logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: เกษียณ

“ภาษี” บูมเมอแรงเพิ่มเงินเกษียณ

โดย สุทธสินี สุวรรณาพิสิทธิ์ ที่ปรึกษาการเงิน AFPTTM

เผยแพร่วันที่ 07/07/2567

 

ภาษี เป็นเรื่องใกล้ตัวของคนมีรายได้ ที่ต้องจ่ายให้กับรัฐบาล การรู้ถึงกฏเกณฑ์การเสียภาษี จะทำให้เราได้ประโยชน์ในรูปเงินคืนกลับมาหาได้อย่างไม่ยากเลย แต่ความรู้ด้านภาษี ไม่ได้บรรจุในแผนการเรียนพื้นฐาน ทำให้เมื่อเริ่มมีรายได้และเป็นผู้เสียภาษี คนส่วนใหญ่โดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือน ก็จ่ายภาษีไปโดยขาดความรู้และขาดการวางแผนภาษี ทำให้แทนที่จะได้เงินภาษีคืน หรือ จ่ายน้อยลง กลับต้องจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น

การมีความรู้ความเข้าใจพื้นฐานในการคำนวณภาษีจึงสำคัญและจำเป็นในการวางแผนภาษีรายได้ เพราะอายุการทำงานของคนส่วนใหญ่ หากเริ่มทำงานที่อายุ 22 ปี เกษียณที่อายุเฉลี่ย 60 ปี แปลว่า มีอายุการทำงาน 38 ปี และมากพอที่จะทำให้วางแผนภาษีและใช้สิทธิประโยชน์ในส่วนลดหย่อนภาษีด้านการออมและลงทุน ที่รัฐกำหนดมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การออมและลงทุนในภาคสมัครใจ ในรูปแบบประกันชีวิต RMF SSF หรือ PVD ดังนี้

  1. การออมเงินในระบบประกันชีวิต ที่ลดหย่อนได้รวม 300,000 บาท (ตลอดชีพหรือออมทรัพย์100,000 บาท และแบบบำนาญ 200,000 บาท)
  2. การลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) หรือกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF)
  3. การลงทุนสะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund : PVD)
  4. ประกันสังคม เป็นการออมภาคบังคับ ที่รัฐให้นายจ้างและลูกจ้างต้องส่งเงินสมทบ โดยเกษียณอายุ 55 ปี จะมีเงินใช้หลังเกษียณ (ยังไม่รวมผลประโยชน์ด้านค่ารักษาพยาบาล และประโยชน์อื่น ๆ อีกมากมาย)   

จะเห็นได้ว่า หากวางแผนการออมและลงทุนตั้งแต่เริ่มต้นชีวิตการทำงาน เราจะได้ประโยชน์ทางภาษีและเงินสะสมไว้ใช้ยามเกษียณได้อย่างดี   เช่น ปัจจุบัน อายุ 30 ปี รายได้เดือนละ 50,000 บาท ปีละ 600,000 บาท โสด ไม่มีภาระใด ๆ พ่อแม่อายุ 60ปี รับเงินเกษียณทั้งสองคน สิทธิลดหย่อนภาษีจะมีดังนี้

  1. หักค่าใช้จ่ายเหมา 100,000 บาท (50% ไม่เกิน 100,000 บาท)
  2. ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท
  3. ทำประกันชีวิตออมทรัพย์ 100,000 บาท
  4. เงินสะสมใน PVD (กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ) ปีละ 30,000 บาท  (เลือกสะสม 5% ของเงินเดือน เท่ากับ 2,500บาท รวม 12เดือน)
  5. ลงทุนใน SSF ปีละ 40,000 บาท
  6. ประกันสังคม 9,000 บาท

เมื่อคำนวณภาษีจะได้ดังนี้รายได้ 600,000 หักค่าใช้จ่ายและลดหย่อนรวม (100,000 + 60,000 + 100,000 + 30,000 + 40,000 + 9,000) 339,000 บาท นำ 600,000 - 339,000 = 261,000 บาท เสียภาษีรายได้ทั้งปีเท่ากับ 5,550 บาท ซึ่งการมีค่าลดหย่อนในส่วนเงินออมและลงทุนรวมต่อปี 179,000 บาท หากเทียบกับรายได้ต่อปีนั้น สัดส่วนการออมถึง 29.83% อาจกระทบสภาพคล่องในการใช้จ่ายเงินที่ลดน้อยลง

แต่หากไม่ได้ออมหรือลงทุนตามแผนด้านบน ทำให้ส่วนหักจะมีเพียงค่าใช้จ่ายเหมา 100,000 บาท ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท และประกันสังคม 9,000 บาท รวมค่าลดหย่อนเพียง 169,000 บาท

นำ 600,000 - 169,000 = 431,000 จะเสียภาษี 20,600 บาท

จะเห็นได้ว่า ภาษีที่เสียต่างกันถึง 15,050 บาท และเงินลดหย่อนอาจใช้จ่ายหมด ไม่ได้มาเก็บออมหรือลงทุนอย่างสม่ำเสมอแบบคนวางแผนภาษี และเมื่อเกษียณอายุแล้ว ดังนั้น การวางแผนภาษี จึงเป็นบูมเมอแรงสะท้อนกลับมาเป็นเงินเกษียณที่ได้เพิ่มขึ้น

ความรู้พื้นฐานในการวางแผนภาษี  จึงมีความสำคัญ  โดยเฉพาะปัจจุบันที่สังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย คนวัยเกษียณมีเพิ่มมากกว่า 20% ของโครงสร้างประชากร เด็กเกิดในอัตราที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย และคนวัยทำงานคือกลุ่มคนที่จ่ายภาษีเข้าระบบให้รัฐบาล เพื่อใช้ในการดูแลสิทธิพื้นฐานของประชากรไทย ดังนั้น กลุ่มคนเสียภาษีจึงควรวางแผนการเงิน และวางแผนภาษีไปพร้อม ๆ กัน เพื่อเพิ่มเงินในกระเป๋า

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th