจะมีร้านค้าที่เข้าร่วมรายการแตกต่างกันไป เหมาะสำหรับผู้ที่ใช้จ่ายในหมวดรายการนั้น ๆ เป็นประจำ เช่น รับเงินคืน 5% เมื่อซื้อสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตและไฮเปอร์มาร์เก็ต รับเงินคืน 3% เมื่อใช้จ่ายที่สถานีบริการน้ำมัน เป็นต้น บัตรเครดิตเงินคืนถือเป็นบัตรเครดิตที่ไม่ซับซ้อน และเข้าใจได้ง่ายที่สุด เพราะใช้จ่ายแล้วได้เงินคืนทันที

ซึ่งผู้ที่สนใจบัตรเครดิตในกลุ่มนี้ แนะนำให้ลองสังเกตว่ามีการใช้จ่ายในกลุ่มไหนมากเป็นพิเศษ แล้วเลือกบัตรเครดิตที่ตรงกับไลฟ์สไตล์ของตัวเองมากที่สุด เพราะแต่ละบัตรเครดิตแต่ละใบ มีเปอร์เซ็นต์เงินคืนในแต่ละหมวดไม่เท่ากัน การเลือกบัตรที่ตรงกับไลฟ์สไตล์จะทำให้ได้เครดิตเงินคืนที่คุ้มค่าที่สุด

 

2.บัตรเครดิตกลุ่มสะสมคะแนน

บัตรเครดิตสะสมคะแนน (Rewards Credit Card) เป็นบัตรที่เน้นการสะสมคะแนนจากยอดการใช้จ่าย แล้วจึงนำคะแนนที่ได้ไปแลกเป็นของรางวัลพิเศษ ส่วนลดของสินค้าและบริการต่าง ๆ หรือจะแลกเป็นเครดิตเงินคืนก็ได้เช่นกัน ซึ่งเงื่อนไขในการสะสมคะแนนขึ้นอยู่กับบัตรเครดิตใบนั้น ๆ บางบัตรอยู่ที่ 25 บาท ต่อ 1 คะแนน หรือบางบัตรอาจจะ 20 บาท ต่อ 1 คะแนน การคิดคำนวณความคุ้มค่า หรือผลตอบแทน หากได้รับ 1 คะแนน จากการใช้จ่ายผ่านบัตร 25 บาท และนำคะแนนไปแลกเป็นส่วนลด โดยปกติอัตราการแลกคะแนนโดยทั่วไปจะอยู่ที่ 1,000 คะแนน เท่ากับ 100 บาท  หรือหากคิดเป็นจำนวนเงิน คือ 100 บาท ต่อทุกการใช้จ่าย 25,000 บาท ดังนั้นจะคิดเป็นผลตอบแทน 0.4%

หากคิดเป็นผลตอบแทนออกมาแล้วจะเห็นว่าไม่คุ้มค่าเท่ากับบัตรเครดิตประเภทเงินคืน  แต่บัตรกลุ่มนี้มักมีจุดเด่นเพิ่มเติม เช่น หากเราใช้จ่ายด้วยบัตรเครดิตในบางรายการตามเงื่อนไขที่บัตรกำหนด จะทำให้เราได้รับคะแนนพิเศษ 2 - 5 เท่า ก็จะทำให้ได้คะแนนสะสมเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว

ดังนั้น หากใช้จ่ายในรายการที่กำหนดและเลือกใช้บัตรที่ได้รับคะแนนสะสมพิเศษเพิ่มเติม 4 เท่า จะทำให้ได้รับคะแนนสะสมจำนวนมาก จากนั้นนำคะแนนสะสมมาแลกในช่วงที่มีโปรโมชั่นร่วมกับทางร้านอาหารหรือห้างสรรพสินค้า เช่น การใช้คะแนนเท่ายอดซื้อ แลกรับส่วนลด 15%  จะทำให้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นจาก 0.4% เป็น 2.4% ซึ่งให้ผลตอบแทนที่มากกว่าบัตรเครดิตประเภทเงินคืน

บัตรเครดิตในกลุ่มนี้ เหมาะสำหรับคนที่ชอบซื้อของในห้างสรรพสินค้าหรือทานข้าวในร้านอาหาร ซึ่งมักจะมีการจัดโปรโมชั่นร่วมกับห้างสรรพสินค้า หรือร้านอาหารอยู่บ่อย ๆ สามารถนำคะแนนสะสมไปแลกเป็นส่วนลด โดยในบางครั้งมีโปรโมชั่นให้ส่วนลดถึง 15 - 20% เมื่อใช้คะแนนสะสมเท่ายอดซื้อ ซึ่งจะทำให้มีความคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น

 

3.บัตรเครดิตกลุ่มสะสมไมล์ 

บัตรในกลุ่มนี้จะเป็นบัตรที่มีความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น เป็นบัตรเครดิตที่เน้นสะสมคะแนนจากการใช้จ่าย และเมื่อมีคะแนนมากพอ จะทำการโอนคะแนนจากบัตรเครดิตไปแลกเป็นไมล์สายการบิน จากนั้นจึงนำไมล์สายการบินไปแลกตั๋วเครื่องบิน การใช้งานบัตรเครดิตกลุ่มสะสมไมล์จึงมีความซับซ้อนกว่าปกติ เพราะต้องเข้าใจวิธีการใช้ไมล์แลกตั๋วเครื่องบิน ของแต่ละสายการบิน และเส้นทางการบินที่คุ้มค่าในการแลกไมล์

การเลือกบัตรเครดิตในกลุ่มนี้ ต้องเลือกบัตรที่คุ้มค่า พิจารณาจากความยากง่ายในการได้ไมล์สะสม ต้องใช้จ่ายผ่านบัตรกี่บาทถึงจะได้รับ 1 ไมล์สะสม เช่น ใบแรก 15 บาท/คะแนน  1.2 คะแนน/ไมล์สะสม หรือเท่ากับ 18 บาท/ไมล์สะสม ใบที่สอง 25 บาท/คะแนน 2 คะแนน/ไมล์สะสม หรือเท่ากับ 50 บาท/ไมล์สะสม ดังนั้นควรเลือกใช้ใบแรก เพราะมีอัตราการแลกไมล์ที่ต่ำกว่า

บัตรเครดิตในกลุ่มสะสมไมล์แต่ละบัตรจะมีสายการบินพันธมิตรแตกต่างกัน บางบัตรอาจจะมีตัวเลือกในการโอนคะแนนไปได้หลากหลายสายการบิน ซึ่งแต่ละสายการบินก็มีเส้นทางการบิน อัตราการแลกไมล์ในแต่ละเส้นทาง ค่าธรรมเนียมในการแลกตั๋วเครื่องบินที่แตกต่างกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ควรนำมาพิจารณาประกอบ

บัตรเครดิตแบบสะสมไมล์ เหมาะกับผู้ที่ชอบเดินทางท่องเที่ยว ชอบเดินทางด้วยเครื่องบินบ่อย ๆ ความคุ้มค่าในการแลกไมล์ คือ การแลกตั๋วเครื่องบินในชั้น Business Class หรือ First Class ซึ่งปกติมีราคาแพง ทำให้คิดผลตอบแทนออกมาแล้วคุ้มค่ามากที่สุด เพราะการแลกตั๋วเครื่องบินชั้น Business Class ไป - กลับ 1 ที่นั่ง ในเส้นทาง กรุงเทพ - โตเกียว จะต้องมียอดใช้จ่ายประมาณ 1,250,000 บาท ดังนั้นหากเรามียอดใช้จ่ายผ่านบัตรไม่มาก กว่าจะได้คะแนนพอที่จะแลกไมล์ครบในเส้นทางที่ต้องการอาจจะใช้เวลานานหลายปี  ซึ่งบัตรเครดิตแบบเงินคืน หรือแบบสะสมคะแนนอาจจะเหมาะสมมากกว่า

 

ตัวอย่าง การใช้บัตรเครดิตสะสมไมล์ 

ตั๋วเครื่องบินไปกลับ Business Class สายการบิน EVA Air เส้นทาง กรุงเทพ - โตเกียว ใช้ไมล์จำนวน 50,000 ไมล์ หากคิดตามมูลค่า 55,000 บาท และหักค่าธรรมเนียมในการแลกตั๋วเครื่องบินประมาณ 7,000 บาท ดังนั้น 50,000 ไมล์ จะมีมูลค่าเทียบเท่า 48,000 บาท 

