logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ประกันภัย

4 รู้ ประกันชดเชยรายได้: ควรควรรู้ เพิ่มความอุ่นใจในวันที่ไม่คาดฝัน

โดย บุณยนุช ยุทธ์ประทุม นักวางแผนการเงิน CFP®

เผยแพร่วันที่ 16/06/2567

 

เมื่อเกิดเจ็บป่วยและจำเป็นต้องหยุดงาน และในระหว่างหยุดงานอาจมีค่ารักษาพยาบาลที่ต้องจ่าย และรายได้ที่เคยได้รับก็หายไป ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หลาย ๆ คนจำต้องทนกับอาการเจ็บป่วยและหวังว่าอาการป่วยจะหายไปเอง แต่หากภาวะเจ็บป่วยมีความรุนแรงมากขึ้นหรือสะสมจนกลายเป็นโรคเรื้อรัง ก็อาจทำให้โรคที่เป็นอยู่นั้นลุกลามเป็นเรื่องใหญ่

สำหรับผู้ที่มีความกังวลใจเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายส่วนเกินในการรักษาตัว แม้ว่าจะมีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล หรือประกันสุขภาพที่มีความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลแล้ว ยังมีประกันสุขภาพอีกกลุ่มหนึ่งที่จ่ายเงินชดเชยรายได้ให้ผู้เอาประกันระหว่างเข้าอยู่รักษาตัวในโรงพยาบาลอีกอย่างที่เรียกว่า “ประกันชดเชยรายได้”

