บทความ: บริหารจัดการเงิน
ไม่งง ไม่งวย! ใช้เงินแบบ 50 – 30 – 20 ง่ายกว่าที่คิด ชีวิตดี มีเงินเก็บ
เผยแพร่วันที่ 28/06/2024
มีคำกล่าวเอาไว้ว่า เวลาคนเราจะใช้จ่าย ไม่ต้องมีเหตุผลมารองรับ แค่เดินผ่านข้าวของก็สามารถซื้อได้ตลอดเวลา เอาเป็นว่าทุกคนมีโอกาส “เสียเงิน” ได้ตลอดเวลา เพราะเท่าที่สังเกตเวลาเห็นคนดูมือถือ อย่างแรก ๆ ที่กดเข้าไปดู คือ ช้อปปิ้งออนไลน์ เมื่อดูไปดูมา สุดท้ายโดนจนได้ หรือบางคนชอบไปใช้เวลาว่างกับเพื่อน ๆ ทุกเย็นวันศุกร์ โดยไม่มีเป้าหมายอะไรพิเศษ ขอแค่นั่งแฮงเอาต์ก็พอ
การใช้ชีวิตด้วยการรอเงินเดือนออก กิน ช้อป เที่ยว มักจะละเลยเรื่องการเก็บออม สังเกตได้ว่าเงินจะหมดลงอย่างรวดเร็ว หรืออาจไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ามือถือ และเมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่สามของเดือนก็จะต้องไปขอหยิบยืมจากคนรอบข้างหรือดำรงชีวิตด้วยการรูดบัตรเครดิต และนั่งรอเงินเดือนก้อนใหม่
หากกำลังใช้ชีวิตแบบนี้และต้องการหาทางออกเพื่อให้มีเงินใช้จ่ายตลอดทั้งเดือน ที่สำคัญมีเงินเหลือเก็บทุกเดือน เริ่มต้นด้วยการใช้สูตรการใช้เงินอย่างง่าย 50 – 30 – 20 เป็นการจัดสรรเงินในแต่ละเดือนอย่างสมเหตุสมผลและสามารถปรับใช้ได้กับทุกคน ไม่ว่าจะมีรายได้เท่าไรก็ตาม
สูตรการใช้เงิน 50 - 30 - 20 เป็นการแบ่งสัดส่วนรายได้ตามที่วางแผนเอาไว้เพื่อให้เกิดความชัดเจนต่อการใช้จ่ายในแต่ละเดือน ซึ่งรายได้ที่นำมาคิดจะต้องเป็นรายได้สุทธิหลังหักภาษี เงินสมทบเข้าในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ถ้าเป็นข้าราชการก็เป็นเงินที่หลังหักเข้าสู่ กบข.) และหักเข้ากองทุนประกันสังคม จากนั้นจึงนำมาจัดแบ่งเป็น 3 ก้อน
ตัวอย่าง การแบ่งเงินตามสูตร 50 - 30 – 20 โดยสมมติว่ามีรายได้สุทธิ 30,000 บาท
50% คือ ค่าใช้จ่ายที่จำเป็น = 15,000 บาท
เงินก้อนนี้จะนำมาใช้จ่ายเพื่อความจำเป็น (Needs) ต่อการดำรงชีวิต เป็นค่าใช้จ่ายประจำในแต่ละเดือน เช่น ค่ากิน ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ค่าน้ำค่าไฟ ค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ ค่าเดินทาง ค่าน้ำมัน ค่าดูแลสุขภาพ จ่ายหนี้บัตรเครดิต รวมถึงโอนเงินให้พ่อแม่ ดังนั้น ก่อนตัดสินใจต้องแน่ใจว่าจ่ายเพื่อความจำเป็นจริง ๆ
30% คือ ค่าใช้จ่ายตามความต้องการ = 9,000 บาท
เป็นเงินใช้จ่ายเพื่อความสุขส่วนตัวหรือสิ่งที่ต้องการ (Wants) เช่น กินข้าวนอกบ้าน ช้อปปิ้ง ท่องเที่ยว สมาชิกบริการสตรีมมิ่ง อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เงินก้อนนี้จะเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสร้างความสุขแต่ควรตัดสินใจให้รอบคอบว่าควรจ่ายจริง ๆ หรือไม่ เช่น เดือนที่ผ่านมาซื้อชุดกีฬา 1 ชุด รองเท้ากีฬา 1 คู่ ดังนั้น เดือนนี้ก็ไม่ควรซื้ออีก หรืออาจพบปะเพื่อนฝูงนัดกินข้าวนอกบ้านเดือนเว้นเดือนก็ได้ ซึ่งเงื่อนไขสำคัญของเงินก้อนนี้ คือ ใช้จ่ายในงบประมาณ และเดือนไหนเหลือก็นำไปเก็บออม
20% คือ เก็บออมและลงทุน = 6,000 บาท