หากใช้บัตรใบที่มีอัตรา 12.5 บาท/คะแนน  2 คะแนน/ไมล์สะสม หรือเท่ากับ 25 บาท/ไมล์สะสม  ดังนั้น 50,000 ไมล์ เท่ากับต้องใช้จ่าย 1,250,000 บาท เพื่อแลกตั๋วเครื่องบินที่มีมูลค่า 48,000 บาท เท่ากับผลตอบแทนที่ 3.84% ซึ่งมากกว่าผลตอบแทนของบัตรเครดิตแบบเงินคืนหรือแบบสะสมคะแนน

เมื่อเลือกแล้วว่าบัตรเครดิตกลุ่มไหนเหมาะกับไลฟ์สไตล์การใช้จ่าย ก็จะได้เลือกบัตรเครดิตมาใช้ได้อย่างเหมาะสม

 

อย่าลืมเช็กค่าธรรมเนียม 

บัตรเครดิตมักมีการคิดค่าธรรมเนียม 2 ประเภท คือ ค่าธรรมเนียมแรกเข้าและค่าธรรมเนียมรายปี ซึ่งค่าธรรมเนียมก็จะแตกต่างกันไปตามแต่ละประเภทของบัตรและผู้ออกบัตร หากไม่อยากเสียค่าธรรมเนียมก็ให้เลือกเปิดบัตรเครดิตประเภทที่ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมแรกเข้า บัตรเครดิตบางใบสามารถขอยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีเมื่อผู้ถือบัตรมีการใช้จ่ายครบตามเงื่อนไขที่กำหนด ลองเปรียบเทียบค่าธรรมเนียมรายปีที่ต้องเสียกับสิทธิประโยชน์ของบัตรที่ได้รับว่าอยู่ในอัตราที่รับได้ คุ้มกว่าค่าธรรมเนียมที่เสียไปหรือไม่ โดยทั่วไปค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตที่ให้สิทธิประโยชน์อื่น ๆ เพิ่มเติมมักจะสูงกว่าค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตทั่วไป แต่อาจจะคุ้มค่าหากเราได้ใช้สิทธิประโยชน์นั้น ๆ เช่น บริการรถรับส่งสนามบิน สิทธิในการเข้าใช้ห้องพักรับรองที่สนามบิน เป็นต้น

 

ดูข้อจำกัดการใช้บัตร

บัตรเครดิตของบางธนาคารจะมีข้อยกเว้น ไม่ได้รับคะแนนสะสมหรือเครดิตเงินคืน เมื่อใช้จ่ายในประเทศที่กำหนด โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเขตเศรษฐกิจยุโรป รวมถึงข้อยกเว้นของแต่ละบัตรเครดิตในบางหมวดสินค้าจะไม่ได้รับคะแนนสะสม เช่น ค่าประกัน ค่าสาธารณูปโภค หน่วยงานราชการ เป็นต้น นอกจากนี้บัตรเครดิตบางใบ ยังมีข้อจำกัดการให้คะแนนสูงสุด จำกัดยอดเงินคืนในแต่ละหมวดการใช้จ่าย ซึ่งจะทำให้เราเสียผลประโยชน์ไปอย่างน่าเสียดาย

 

โดยสรุปแล้ว แต่ละคนมีไลฟ์สไตล์การใช้จ่ายที่แตกต่างกัน  ดังนั้น ไม่มีบัตรเครดิตใบไหนดีที่สุด เลือกให้เหมาะกับตัวเอง ครอบคลุมไลฟ์สไตล์ทุกด้านของเราให้มากที่สุด การเลือกบัตรเครดิตที่ตอบโจทย์กับไลฟ์สไตล์ จะทำให้เราได้รับสิทธิประโยชน์จากบัตรเครดิตที่ตรงจุด และคุ้มค่าสำหรับทุกการใช้จ่าย 

การมีบัตรเครดิตหลายใบ ไม่ใช่เรื่องที่ผิด หากมีวินัยทางการเงิน หลังจากใช้บัตรเครดิตแล้ว ควรชำระให้ตรงเวลาและเต็มจำนวน เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียดอกเบี้ย เพราะหากชำระเพียงบางส่วนหรือชำระไม่ตรงตามกำหนดเวลา นอกจากจะมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงแล้ว ผู้ออกบัตรจะคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่รูดใช้จ่าย หากใช้จ่ายอย่างไม่ระมัดระวังและขาดการวางแผนการจัดการที่ดี อาจจะทำให้ยอดหนี้ถูกสะสมเพิ่มมากขึ้นจนกลายเป็นเงินก้อนใหญ่ และมีปัญหาทางการเงินตามมาในอนาคต

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th