บทความ: บริหารจัดการเงิน
คู่รัก LGBTQ+ กับบ้านในฝัน: กู้ร่วม ง่ายกว่าที่คิด
เผยแพร่วันที่ 13/06/2024
“บ้าน” เป็นมากกว่าแค่ที่อยู่อาศัย และยังเป็นอ้อมกอดที่โอบล้อมความรักของคู่ชีวิต ที่จะได้ใช้ชีวิตและสร้างรากฐานร่วมกัน ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นใครรักใคร ความฝันอยากมีบ้านหลังงามไม่ต่างกัน เช่นเดียวกับคู่รัก LGBTQ+ ที่ต้องการเริ่มต้นชีวิตคู่ก็มีเป้าหมายซื้อบ้านเป็นหลักประกันความมั่นคงในชีวิตให้ยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม การที่จะเก็บเงินสดซื้อบ้านก็คงต้องรอกันนานหลายปี แต่ไม่ต้องห่วงเพราะทุกวันนี้มีตัวช่วยอย่าง “สินเชื่อบ้าน” เป็นเหมือนสายรุ้งเชื่อมฝันให้เป็นจริงที่ช่วยให้ฝันของคู่รัก LGBTQ+ เป็นจริงได้เร็วขึ้น เพราะมีหลายธนาคารที่เปิดโอกาสให้กู้ร่วมกันได้ ถึงจะมีเงื่อนไขต่างกันบ้างแต่ก็ถือเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้ทุกคู่รักมีสิทธิ์เท่าเทียมกันในการมีบ้านเป็นของตัวเอง
ก่อนจะทำการขอสินเชื่อ มาคำนวณค่าใช้จ่ายในการซื้อบ้านว่าโดยหลัก ๆ จะต้องพบค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง
ค่าใช้จ่ายในการซื้อบ้านกับโครงการ
- ค่าจอง เมื่อได้บ้านที่ถูกใจแล้ว ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นอย่างแรก คือ ค่าจอง เป็นเงินที่ต้องจ่ายให้กับโครงการเพื่อเป็นการยืนยันว่าสนใจโครงการบ้านนี้จริง ๆ โดยราคาค่าจองจะขึ้นอยู่กับโครงการว่าจะเรียกเก็บเท่าไร เช่น 5,000 - 50,000 บาท หรือ 5 - 10% จากราคาขาย
- ค่าทำสัญญา หลังจากที่จองซื้อแล้ว อีก 1 - 2 สัปดาห์ต่อมา ทางโครงการจะทำสัญญาจอง เพื่อเป็นการยืนยันสิทธิ์ โดยมีเอกสารเป็นสัญญารับรอง ซึ่งแต่ละโครงการจะมีค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกัน เช่น 150,000 บาท หลังจากนั้นอีก 1 - 3 เดือนต่อมา จะมีการทำสัญญาจะซื้อจะขาย ซึ่งเป็นสัญญาที่ระบุข้อมูลการซื้อและรายละเอียดของโครงการทั้งหมด (กรณีค่าทำสัญญาอาจจะมีหรือไม่มีขึ้นอยู่แต่ละโครงการ)
ค่าใช้จ่ายในการกู้เงินกับทางธนาคาร
- ค่าประเมินบ้านเพื่อพิจารณาสินเชื่อ เมื่อตัดสินใจซื้อบ้านกับคู่รักเพื่อสร้างอนาคตด้วยกันแล้ว ก็ต้องทำการติดต่อกับธนาคารเพื่อขอสินเชื่อ ซึ่งจะต้องเตรียมค่าใช้จ่ายให้ธนาคารประเมินบ้าน เพื่อพิจารณาว่าจะให้สินเชื่อได้เท่าไร
- ค่าผ่อนบ้านและดอกเบี้ย เป็นค่าใช้จ่ายหลังจากที่ได้รับสินเชื่อแล้ว ซึ่งในทุก ๆ เดือนจะต้องจ่ายเงินเพื่อผ่อนบ้านตามสัญญาจนครบกำหนด
ค่าใช้จ่ายในส่วนค่าธรรมเนียมกับหน่วยงานราชการ
- ค่าขอมิเตอร์สาธารณูปโภค เป็นค่าติดตั้งมิเตอร์ไฟและมิเตอร์น้ำ ซึ่งจะต้องติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การไฟฟ้าและการประปา
- ค่าธรรมเนียมในการโอนบ้าน เป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องเตรียมไว้จ่ายกรมที่ดินประมาณ 1 - 2% ของราคาสิ่งปลูกสร้างและที่ดิน ซึ่งจะแบ่งกันจ่ายระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย
- ค่าธรรมเนียมในการจดจำนอง เมื่อกู้เงินซื้อบ้านจะต้องมีการจ่ายเงินส่วนนี้ให้กรมที่ดิน ซึ่งคิดเป็น 1% ของวงเงินกู้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท (ภาครัฐอาจมีมาตรการปรับลดค่าธรรมเนียมลงในบางระยะเวลาเพื่อกระตุ้นการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ควรอัพเดตตัวเลขก่อนซื้อ)
นอกจากนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ จึงต้องเตรียมเงินเอาไว้ เช่น โครงการบ้านอาจจะมีการเก็บค่าส่วนกลางล่วงหน้า หรือเมื่อบ้านเสร็จอาจจะจ้างผู้เชี่ยวชาญมาตรวจบ้านก่อนรับบ้านจากโครงการ เป็นต้น
ทีนี้มาดูกันว่าหากคู่รัก LGBTQ+ ต้องการกู้ซื้อบ้านก็มี 2 กรณีหลัก ๆ คือ กู้คนเดียวกับกู้ร่วมกัน แต่ที่ผ่านมาหลายคู่มักตัดสินใจกู้ร่วม เพราะการซื้อบ้านนอกจากต้องมีหน้าที่การงานที่มั่นคงแล้ว จำเป็นต้องมีรายได้ที่มากพอด้วย ดังนั้น การกู้เพียงคนเดียว ทางสถาบันการเงินอาจอนุมัติวงเงินสินเชื่อให้ไม่ถึงราคาบ้านที่ซื้อ ทำให้ผู้กู้ไม่สามารถซื้อบ้านได้ หลายคนจึงเลือกที่จะกู้ร่วม โดยนำเงินรายได้ของผู้กู้ร่วมมารวมกัน เพื่อให้เพียงพอตามเงื่อนไขในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงิน
หากต้องการขอสินเชื่อกู้ร่วม ผู้ที่จะมากู้ร่วมกับเราจะต้องมีสายเลือดเดียวกันหรือเป็นคู่สามีภรรยาที่จะจดทะเบียนสมรสแล้ว หรือยังไม่จดก็ได้ แต่ต้องมีหลักฐานว่าเป็นคู่รัก เช่น ภาพถ่ายงานแต่งงาน หรือเอกสารรับรองการอยู่ร่วมกัน เป็นต้น โดยเมื่อ ปี 2563 คณะรัฐมนตรีได้ผ่านร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิตของ LGBTQ+ ทำให้สถาบันการเงินที่อนุมัติให้คู่รัก LGBTQ+ สามารถกู้ร่วมได้ โดยมีเงื่อนไขเหมือนกับการกู้ร่วมของคู่รักชาย-หญิง ที่ยังไม่ได้จดทะเบียนสมรส คือ ต้องมีการยืนยันความสัมพันธ์ตามที่ทางธนาคารได้กำหนดไว้
สำหรับคุณสมบัติทั่วไปของการกู้ร่วม
- สัญชาติไทย อายุ 20 ปีขึ้นไป
- มีอาชีพการงานที่มั่นคง ทำงานในบริษัทที่สามารถตรวจสอบได้ หรือกรณีเป็นเจ้าของกิจการต้องมีการจดทะเบียนการค้า หรือหนังสือรับรองบริษัท อายุงาน 2 ปีขึ้นไป
- ไม่มีประวัติเสียหายทางการเงิน ไม่ติดเครดิตบูโร
- มีเอกสารในการแสดงความสัมพันธ์ เช่น ทะเบียนบ้านหรือสูติบัตร ทะเบียนสมรส เป็นต้น
เอกสารหลัก ๆ ของการกู้ร่วม
- หนังสือรับรองเงินเดือน
- สลิปเงินเดือนย้อนหลัง 6 เดือน
- สมุดบัญชีเงินเดือนย้อนหลัง 6 เดือน
- เอกสารอื่น ๆ ของผู้กู้ร่วม LGBTQ+ เช่น ต้องเปิดบัญชีร่วมกัน รูปถ่ายงานมงคลสมรส (ถ้ามี) รูปถ่ายเพื่อยืนยันว่าเป็นคู่รักกันจริง ๆ ทะเบียนบ้านที่มีชื่อทั้งสองคน เอกสารในการกู้ซื้อทรัพย์สินอื่น ๆ ร่วมกัน เช่น รถยนต์ (ถ้ามี)
สำหรับกรรมสิทธิ์ในการกู้ร่วมของคู่รัก LGBTQ+ จะมีเงื่อนไขการแบ่งผู้ถือกรรมสิทธิ์อยู่ 2 รูปแบบ คือ ยื่นขอสินเชื่อกู้ร่วม แต่มีชื่อคนคนเดียวเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ และยื่นขอสินเชื่อกู้ร่วม (ใส่ชื่อของผู้กู้ทั้ง 2 คนให้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกัน) ซึ่งในปัจจุบันสถาบันการเงินหลายแห่ง มักกำหนดเงื่อนไขสำหรับคู่รัก LGBTQ+ ที่ต้องการกู้ซื้อบ้านร่วมกันว่าจะต้องเป็นการกู้ร่วมซื้อบ้านแบบถือครองกรรมสิทธิ์ในหลักประกันร่วมกันเท่านั้น
ถึงแม้สถาบันการเงินจะเปิดโอกาสให้คู่รัก LGBTQ+ กู้ร่วมซื้อบ้านได้ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดบางประการ ซึ่งแตกต่างไปตามข้อกำหนดของสถาบันการเงินแต่ละแห่ง ดังนั้น ควรเลือกพิจารณาสถาบันการเงินที่ให้คู่รัก LGBTQ+ ขอสินเชื่อบ้านร่วมกันได้จะดีกว่า
ที่มา : ธนาคารกรุงศรี, ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย