logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: บริหารจัดการเงิน

สูตรลับความสุข: วางแผนการเงินครอบครัว เพื่อชีวิตมั่งคั่งมั่นคง

เผยแพร่วันที่ 25/06/2024

 

ภาพครอบครัวที่อบอุ่น มักมาพร้อมกับรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ แต่เบื้องหลังความสุขเหล่านั้น การวางแผนการเงินที่เหมาะสม คือ รากฐานสำคัญที่จะทำให้ครอบครัวมีความมั่นคงด้านการเงินและพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ในชีวิต

ลองนึกภาพบ้านที่สร้างขึ้นโดยไม่มีเสาเข็มที่แข็งแรงหรือเรือที่ออกเดินทางโดยไม่มีแผนที่นำทาง ผลลัพธ์คงไม่เป็นอย่างที่คาดหวังเอาไว้ การวางแผนการเงินครอบครัว (Family Finance) ก็เช่นเดียวกัน ถ้าไม่มีแผนที่ชัดเจน ก็ยากที่จะบรรลุเป้าหมายทางการเงินที่ตั้งไว้

การวางแผนการเงินสำหรับครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าครอบครัวจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ การวางแผนการเงินที่ดีจะช่วยให้ทุกคนในครอบครัวมีชีวิตที่มั่นคงและมีความสุขในระยะยาว ดังนั้น จึงควรเริ่มวางแผนการเงินสำหรับครอบครัวให้เร็วที่สุด

  • สร้างแผนที่สู่ความมั่งคั่ง การวางแผนการเงินเปรียบเสมือนการมีแผนที่นำทางสู่เป้าหมายทางการเงินของครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นการซื้อบ้าน ซื้อรถ ส่งลูกเรียน หรือวางแผนเกษียณ การมีแผนที่ที่ชัดเจนจะช่วยให้เห็นภาพรวมและตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง
  • มองเห็นโอกาสและลดความเสี่ยง การวางแผนการเงินช่วยให้ประเมินสถานะทางการเงินของครอบครัวได้อย่างสม่ำเสมอ ทำให้มองเห็นโอกาสในการลงทุนหรือช่องทางสร้างรายได้ใหม่ ๆ ได้ทันท่วงที นอกจากนี้ ยังช่วยให้เตรียมพร้อมรับมือกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น การเจ็บป่วย ตกงาน หรือเหตุการณ์ไม่คาดฝันอื่น ๆ
  • สร้างความเข้าใจและเป้าหมายร่วมกัน การวางแผนการเงินไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของทุกคน   ในครอบครัว การพูดคุยและวางแผนร่วมกันจะช่วยให้ทุกคนมีความเข้าใจตรงกัน มีเป้าหมายร่วมกัน และร่วมมือกัน เพื่อสร้างอนาคตที่มั่นคงให้กับครอบครัว

ดังนั้น การวางแผนการเงินของครอบครัว จึงมีความสำคัญมาก เพราะว่าจริง ๆ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหลายชีวิต ดังนั้น ถ้าไม่ได้ตั้งเป้าหมายเอาไว้อาจจะทำให้ชีวิตไม่ราบรื่น เพราะเรื่องปากท้อง เงินในกระเป๋า ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ชีวิตคู่ผ่านไปราบรื่นได้ หมายความว่า ต้องมานั่งกำหนดแผนร่วมกัน

 

องค์ประกอบที่ควรคำนึงถึงในการสร้างแผนการเงินครอบครัว

1.งบประมาณและการใช้จ่าย

“เงินทองต้องรู้จักวางแผน” คงเป็นประโยคที่หลายคนคุ้นเคย และหัวใจสำคัญของการวางแผนการเงินสำหรับครอบครัวอยู่ที่ งบประมาณและการใช้จ่าย ลองนึกภาพงบประมาณเหมือนกับแผนที่นำทาง ที่จะช่วยให้รู้ว่าเงินเดินทางไปที่ไหนบ้าง และยังช่วยให้สามารถปรับเปลี่ยนเส้นทางการเงินได้อย่างเหมาะสมอีกด้วย และเคล็ดลับในการจัดการงบประมาณ เช่น

  • จดบันทึกค่าใช้จ่าย เหมือนกับการจดไดอารี่ แต่เป็นไดอารี่เงินทอง จะช่วยให้รู้ว่าเงินหายไปไหน และสามารถตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไปได้
  • ตรวจสอบงบประมาณทุกเดือน จะช่วยให้รู้ว่ายังอยู่บนเส้นทางที่วางไว้หรือไม่ และสามารถปรับเปลี่ยนได้ทันท่วงที
  • ทบทวนรายปี จะช่วยให้เห็นภาพรวมของการใช้จ่ายที่เปลี่ยนแปลงไป และสามารถวางแผนสำหรับอนาคตได้อย่าง  มีประสิทธิภาพมากขึ้น

อย่าลืมว่า การลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ไม่ได้หมายความว่าต้องใช้ชีวิตอย่างลำบาก แต่เป็นการเลือกใช้จ่ายอย่างเหมาะสม เพื่อให้มีเงินเหลือใช้ในสิ่งที่สำคัญกว่า เช่น การศึกษาของลูก การวางแผนเกษียณ

2.การจัดการหนี้สิน

ถ้าครอบครัวมี “หนี้” อย่าลืมใส่ไว้ในแผนการเงินครอบครัวด้วย สำคัญที่สุด คือ ต้องมีแผนและระยะเวลาชัดเจนในการชำระหนี้ โดยเคล็ดลับเด็ดปลดหนี้ได้ไว เช่น

  • ลิสต์รายชื่อเจ้าหนี้ เขียนออกมาให้หมดว่าเป็นหนี้ใครบ้าง จำนวนเท่าไร ดอกเบี้ยเท่าไร
  • เรียงลำดับดอกเบี้ย หนี้ก้อนไหนดอกเบี้ยแพงสุดควรจัดการก่อนเลย
  • กำหนดเส้นชัย ตั้งเป้าหมายว่าจะเคลียร์หนี้แต่ละตัวเมื่อไหร่ มีแผนที่ชัดเจน จะได้มีกำลังใจสู้ต่อ
  • รีไฟแนนซ์ก็เวิร์ค ถ้ามีหนี้บ้าน ควรรีไฟแนนซ์เพื่อให้ได้ดอกเบี้ยที่ถูกลง อย่างไรก็ตาม ควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายรีไฟแนนซ์เพื่อประกอบการตัดสินใจ เพื่อทำให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด

อย่าลืมว่า การมีหนี้ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว ถ้าวางแผนดีๆ และมีวินัยในการชำระคืนก็จะสามารถปลดหนี้ได้สำเร็จ (จะสามารถปลดหนี้ได้สำเร็จ)

3.เป้าหมายทางการเงิน

การวางแผนการเงิน หมายถึง การคิดถึงเป้าหมายที่อยากทำให้สำเร็จด้วยเงินที่มี ไม่ว่าจะเป็นการเก็บเงินเพื่อเกษียณ การปลดหนี้บ้าน หรือการเก็บเงินเพื่อการศึกษาของลูก ด้วยการกำหนดขั้นตอนและระยะเวลาที่ชัดเจนในการบรรลุเป้าหมายแต่ละอย่าง

4.วางแผนเกษียณ

การเกษียณอายุอย่างมีความสุข คือ เป้าหมายร่วมกัน ดังนั้น การประเมินเป้าหมายและช่วยวางแผนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายจึงเป็นหัวใจสำคัญของการวางแผนการเงินสำหรับครอบครัว ซึ่งการมีแผนเกษียณให้ประสบความสำเร็จต้องให้สอดคล้องกัน ที่สำคัญควรเริ่มวางแผนเร็วเพื่อเพิ่มโอกาสสะสมเงินได้มากขึ้น เช่น ลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือลงทุนกองทุน RMF  

5.วางแผนการศึกษา

การวางแผนการเงินเพื่อการศึกษาลูกเป็นเรื่องสำคัญของครอบครัว โดยต้องคิดตั้งแต่คุณแม่ตั้งครรภ์ว่าจะวางแผนเรื่องนี้ให้กับลูกตัวเองอย่างไร ซึ่งถ้าจะให้ดีคุณพ่อ คุณแม่ต้องนั่งคุยกันให้เรียบร้อยว่าจะมีลูกกี่คน จากนั้นก็วางแผนกันว่าจะส่งลูกเรียนถึงระดับไหน (ปริญญาตรี ปริญญาโท หรือปริญญาเอก) แล้วจะส่งเรียนไปโรงเรียนแบบไหน เช่น โรงเรียนรัฐบาล โรงเรียนเอกชน โรงเรียนนานาชาติ หรือจะส่งไปเรียนต่อต่างประเทศ เพราะอย่าลืมว่าโรงเรียนแต่ละประเภทจะมีค่าใช้จ่ายแตกต่างกัน เช่น โรงเรียนรัฐบาล ถึงแม้ค่าเล่าเรียนจะฟรี แต่ตำราเรียนไม่ฟรี รวมถึงการเดินทาง ค่าอาหารก็ต้องจ่ายเอง

6.วางแผนประกัน

เคยถามตัวเองหรือไม่ว่า ถ้าเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นมา จะมีใครดูแลคนที่เรารัก ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลหรือรายได้ที่หายไป จะกระทบกับชีวิตครอบครัวแค่ไหน จึงควรวางแผนประกันเพื่อช่วยปกป้องครอบครัวจากความเสี่ยงทางการเงินที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ซึ่งถ้าเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด ประกันภัยจะช่วยให้ครอบครัว สามารถก้าวผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้อย่างมั่นคง โดยประกันที่ควรมีติดบ้าน คือ ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ

 

การวางแผนการเงินสำหรับครอบครัวเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด เพื่อสร้างอนาคตที่มั่นคงและสดใสให้กับทุกคน เริ่มต้นวางแผนการเงินตั้งแต่วันนี้ เพื่อให้ครอบครัวมีชีวิตที่มั่งคั่งและมีความสุขในระยะยาว

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th