เงินก้อนนี้ คือ เงินเก็บออมและลงทุน โดยให้แบ่งออกเป็นส่วน ๆ ตามความเหมาะสมของตัวเอง ก้อนแรกให้นำไปเก็บออมเอาไว้เผื่อฉุกเฉิน ก้อนถัดมาเก็บออมเพื่อเป้าหมายอื่น ๆ เช่น ดาวน์บ้าน ซื้อรถ จ่ายค่าเทอมลูก จ่ายเบี้ยประกัน ก้อนสุดท้ายนำไปลงทุนเพื่อเตรียมไว้ใช้หลังเกษียณ
สำหรับประโยชน์ที่ได้จากการใช้สูตรการใช้เงิน 50 - 30 – 20 จะช่วยให้มีความรับผิดชอบต่อการใช้จ่ายของตัวเอง เพราะจะรู้ว่าเงินที่จ่ายออกไปเพราะ “ความจำเป็น” หรือ “ความต้องการ” ซึ่งจะทำให้มีมุมมองการใช้จ่ายเงินที่ชัดเจนขึ้น รวมถึงเห็นข้อผิดพลาดการใช้เงิน จากนั้นก็นำมาปรับปรุงให้ดีขึ้น
ประโยชน์การใช้เงิน 50 - 30 – 20
- ใช้งานง่าย กฎ 50/30/20 เป็นการแบ่งเงินตรงไปตรงมา ทำให้เข้าใจและนำไปใช้ได้ง่าย โดยสามารถแบ่งรายได้ได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องคำนวณซับซ้อน ทุกคนลงมือทำได้ทันที
- การจัดการเงินที่ดีขึ้น สามารถจัดการเงินได้อย่างเหมาะสมกับตัวเอง จึงมั่นใจได้ว่าค่าใช้จ่ายที่จำเป็นมีเพียงพอ มีเงินไว้ใช้จ่ายตามอำเภอใจ และมีเงินเหลือในแต่ละเดือนแล้วเก็บออมเพื่ออนาคต
- จัดลำดับความสำคัญของค่าใช้จ่ายที่สำคัญ สามารถมั่นใจได้ว่าจะมีเงินใช้จ่ายบนพื้นฐานการดำรงชีวิต เพราะเงินครึ่งหนึ่ง (50%) แบ่งไปใช้จ่ายกับสิ่งที่จำเป็น และหากมีวินัยในการใช้เงินก็ทำให้มีหนี้ในระดับที่เหมาะสม
- ความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว การแบ่งรายได้ 20% ไปเก็บออมและลงทุนในแต่ละเดือน หากทำแบบนี้ได้อย่างสม่ำเสมอ ก็จะทำให้การเงินมีความมั่นคงในระยะยาว และเมื่อถึงวันนั้นก็สามารถวางแผนการใช้เงินได้ตามเป้าหมายที่วางเอาไว้
สำหรับผู้ที่ยังไม่คุ้นเคยกับการแบ่งเงิน 50 – 30 – 20 ก็สามารถเริ่มต้นด้วยการจดบันทึกรายรับ รายจ่าย เพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรมการใช้จ่ายของตัวเองให้ดีขึ้น จากนั้นก็วิเคราะห์เพื่อดูว่าการใช้จ่ายเป็นไปตามการแบ่ง 50 – 30 – 20 ได้ดีแค่ไหน ซึ่งอาจใช้เวลา 1 – 2 เดือนกับการติดตามค่าใช้จ่าย และเมื่อทุกอย่างลงตัวก็จะพบว่าในแต่ละเดือนมีรายรับเท่าไร เงินออมมากน้อยแค่ไหน ที่สำคัญรู้ว่าเงินที่หามาได้หมดไปกับการใช้จ่ายอะไรบ้าง
อย่างไรก็ตาม การแบ่งเงินด้วยสูตร 50 – 30 – 20 อาจไม่เหมาะสำหรับบางคน จึงควรเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับตัวเองเพื่อช่วยให้แผนการควบคุมค่าใช้จ่ายดียิ่งขึ้น พูดง่าย ๆ ปรับสูตรได้ตามความเหมาะสมของรายได้ ค่าใช้จ่าย ภาระหนี้สิน อายุ หรือเป้าหมายการเงิน เช่น หากมีภาระหนี้สินค่อนข้างสูงก็ใช้สูตร 60 – 20 – 20 ส่วนผู้ที่มีเป้าหมายการเงินระยะยาวก็ใช้สูตร 50 – 20 – 30 หรือผู้ที่อายุมาก (เช่น 55 ปี) ใช้สูตร 45 – 30 – 25
สำหรับผู้ที่ต้องการหลุดพ้นจากกับดักกับเงินหมดก่อนสิ้นเดือนหรือการใช้เงินแบบเดือนชนเดือน ลองเริ่มต้นการแบ่งเงินตามสูตร 50 – 30 – 20 ช่วยให้วางแผนการใช้จ่ายเงินได้อย่างเหมาะสม ไม่ฟุ่มเฟือยจนเกินไป มีเงินเหลือพอใช้จ่ายในแต่ละเดือน และเหลือเก็บออม ซึ่งจะนำไปสู่ความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว