logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ลงทุน

เคล็ดลับจัดพอร์ตให้ปัง รับดอกเบี้ยขาลง

เผยแพร่วันที่ 02/07/2024

หลังจากเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ธนาคารกลางทั่วโลกต่างงัดไม้เด็ดด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อสกัดเงินเฟ้อ แต่เมื่อสถานการณ์เงินเฟ้อเริ่มคลี่คลาย ธนาคารกลางทั่วโลกก็เริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง และมองว่ายุคดอกเบี้ยขาลงกำลังจะมาถึงในเวลาอันใกล้

การเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบายเปรียบเสมือน “หัวใจ” ของเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อ “สุขภาพ” ของการลงทุนในสินทรัพย์ทุกประเภท เพราะการปรับขึ้นหรือลงของอัตราดอกเบี้ยเปรียบเสมือนคลื่นใต้น้ำ ที่อาจพัดพาพอร์ตลงทุนไปในทิศทางที่คาดไม่ถึง

ดังนั้น นักลงทุนจึงต้องรู้เท่าทันและปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลง การศึกษาและทำความเข้าใจถึงผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยต่อสินทรัพย์แต่ละประเภท จะช่วยให้สามารถปรับกลยุทธ์การลงทุนได้อย่างเหมาะสม และไม่พลาดโอกาสในการทำกำไร

 

เคล็ดลับพิชิตการลงทุนยุคดอกเบี้ยขาลง

  • เปิดใจรับสินทรัพย์หลากหลาย เมื่อดอกเบี้ยเป็นขาลง ผลตอบแทนจากสินทรัพย์ลงทุนบางประเภทอาจไม่จูงใจ ลองมองหาสินทรัพย์อื่น ๆ ที่มีศักยภาพในการเติบโตเข้ามาเก็บไว้ในพอร์ตลงทุน เพราะการกระจายความเสี่ยงจะช่วยลดผลกระทบหากสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งราคาปรับลดลง
  • ลงทุนอย่างสม่ำเสมอ การลงทุนแบบ DCA (Dollar Cost Averaging) หรือการลงทุนด้วยเงินจำนวนเท่ากันเป็นประจำเช่น ทุกเดือน จะช่วยลดความเสี่ยงจากการจับจังหวะตลาด และทำให้ได้ราคาเฉลี่ยที่ดีกว่า
  • ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด การเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย มักมาพร้อมกับข่าวสารเศรษฐกิจที่สำคัญ การติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดจะช่วยให้เข้าใจถึงสถานการณ์และปรับกลยุทธ์การลงทุนได้ทันท่วงที
  • ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ หากไม่แน่ใจว่าควรลงทุนอย่างไรหรือต้องการคำแนะนำเฉพาะด้าน การปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินจะช่วยให้ได้รับคำแนะนำที่เหมาะสมกับความต้องการและเป้าหมายของตัวเอง

 

สินทรัพย์ที่น่าลงทุนเมื่อดอกเบี้ยเป็นขาลง

 

ตราสารหนี้

หากลงทุนตราสารหนี้ นักลงทุนจะเผชิญความเสี่ยงประการหนึ่ง เรียกว่า ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของราคาเมื่ออัตราดอกเบี้ยเปลี่ยนแปลง เพราะมูลค่าตราสารหนี้จะเคลื่อนไหวในทิศทางตรงข้ามกับการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย โดยความสัมพันธ์ระหว่างอัตราดอกเบี้ยและมูลค่าของตราสารหนี้จะแปรผกผันต่อกัน เมื่ออัตราดอกเบี้ยปรับสูงขึ้น มูลค่าของตราสารหนี้จะลดลง ตรงกันข้ามเมื่ออัตราดอกเบี้ยปรับลดลง มูลค่าของตราสารหนี้จะสูงขึ้น ดังนั้น เมื่ออัตราดอกเบี้ยเปลี่ยนแปลงจะส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนการลงทุนตราสารหนี้ จึงต้องปรับแผนการลงทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ดังนั้น เมื่อดอกเบี้ยเป็นขาลงควรเลือกลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอายุคงเหลือยาว ๆ เพื่อรับผลประโยชน์จากราคาตราสารหนี้ที่ปรับสูงขึ้น เช่นเดียวกันหากสนใจลงทุนกองทุนตราสารหนี้ ควรเพิ่มสัดส่วนการลงทุนกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนตราสารหนี้ระยะกลางถึงระยะยาว

เมื่ออัตราดอกเบี้ยเป็นขาลง นักลงทุนอาจลดสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้และนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูงมากขึ้น เพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น แต่หากทำเช่นนี้มากจนเกินไป อาจทำให้พอร์ตลงทุนมีความเสี่ยงเกินกว่าระดับที่กำหนดไว้ในแผนการลงทุน พูดง่าย ๆ ถึงแม้ดอกเบี้ยเป็นขาลง การมีตราสารหนี้ในพอร์ตจะช่วยกระจายความเสี่ยงและ  ทำให้เกิดความมั่นคงมากขึ้น

 