  1. การประกันชดเชยรายได้คืออะไร เป็นประกันที่จัดอยู่ในกลุ่มหนึ่งของประกันสุขภาพที่จ่ายเงินรายวันให้กับผู้เอาประกันเมื่อเจ็บป่วยและจำเป็นต้องนอนอยู่รักษาในโรงพยาบาล รวมถึงการเข้ารับการรักษาหรือการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับโดยไม่จำเป็นต้องนอนอยู่รักษาในโรงพยาบาล (Day Case) ทั้งนี้เพื่อชดเชยรายได้ให้กับผู้เอาประกันที่ต้องสูญเสียไปในวันที่ต้องหยุดงานและรักษาตัวที่โรงพยาบาล โดยจะได้รับเงินประกันชดเชยรายได้ตามวงเงินที่ได้ทำไว้ เช่น 500 บาท 1,000 บาท หรือ 2,000 บาทต่อวัน
  2. การประกันชดเชยรายได้เหมาะกับใครบ้าง
    1. กลุ่มแรก ได้แก่ เด็ก เยาวชน พ่อบ้าน แม่บ้าน พนักงานวัยทำงาน เป็นกลุ่มที่มีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลอยู่แล้ว แต่วงเงินค่าห้องฯ (ค่าห้อง ค่าอาหาร และค่าบริการโรงพยาบาล) ของประกันสุขภาพกลุ่มค่ารักษาพยาบาลที่ทำไว้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลที่ใช้บริการในปัจจุบัน เช่น ประกันสุขภาพมีค่าห้องฯ 3,000 บาท แต่โรงพยาบาลที่ใช้บริการนั้นมีราคาค่าห้องฯ 4,000-5,000 บาท ผู้เอาประกันสามารถทำประกันชดเชยรายได้เพิ่มอีก 1,000-2,000 บาท เพื่อชดเชยส่วนเกินของค่าห้องฯ นี้ได้
    2. กลุ่มที่ 2 ได้แก่ ผู้ประกอบอาชีพอิสระหรือผู้มีวิชาชีพเฉพาะ ไม่ว่าการรักษาพยาบาลของคนกลุ่มนี้จะเลือกใช้จากสิทธิบัตรทอง สิทธิพิเศษอื่น ๆ หรือประกันสุขภาพส่วนตัว แต่การขาดงานไปหนึ่งวันจะหมายถึงรายได้ที่ต้องสูญเสียไปด้วย ด้วยเหตุนี้การมีประกันชดเชยรายได้จึงเป็นการลดความกังวลเกี่ยวกับรายได้ที่หายไปแม้ในยามเจ็บป่วย โดยเฉพาะการเข้าอยู่รักษาในโรงพยาบาลเป็นเวลาหลายวันหรือเป็นเดือน เพราะค่าใช้จ่ายจะไม่หยุดตามวันที่เจ็บป่วย ยิ่งมีภาวะเจ็บป่วยที่ต้องนอนรักษาในโรงพยาบาลนาน ค่าใช้จ่ายก็จะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ ยกตัวอย่างเช่น     ผู้เอาประกันมีรายได้เฉลี่ยวันละ 2,000 บาท การรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 5 วัน ทำให้ขาดรายได้ 10,000 บาท ซึ่งการเจ็บป่วยแต่ละครั้งจะทำให้ผู้ที่อยู่ในภาวะเจ็บป่วยนั้นมีปัญหาทั้งด้านร่างกายและด้านเศรษฐกิจ แต่จะไม่เสียกำลังใจถ้าได้รับเงินจากการประกันชดเชยรายได้ ก็จะเป็นการช่วยลดความกังวลใจเกี่ยวกับรายได้ที่หายไปและทำให้สบายใจขึ้น
    3. กลุ่มที่ 3 คือ เจ้าของธุรกิจ เป็นกลุ่มที่ทำประกันสุขภาพกลุ่มค่ารักษาพยาบาลที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาลเกือบทั้งหมดแล้ว และแม้ว่าจะมีส่วนต่างของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ก็อาจไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่ต้องจ่ายเพิ่ม แต่การมีประกันชดเชยรายได้ก็ช่วยให้ดีต่อใจและเพิ่มความสะดวกสบายได้มากขึ้น ซึ่งอาจนำมาใช้ในการอัพเกรดค่าห้องพัก ค่าอาหาร หรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าเดินทางของผู้มาดูแล เป็นต้น
  3. การประกันชดเชยรายได้ต้องจ่ายอย่างไร สำหรับผู้มีประกันสุขภาพและเพิ่มกลุ่มประกันชดเชยรายได้ในกรมธรรม์เดียวกัน โดยการทำเคลมประกันพร้อมกัน ค่าชดเชยรายได้จะถูกสั่งจ่ายเป็นเช็คหรือโอนเข้าบัญชีธนาคารที่ผู้เอาประกันได้แจ้งกับบริษัทประกันไว้แล้ว หรือผู้เอาประกันสามารถนำใบเสร็จและใบรับรองแพทย์ไปทำเรื่องเคลมกับบริษัทประกันภายหลังได้ โดยทั่วไปผู้เอาประกันจะได้เงินจากประกันชดเชยรายได้เท่ากับจำนวนวันที่เข้าอยู่รักษาในโรงพยาบาลตามจำนวนเงินที่ทำประกันไว้ เช่น 1,000 บาท แต่ในบางสัญญาอาจมีผลประโยชน์พิเศษอื่น ๆ เพิ่มด้วย เช่น เมื่อพักรักษาใน ICU ได้เพิ่ม 3 เท่าของ 1,000 บาท, เมื่อได้รับการผ่าตัดโดยวางยาสลบ ได้เพิ่ม 5 เท่าของ 1,000 บาท หรือเป็นผู้ป่วยที่เป็นโรคร้ายแรงเฉียบพลัน ได้เพิ่ม 25 เท่าของ 1,000 บาท ทั้งนี้ การทำประกันชดเชยรายได้นั้นจะมีระยะรอคอย (Waiting Period) แต่จะไม่คุ้มครองโรคประจำตัวที่เป็นมาก่อน หรือโรคที่เป็นมาตั้งแต่กำเนิด และข้อยกเว้นอื่น ๆ ตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ เช่นเดียวกับการทำประกันสุขภาพกลุ่มอื่น ๆ หากผู้เอาประกันทำประกันตอนสุขภาพดี ไม่มีประวัติการรักษาโรคใด ๆ เมื่อพ้นระยะรอคอยก็จะได้รับความคุ้มครองทั้งหมดตามวงเงินและผลประโยชน์ที่กรมธรรม์ระบุไว้
  4. การประกันชดเชยรายได้ต้องเลือกอย่างไรให้เหมาะสม ประกันชดเชยรายได้เป็นตัวเลือกเสริมเพื่อเพิ่มความ  อุ่นใจเรื่องค่าใช้จ่ายส่วนเกินที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาล และ/หรือ ชดเชยรายได้ที่หายไประหว่างเจ็บป่วย แต่การทำประกันชดเชยรายได้ไม่ควรทำเกินกำลังที่สามารถชำระเบี้ยประกันได้โดยไม่เดือดร้อนสภาพคล่องทางการเงินของ    ผู้เอาประกัน การทำประกันชดเชยรายได้ที่มากอาจทำให้ต้องชำระเบี้ยประกันที่เพิ่มขึ้นจนเกินไป เพราะหลักของการทำประกันสุขภาพเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเข้ารับการรักษาและลดความกังวลในเรื่องรายได้ที่ขาดหายไป

การทำประกันชดเชยรายได้ เป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายจากภาวะเจ็บป่วยเมื่อต้องเข้าอยู่รักษาในโรงพยาบาล   และเพิ่มความสะดวกสบายระหว่างการรักษา ซึ่งจะช่วยให้ผู้เอาประกันรู้สึกอุ่นใจและสบายใจ และยังมีรายได้ชดเชยระหว่างเจ็บป่วยด้วย ดังนั้นการเพิ่มสัญญาประกันชดเชยรายได้ในประกันสุขภาพจึงเป็นทางเลือกที่ดีทางหนึ่งสำหรับผู้เอาประกันทั้ง 3 กลุ่มดังกล่าวข้างต้น แต่ทั้งนี้ผู้ชำระเบี้ยประกันจะต้องบริหารจัดการเงินของตนเองให้ดี โดยเลือกทำประกันชดเชยรายได้ตามสภาพคล่องทางการเงินของตนเองอย่างเหมาะสม

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th