logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ประกันภัย

ถึงเวลาอัปเดตประกันสุขภาพของคุณหรือยัง?

โดย วิวัฒน์ นวกานนท์ ที่ปรึกษาการเงิน AFPTTM

เผยแพร่วันที่ 16/06/2567

 

ในยุคที่เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์ก้าวกระโดดไปอย่างมาก ผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพเองก็ต้องมีการพัฒนารูปแบบใหม่ให้ทันสมัยและรองรับต่อรูปแบบการรักษาที่ปรับเปลี่ยนไปเช่นกัน ทั้งในด้านวงเงินความคุ้มครองที่ขยายเพิ่มขึ้นและความคุ้มครองเรื่องการรักษาให้ครอบคลุมในนวัตกรรมทางการแพทย์ใหม่ๆ  รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของตัวสัญญาให้เป็น “มาตรฐานประกันสุขภาพใหม่”  ทำให้ผู้เอาประกันได้ประโยชน์เพิ่มมากขึ้น

“มาตรฐานประกันสุขภาพแบบใหม่” (New Health Standard) เป็นประกาศจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เพื่อให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ทางการแพทย์  ลดความซับซ้อนของสัญญาประกันสุขภาพที่แต่ละบริษัทประกันตั้งหัวข้อผลประโยชน์ไม่เหมือนกัน ทำให้เปรียบเทียบกันได้ยาก รวมถึงเนื้อหาข้อกำหนดบางอย่างยังมีช่องโหว่ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้ผู้เอาประกันโดนเอาเปรียบจากการไม่สามารถเบิกเคลมได้ หากหัวข้อการรักษาไม่ตรงกับข้อกำหนดที่ระบุความคุ้มครองในกรมธรรม์ คปภ. จึงทำมาตรฐานประกันสุขภาพใหม่นี้ขึ้นมา เพื่อให้เนื้อหาในกรมธรรม์ของสัญญาประกันสุขภาพมีความทันสมัย คุ้มครองได้ครอบคลุมมากขึ้น อยู่บนมาตรฐานเดียวกัน เปรียบเทียบกันได้ และไม่เกิดการเอาเปรียบผู้ทำประกัน

เมื่อเข้าใจใน
“มาตรฐานประกันสุขภาพแบบใหม่” แล้ว สิ่งที่เราควรสำรวจเพิ่มเติมว่าถึงเวลาที่จะอัปเดตประกันสุขภาพฉบับใหม่หรือยัง มี 7 ข้อดังนี้