หุ้นและกองทุนรวมหุ้น

เมื่อธนาคารกลางปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะเกิดผลกระทบต่อตลาดหุ้นในหลายด้าน เช่น

  • ต้นทุนการเงินที่ลดลง บริษัทจะได้รับประโยชน์จากต้นทุนการกู้ยืมที่ลดลง ทำให้มีเงินทุนเหลือเพื่อนำไปลงทุนขยายธุรกิจ หรือจ่ายปันผล ทำให้ผลประกอบการดีขึ้นและราคาหุ้นมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น
  • เม็ดเงินลงทุนไหลเข้าตลาดหุ้น เมื่อดอกเบี้ยเงินฝากลดต่ำลง นักลงทุนมักจะมองหาทางเลือกในการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ซึ่งตลาดหุ้นเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนใจ ทำให้มีเม็ดเงินลงทุนไหลเข้ามามากขึ้น ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้น
  • ความเชื่อมั่นของนักลงทุน การปรับลดอัตราดอกเบี้ย มักเป็นสัญญาณว่าธนาคารกลางกำลังดำเนินนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลดีต่อบรรยากาศการลงทุนโดยรวม และเพิ่มความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดหุ้น

กลยุทธ์ลงทุนหุ้นช่วงดอกเบี้ยขาลง เช่น หุ้นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง ซึ่งมักจะมีผลประกอบการที่ดีในช่วงดอกเบี้ยขาลง และหุ้นปันผล ซึ่งเป็นทางเลือกสำหรับนักลงทุนที่ต้องการสร้างรายได้อย่างสม่ำเสมอ โดยช่วงดอกเบี้ยขาลง หุ้นกลุ่มนี้จะได้รับความสนใจลงทุนมากขึ้น เนื่องจากให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก

สำหรับนักลงทุนที่สนใจลงทุนหุ้นแต่รับความเสี่ยงได้ไม่สูง ควรเลือกลงทุนในกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในหุ้น โดยข้อดี คือได้ลงทุนในหุ้นหลาย ๆ ตัว ทำให้กระจายความเสี่ยงได้ดี มีผู้จัดการกองทุนที่มีความรู้ความสามารถในการวิเคราะห์และคัดเลือกหุ้น ทำให้มั่นใจได้ว่าเงินลงทุนอยู่ในมือของผู้เชี่ยวชาญ ซื้อขายได้ง่ายบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ตัวแทนจำหน่าย หรือผ่านแอปลิเคชัน และเริ่มต้นลงทุนได้ด้วยเงินไม่มาก

 

REIT

ในช่วงที่ภาวะดอกเบี้ยเป็นขาลง กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Investment Trust: REIT) เป็นช่องทางการลงทุนที่ดี เพราะผลตอบแทนอยู่ในระดับน่าประทับใจและความปลอดภัยค่อนข้างสูง โดยอัตราเงินปันผลตอบแทน (Dividend Yield) อยู่ในระดับสูงกว่าอัตราเงินปันผลตอบแทนของตลาดโดยรวม และผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลทุกช่วงปี จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนที่มองหารายได้แบบ Passive Income นอกจากนี้ เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวและอัตราการเช่าพื้นที่เพิ่มขึ้น มูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ที่ REIT ถือครองก็มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาหน่วยลงทุนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

 

ทองคำ

ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในทิศทางขาลง ทองคำกลายเป็นสินทรัพย์ที่ได้รับความนิยมในฐานะหลุมหลบภัย (Safe Haven) ด้วยเหตุผล ดังนี้

  • เกราะป้องกันเงินเฟ้อ ในภาวะดอกเบี้ยต่ำ ธนาคารกลางมักใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อตามมา ทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่มีมูลค่าในตัวเอง จึงทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันมูลค่าของเงินลงทุนของคุณไม่ให้ถูกกัดกร่อนไปกับเงินเฟ้อ
  • หลุมหลบภัยในยามตลาดผันผวน เมื่อตลาดหุ้นและตราสารหนี้มีความผันผวนสูง นักลงทุนมักหันมาหาทองคำเพื่อลดความเสี่ยง เพราะทองคำมีแนวโน้มที่จะเคลื่อนไหวในทิศทางตรงข้ามกับสินทรัพย์เสี่ยงอื่น ๆ ทำให้พอร์ตลงทุนมีความสมดุลและปลอดภัยมากขึ้น
  • สินทรัพย์ที่มีมูลค่าสากล ทองคำเป็นที่ยอมรับทั่วโลก ไม่ว่าเศรษฐกิจจะผันผวนเพียงใด มูลค่าของทองคำก็ยังคงอยู่
  • โอกาสสร้างผลตอบแทน ช่วงที่ดอกเบี้ยลดลง ผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้และเงินฝากอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ ทองคำจึงกลายเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนที่สูงกว่า

 

ในยุคที่อัตราดอกเบี้ยกำลังเป็นขาลง การลงทุนอาจดูเหมือนเป็นเรื่องท้าทาย แต่หากวางกลยุทธ์ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ก็สามารถเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส และสร้างผลตอบแทนที่น่าพึงพอใจได้

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th