logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ลงทุน

จัดพอร์ตอย่างไรให้ Stay Invest แม้ในภาวะวิกฤติ

โดย รัฐพล วชิรเมฆากุล นักวางแผนการเงินCFP®

เผยแพร่วันที่ 14/07/2567

 

นักลงทุนต่างรู้ว่าการลงทุนต่อเนื่อง (Stay Invest) มีความสำคัญ แต่ในภาวะวิกฤติหรือชาวงตลาดหมี ซึ่งเป็นช่วงที่ทำใจยากที่สุดที่จะลงทุน เพราะนักลงทุนส่วนใหญ่มักตอบสนองต่อสถานการณ์รุนแรงเกินไป มีแนวโน้มจะใช้อารมณ์ และความรู้สึกตัดสินใจมากกว่าเหตุผล ดังนั้น มาทบทวนถึงหลักการ และวิธีการในเชิงปฏิบัติว่าควรทำอย่างไร ถึงควรลงทุนได้ในทุกภาวะตลาด

ในภาวะตลาดหมีหรือวิกฤติมีสัญญาณหลายรูปแบบ เช่น การเติบโตทางเศรษฐกิจตกต่ำ (GDP เติบโตติดลบต่อเนื่อง) อัตราการว่างงานสูงขึ้น ภาคธุรกิจมีรายได้ หรือผลกำไรลดลง ทำให้ความเชื่อมั่นของทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค และนักลงทุนต่ำไปด้วย เมื่อมีแต่ข่าวร้ายนักลงทุนก็จะยิ่งตอบสนองรุนแรงมากขึ้น อาจพอสรุปได้ว่านักลงทุนไม่ได้กลัวความเสี่ยง (Risk Aversion) แต่จริง ๆ แล้วกลัวการสูญเสีย (Loss Aversion) ต่างหาก

หนึ่งในวิธีการที่นักลงทุนทำโดยทั่วไปเพื่อลดหรือป้องกันการสูญเสีย คือ การปรับพอร์ตตามสถานการณ์ (Tactical Asset Allocation) ออกจากสินทรัพย์เสี่ยงสูง (หุ้น) ไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่ำแทน เช่น เงินฝาก ตราสารหนี้ หรือสินทรัพย์ที่ hedge กับภาวะวิกฤติได้ดีอย่างทองคำ ทำให้หุ้นยิ่งปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง

แต่การปรับพอร์ตตามสถานการณ์นั้นต้องอาศัยการคัดเลือก Indicators ที่เหมาะกับแต่ละสินทรัพย์ ความแม่นยำของการตัดสินใจเข้า-ออกจากการลงทุน หากตัดสินใจผิดพลาด อาจยิ่งทำให้เกิดความสูญเสียมากขึ้น หรือเสียโอกาสในการลงทุน

อีกวิธีที่เริ่มนิยมคือ การลงทุนใน Futures / Options เพื่อลดการสูญเสียเงินลงทุน หรือแม้แต่ได้กำไร แต่ก็เป็นวิธีการที่ซับซ้อน และมีต้นทุน รวมถึงเป็นเครื่องมือที่มีความผันผวนไม่แพ้หุ้น

หากนักลงทุนไม่อยากใช้วิธีการซับซ้อน ไม่อยากจับจังหวะเข้า-ออกจากการลงทุน แต่ยังคาดหวังการเติบโตของเงินในระยะยาว อยากวางแผนการลงทุนเพื่อรับมือกับความเสี่ยงอย่างรอบคอบ สามารถใช้เทคนิคด้านล่าง ดังนี้

1. เตรียมใจก่อนจัดพอร์ต

เมื่อลงทุนแล้ว นักลงทุนคาดหวังให้พอร์ตลงทุนมีผลตอบแทนที่ดีต่อเนื่อง แต่ความเป็นจริงในโลกการลงทุนเต็มไปด้วยความผันผวน โดยจากสถิติย้อนหลังผลตอบแทนของดัชนี S&P 500 ตั้งแต่ปี 1980-2023 (43 ปี) ดัชนีมีช่วงเวลาที่ติดลบระหว่างปีทุกปี โดยอยู่ระหว่าง -3% ถึง -49% (Hamburger Crisis 2008) แต่มีถึง 33 ปี (76.74%) ที่ผลตอบแทน ณ สิ้นปีเป็นบวก (ซื้อต้นปี ขายสิ้นปี) ดังนั้น ก่อนตัดสินใจลงทุนควรเตรียมใจกับผลลัพธ์ที่ไม่เป็นใจด้วย

ที่มา: JP Morgan, Guide to the Markets, U.S. 2Q 2024, March 31 2024

2. เตรียมเวลาลงทุนให้ยาว

วิธีการลดความเสี่ยงจากการลงทุนที่ดีวิธีหนึ่ง คือ การลงทุนระยะยาว รายงานจาก JP Morgan ศึกษาสถิติการลงทุนใน S&P 500 ช่วงปี 1950 - 2023 ระบุว่าหากลงทุน เป็นระยะเวลา 1 ปี ช่วงของผลตอบแทนที่ท่านอาจได้อยู่ระหว่าง -39% ถึง 47% แต่หากยืดระยะเวลาลงทุนออกไปเป็น 10 ปี ช่วงของผลตอบแทนอยู่ระหว่าง -1% ถึง 19% และหากยืดเวลาลงทุนออกไปถึง 20 ปี ผลตอบแทนที่อาจได้อยู่ระหว่าง 6% ถึง 17% ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 11.2% ต่อปี

3. เพิ่มสินทรัพย์เสี่ยงต่ำเข้าไปในพอร์ต

จากภาพประกอบในข้อ 2 จะเห็นว่าหากไม่อยากขาดทุนจากการลงทุนใน S&P 500 ต้องลงทุนนานถึงประมาณ 20 ปี แต่ถ้าแผนการลงทุนมีระยะเวลาสั้นกว่านั้นล่ะ เช่น 5 ปี การผสมผสานการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่ำอย่างตราสารหนี้ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ซึ่งการลงทุนในพอร์ต (หุ้น) 60/40 (ตราสารหนี้) เพียงระยะเวลา 5 ปีก็ช่วยปิดโอกาสขาดทุนได้ รวมถึงช่วยลดความผันผวนด้วย โดยในรายงานฉบับเดียวกันระบุว่า การลงทุนในพอร์ต 60/40 ช่วยลด Maximum Drawdown ในปี Hamburger Crisis 2008 จาก -49% เหลือเพียง -20% ความเสี่ยงขาลงหายไปเกินครึ่ง

4. จัดพอร์ตโฟลิโอ

การลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายมากขึ้น เช่น ทองคำ หรือ เงินสด จะช่วยลดความเสี่ยงได้ โดยเฉพาะทองคำได้รับการยอมรับว่าเป็น Crisis Hedging Asset ที่ดี โดย 6 ใน 8 ครั้งที่เกิด Recession ทองคำสามารถเอาชนะผลตอบแทนของ S&P 500 โดยเฉลี่ยถึง 37% มีผลตอบแทนนับจากช่วงก่อนเกิด recession 6 เดือนจนถึงหลังเกิด recession 6 เดือนทองคำทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้ถึง 28%

ที่มา: How Does Gold Perform With Inflation, Stagflation, and Recession?, Institutional Investor, May 8, 2023      

อีกทั้ง การถือเงินสดเป็นส่วนหนึ่งของพอร์ตหรือการฝากเงินเป็นวิธีการช่วยลดความผันผวนได้ดี เนื่องจากเงินสดมีความสัมพันธ์ในทางตรงกันข้ามกับตลาดหุ้น นั่นหมายความว่า ในช่วงที่ตลาดหุ้นไม่เป็นใจ เงินสดจะยังคงเป็นสินทรัพย์หนึ่งที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวกได้

การลงทุนต่อเนื่อง หรือ Stay Invest เป็นกลยุทธ์ที่ทรงพลังและสามารถสร้างผลตอบแทนที่น่าพึงพอใจในระยะยาวได้ แม้ในช่วงเวลาตลาดผันผวนหรือเกิดวิกฤติ หากมีเป้าหมายการลงทุนระยะยาวและสามารถรับความเสี่ยงได้ การลงทุนต่อเนื่องเป็นกลยุทธ์ที่ไม่ควรมองข้าม

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th