logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ลงทุน

สไตล์ไหน...ปัง! ลงทุนให้ตรงสไตล์ เพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทน

โดย พิชญา ซุ่นทรัพย์ นักวางแผนการเงิน CFP®

เผยแพร่วันที่ 18/06/2024

การเลือกสไตล์การลงทุนเป็นมีความสำคัญอย่างต่อการลงทุน เนื่องจากแต่ละสไตล์มีความแตกต่างกัน ทั้งในเรื่องผลตอบแทนและความเสี่ยง ดังนั้นจึงควรทำความเข้าใจแต่ละสไตล์การลงทุนและตัดสินใจเลือกสไตล์ให้เหมาะสมกับตนเอง

 

ทำความเข้าใจสไตล์การลงทุนแต่ละประเภท

  • การลงทุนแบบเชิงรุก (Active) vs. การลงทุนแบบเชิงรับ (Passive) การลงทุนแบบเชิงรุกจะเกี่ยวข้องกับการคัดเลือกหลักทรัพย์และจับจังหวะตลาดเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นกว่าผลตอบแทนปกติ ในขณะที่การลงทุนแบบเชิงรับเน้นกระจายการลงทุนเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนและความเสี่ยงใกล้เคียงกับดัชนีที่ต้องการ
  • หุ้นเติบโต (Growth) vs. หุ้นคุณค่า (Value) หุ้นเติบโตในที่นี้ คือ หุ้นที่มีการเติบโตของกำไรในอัตราที่สูง เช่น หุ้นในกลุ่มผู้พัฒนานวัตกรรม เป็นต้น ส่วนหุ้นคุณค่า คือ หุ้นที่มีฐานะการเงินแข็งแกร่งในราคาที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น หรือมีราคาถูก
  • หุ้นปันผล (Dividend) เน้นเลือกลงทุนในหุ้นที่มีการจ่ายปันผลอย่างสม่ำเสมอ ที่สำคัญจะต้องมีโอกาสที่มูลค่าของกิจการจะเพิ่มขึ้นหรือมีการเติบโตของเงินปันผลด้วย ซึ่งโดยทั่วไปแล้วหุ้นปันผลมักจะมีความผันผวนของราคาน้อยกว่าหุ้นอื่น ๆ

 

เข้าใจเป้าหมายการลงทุนและความชอบของตนเอง

พิจารณาความสำคัญของเป้าหมาย และระยะเวลาการลงทุนว่าสั้นหรือยาว รู้ความเสี่ยงหรือผลขาดทุนที่ตนเองรับได้ รวมไปถึงข้อจำกัดการลงทุน อย่างเรื่องของ สภาพคล่อง ภาษี เงื่อนไขการลงทุนส่วนบุคคล เป็นต้น

 

พิจารณาเลือกสไตล์การลงทุนที่ใช่

  • เลือกการลงทุนแบบเชิงรุก หากคาดหวังผลตอบแทนที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด และเชื่อว่าตนเองหรือผู้จัดการกองทุน มีข้อมูลที่มากกว่า มีเวลาในการติดตาม มีความสามารถในการวิเคราะห์ ตัดสินใจเลือก และจับจังหวะได้ดีกว่านักลงทุนคนอื่น ๆ แต่ต้องไม่ลืมว่าการ Active มักมาพร้อมกับต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นด้วย
  • เลือกการลงทุนเชิงรับ หากให้ความสำคัญกับเรื่องของค่าใช้จ่าย และคาดหวังผลตอบแทนใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของดัชนี ซึ่งจากสถิติพบว่าในระยะยาวแล้วกองทุนที่มีนโยบายลงทุนแบบเชิงรับมักจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่านโยบายลงทุนแบบเชิงรุก
  • เลือกหุ้นเติบโต สำหรับผู้ชื่นชอบลงทุนในกิจการที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว มีอัตรากำไรและผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นสูง คาดหวังว่าราคาของหุ้นจะปรับตัวขึ้นได้อย่างรวดเร็ว และสามารถทนรับความผันผวนของราคาได้ เนื่องจากหุ้นเติบโตมักจ่ายปันผลน้อยหรือไม่จ่ายเพื่อนำเงินไปขยายกิจการ ซึ่งหากการลงทุนนั้นผิดพลาดอาจส่งผลต่อราคาอย่างรุนแรงได้ ดังนั้นควรมีการติดตามข่าวสารของกิจการอย่างใกล้ชิดด้วย
  • เลือกหุ้นคุณค่า หากมีความเข้าใจเกี่ยวกับปัจจัยพื้นฐานของหุ้นที่จะลงทุน มีระยะเวลาลงทุนค่อนข้างยาวสามารถอดทนรอการเติบโตของกิจการได้ แต่การเลือกลงทุนสไตล์นี้ต้องมีความสามารถในการวิเคราะห์และมองเห็นภาพในอนาคตของบริษัท ทำให้เห็นว่ามูลค่าที่แท้จริงสูงกว่าราคาในปัจจุบันจึงตัดสินใจเข้าลงทุน และรอคอยกระทั่งกิจการเติบโตตามที่วิเคราะห์ ซึ่งหากเป็นจริงราคาของหุ้นจะวิ่งเข้าหากมูลค่าที่ประเมินไว้
  • เลือกหุ้นปันผล เหมาะสมกับผู้ที่ให้ความสำคัญกับสร้างรายได้สม่ำเสมอในระยะยาว เพื่อตอบโจทย์ความต้องการใช้จ่าย เช่น กลุ่มผู้เกษียณ เป็นต้น หรือถ้าเป็นผู้ที่ไม่ชอบความผันผวนมากนัก ราคาหุ้นปันผลมักจะมีเสถียรภาพมากกว่าเนื่องจากมีเงินปันผลรองรับ

 

เห็นได้ว่าการลงทุนแต่ละสไตล์เหมาะกับนักลงทุนที่แตกต่างกันไป ผู้ลงทุนควรพิจารณาแผนการลงทุนและข้อจำกัดของตนเอง เพื่อเลือกสไตล์การลงทุนที่เหมาะสม แต่ต้องไม่ลืมว่าไม่มีสไตล์การลงทุนใดที่ดีที่สุด การผสมสไตล์การลงทุนให้เหมาะกับวัตถุประสงค์การลงทุนหรือเหมาะสมกับสถานการณ์จะช่วยให้ผู้ลงทุนมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่คาดหวังมากขึ้นได้ ทั้งนี้ผู้ลงทุนควรติดตามทบทวนการลงทุนของตนเองอย่างสม่ำเสมอด้วย

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th