logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ภาษีและมรดก

เมื่อไหร่ ควรเปิดบริษัท : จุดคุ้มทุนในแง่การบริหารภาษีอากร

โดย มาลียา จูฑะเตมีย์ นักวางแผนการเงิน CFP®

เผยแพร่วันที่ 23/06/2567

 

โลกยุคปัจจุบัน ได้เปิดโอกาสให้เราสามารถมีช่องทางในการประกอบอาชีพได้มากมายหลากหลาย และสามารถเริ่มต้นเป็นเจ้าของธุรกิจของตนเองได้โดยง่าย เช่น การขายของออนไลน์ การเป็น Content Creator ซึ่งอาจเริ่มต้นจากความคิดที่ว่าลองดูก่อน ลองใช้ชื่อตัวเอง (บุคคลธรรมดา) เพราะยังไม่แน่ใจว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ไม่ต้องการวุ่นวายกับการจดทะเบียนใด ๆ ไม่ต้องการมีต้นทุนเพิ่ม

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีรายได้ก็ตามมาด้วยภาระภาษีที่เกิดขึ้น หมายความว่าจะต้องบริหารภาษีให้เหมาะสม โดยคำถามสำคัญ คือ วันนี้ผู้เขียนจะมาเปรียบเทียบให้ทุกท่านเห็น ว่าในแง่ภาษีอากร ควรจะเปลี่ยนจากการประกอบธุรกิจในนามบุคคลธรรมดา เป็นนิติบุคคล ด้วยการจดทะเบียนเปิดบริษัทเมื่อไหร่ ดังนั้น สิ่งที่ต้องพิจารณามีดังนี้

1. การเปิดบริษัทเป็นการร่วมกันก่อการในการประกอบธุรกิจ ไม่ใช่บุคคลคนเดียว ดังนั้น ในการจดทะเบียนจะต้องมีชื่อผู้ถือหุ้นอย่างน้อยที่สุด 2 คน ซึ่งการมีหุ้นส่วน หมายความว่า ไม่ใช่เจ้าของคนเดียวทั้งหมด เงินของบริษัทต้องแยกกระเป๋าขาดจากเงินส่วนตัวให้ชัดเจน

2. ในการเริ่มต้นกิจการ คุณต้องใส่เงินลงทุนตั้งต้นเข้าไป คือ ทุนจดทะเบียนบริษัท จากนั้นนำไปใช้เป็นเงินหมุนเวียนในกิจการ เมื่อกิจการมีกำไรและจะนำเงินกำไรไปใช้ได้ ต้องผ่านกระบวนการปิดงบ เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัท จึงจะสามารถปันผลกำไรออกมาให้ผู้ถือหุ้นตามสัดส่วนหุ้นที่ถือ ซึ่งเงินปันผลนี้จะต้องถูกหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หัก ณ ที่จ่ายไว้อีก 10%

3. ต้นทุน ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในการเปิดและดำเนินกิจการ สามารถดำเนินการจดทะเบียนบริษัทด้วยตนเอง หรือจ้างสำนักงานบัญชี หรือบริษัทที่รับจ้างบริการในด้านนี้ โดยมีอัตราค่าจ้างอยู่ตั้งแต่หลักพันบาทถึงหลักหมื่นบาท และเตรียมค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (ปัจจุบันอัตราค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 6,600 บาท รวมค่าคัดเอกสาร) นอกจากนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายในเรื่องการจัดทำบัญชี และค่าสอบบัญชีเพื่อปิดงบประจำปีเพิ่มขึ้นอีกด้วย

หลังจากนั้นให้พิจารณาจุดคุ้มทุนในแง่การบริหารภาษีอากร ระหว่างบุคคลธรรมดากับนิติบุคคล โดยภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คำนวณจากเงินได้หักค่าใช้จ่ายหักค่าลดหย่อน ได้เป็นเงินได้สุทธิ แล้วนำไปคำนวณภาษีในอัตราก้าวหน้า เริ่มตั้งแต่ 0% - 35%  

ภาษีเงินได้นิติบุคคล คำนวณจากรายได้หักค่าใช้จ่าย ได้เป็นกำไรสุทธิ แล้วนำไปคำนวณภาษี ซึ่งมีอัตราสำหรับกิจการที่เป็น SME (ทุนจดทะเบียน ไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการประกอบกิจการไม่เกิน 30 ล้านบาท)

อาจกล่าวได้ว่าการเปิดบริษัทจะเสียภาษีน้อยกว่าบุคคลธรรมดา ก็ต่อเมื่อเงินได้สุทธิเกินกว่า 1 ล้านบาท เพราะบุคคลธรรมดาจะต้องเริ่มเสียภาษีในอัตรา 25% แต่หากเริ่มต้นกิจการด้วยการเป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) และเปรียบเทียบโดยคิดว่าเงินได้สุทธิ = กำไรสุทธิ จุดที่ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เท่ากับภาษีเงินได้นิติบุคคล คือ เมื่อกำไรสุทธิ เท่ากับ 800,000 บาท ซึ่งจะคำนวณภาษีออกมาได้เท่ากับ 75,000 บาท หากมีเงินได้เงินได้สุทธิ/กำไรสุทธิ เกินกว่า 800,000 บาทแล้ว การเสียภาษีในรูปแบบนิติบุคคลจะถูกกว่าแบบบุคคลธรรมดา

ตัวอย่างข้างต้นนี้ เป็นเพียงการประมาณเบื้องต้นแบบคร่าว ๆ  เพราะภาษีเงินได้บุคคลบุคคลธรรมดา ยังมีค่าลดหย่อนที่สามารถมาหักได้ ต่างจากกรณีบริษัทที่หักได้เพียงค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับกิจการเท่านั้น ในทางกลับกัน การเปิดบริษัทสามารถตั้งค่าตอบแทนให้กับตัวเองซึ่งเป็นผู้ทำงานให้บริษัทในฐานะพนักงานได้ ค่าตอบแทนนี้ก็เป็นค่าใช้จ่ายของบริษัท ทำให้บริษัทมีกำไรสุทธิลดลง เป็นการวางแผนภาษีด้วยการกระจายหน่วยภาษีในรูปแบบหนึ่ง ดังนั้น การจะสรุปว่าจุดคุ้มทุนของการเปิดบริษัทจะอยู่ที่เท่าไร ต้องอาศัยข้อมูลของแต่ละบุคคลมาทำการคำนวณเปรียบเทียบโดยละเอียดอีกครั้ง

จุดคุ้มทุนในแง่ภาษีอากร เป็นเพียงแง่มุมเดียวในการพิจารณาเรื่องการจัดตั้งบริษัท ประโยชน์ที่สำคัญกว่านั้น คือ การแยกระหว่างตัวเอง และธุรกิจออกจากกัน ซึ่งจะเพิ่มความน่าเชื่อถือ เพิ่มโอกาสการเติบโต และเป็นการจำกัดความรับผิดชอบต่อหนี้สินที่อาจจะเกิดขึ้นตามทุนจดทะเบียน

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th