  1. ค่ารักษาพยาบาลและวงเงินความคุ้มครองที่มีอยู่ : ตรวจสอบว่าแผนประกันสุขภาพที่มีอยู่นั้นมีค่ารักษาพยาบาลเป็นแบบไหน เป็นแบบ “แยกค่าใช้จ่าย” หรือ ”เหมาจ่าย” วงเงินคุ้มครองเพียงพอต่อการใช้งานจริงในปัจจุบันหรือไม่ เช่น เคยทำไว้ 15 ปีที่แล้วแบบประกันค่าห้องที่ 1,000 ต่อคืน มีวงเงินค่ารักษาหนึ่งแสนบาท ซึ่งถ้าคิดว่าไม่เพียงพอในปัจจุบันแล้วก็ควรพิจารณาทำเพิ่มหรือเปลี่ยนแผนประกัน
  1. ผลประโยชน์ความคุ้มครองที่เพิ่มขึ้น หรือลดลง : แผนประกันสุขภาพใหม่มีความคุ้มครองหมวดอื่นๆ เพิ่มเติมดีกว่าเดิมหรือไม่ เช่น มีความคุ้มครองค่าใช้จ่ายการตรวจสุขภาพ ค่ารักษาทางทันตกรรม ค่ารักษาแบบผู้ป่วยนอก เป็นต้น ทั้งนี้ควรต้องตรวจสอบด้วยว่ามีความคุ้มครองอะไรที่หายไปหรือไม่ เพราะบางครั้งแบบประกันเดิมก็มีความคุ้มครองบางรายการ ที่ครอบคลุมมากกว่าแบบประกันใหม่เช่นกัน
  1. เบี้ยประกัน : การเปลี่ยนแผนประกันใหม่ที่ดีขึ้น วงเงินคุ้มครองมากขึ้นอาจจะชำระเบี้ยประกันเพิ่มขึ้นอีกไม่มาก ซึ่งอาจจะคุ้มค่ามากกว่า และ หากต้องชำระเบี้ยเพิ่มขึ้น ก็ควรพิจารณาความสามารถในการชำระเบี้ยและแผนการเงินในระยะยาวของเราด้วย
  1. สิทธิประโยชน์ใหม่ๆ : ตรวจสอบว่าแผนประกันใหม่นั้นมีสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมที่เราสนใจหรือไม่ เช่น บริการพบแพทย์ผ่านช่องทางออนไลน์ (Telemedicine), ส่วนลดเบี้ยประกันสำหรับผู้ที่สุขภาพดี เป็นต้น
  1. ความเหมาะสมกับสไตล์การใช้ชีวิต : ต้องดูว่าแผนประกันใหม่ที่เราสนใจนั้นเหมาะสมกับสไตล์การใช้ชีวิตและความต้องการของเราหรือไม่ ตัวอย่างเช่น ไม่ว่าอย่างไรเราก็จะเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแน่นอน แต่แผนประกันที่มีอยู่ดูแล้วไม่เพียงพอแน่นอน เราก็ต้องดูแผนประกันใหม่ที่เหมาะสมกับโรงพยาบาลที่เราคาดว่าจะใช้บริการ ซึ่งหากต้องชำระเบี้ยเพิ่มเติม เราต้องพิจารณาความสามารถในการชำระเบี้ยของเราด้วย
  1. สุขภาพร่างกายของเรา : ถ้าเราอยู่ในช่วงที่อายุยังไม่เยอะ ข้อนี้อาจจะไม่ได้มีปัญหาอะไรต้องกังวลมากนัก สามารถปรับแผนประกันสุขภาพ โดยการสมัครใหม่แทนเล่มเก่าได้อย่างสบาย การทำประกันสุขภาพฉบับใหม่ ควรทำในช่วงที่สุขภาพร่างกายเรายังสมบูรณ์และแข็งแรงดีที่สุด เพื่อจะได้รับผลประโยชน์ในเรื่องความคุ้มครองอย่างเต็มที่ และไม่ต้องเสี่ยงกับการโดนพิจารณาเพิ่มเบี้ยประกัน
  1. ความคุ้มครองที่ยกเว้น หรือ อาการป่วยที่เรื้อรัง : เรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องสำคัญ ถ้าประกันฉบับที่มีอยู่นั้นให้ความคุ้มครองครบถ้วน และเกิดมีโรคประจำตัวเกิดขึ้นในระหว่างทางที่ถือประกันฉบับเดิมนั้น เราควรพิจารณาเป็นการทำฉบับใหม่เพิ่มเติมเลยจะดีกว่า เพราะถ้ายกเลิกเล่มเดิมไปจะทำให้เราเสียประโยชน์ในความคุ้มครองโรคนั้นๆ ที่คาดว่าประกันฉบับใหม่จะยกเว้นความคุ้มครองไป

เมื่อสำรวจครบ 7 ข้อแล้วสรุปได้ว่าควรมีการอัปเดตแผนประกันสุขภาพใหม่ ก็ควรพิจารณาในเรื่องระยะเวลาของการทำประกันสุขภาพฉบับใหม่โดยทำประกันสุขภาพฉบับใหม่ ก่อนที่เล่มเดิมจะหมดความคุ้มครอง 30 - 120 วัน เพราะว่า

  • ประกันสุขภาพโดยทั่วไป จะมีระยะเวลารอคอยในการคุ้มครอง 30 วัน หลังประกันอนุมัติ
  • บางโรค จะมีระยะเวลารอคอยในการคุ้มครอง 60-120 วัน แล้วแต่แบบประกันและสัญญาเพิ่มเติม
  • บางครั้งเราอาจตรวจเจออาการหรือโรค ขณะสมัครทำประกัน ซึ่งจะก่อให้เกิดการยกเว้นความคุ้มครอง, เพิ่มเบี้ยประกัน หรืออาจทำประกันสุขภาพใหม่ไม่ได้เลย ถ้าเรารู้ตัวก่อนก็จะยังสามารถเก็บประกันสุขภาพเล่มเดิมไว้ได้

การอัปเดตประกันสุขภาพนั้นถือเป็นกระบวนการในการวางแผนทางการเงินที่สำคัญ เป็นการตรวจสอบแผนทางการเงินของเราในด้านการจัดการความเสี่ยง ช่วยปรับปรุงความคุ้มครองให้ตรงตามความจำเป็นมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา และดูแลสุขภาพที่ดีขึ้นโดยสามารถเข้าถึงนวัตกรรมทางการแพทย์ใหม่ๆ อีกด้วย

การอัปเดตนั้นจะทำให้มีแผนประกันสุขภาพที่เหมาะสมที่สุด โดยสามารถตรวจสอบตามขั้นตอนนี้ได้ด้วยตัวเอง หากยังมีความสงสัยในเรื่องเงื่อนไขความคุ้มครอง หรือเงื่อนไขสัญญาต่างๆ ก็สามารถสอบถามได้ที่ตัวแทนประกัน เจ้าหน้าที่บริษัท หรือนักวางแผนการเงินมืออาชีพ ก็จะได้คำแนะนำที่ชัดเจนและตรงประเด็นที่สุด

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th