บทความ: ภาษีและมรดก
อินฟลูอินเซอร์เสียภาษีอย่างไร ไม่ให้โดนย้อนหลัง
โดย จิรพัชร์ เจริญวงษ์พิบูล ที่ปรึกษาการเงิน AFPTTM
เผยแพร่วันที่ 26/05/2567
ในยุคดิจิทัล "อินฟลูเอนเซอร์" ถือเป็นอาชีพที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าเพศใด หรือช่วงวัยไหนก็สามารถผันตัวสู่อาชีพนี้ได้ และหลายคนสามารถสร้างรายได้จำนวนมหาศาลจากช่องทางรีวิวสินค้า โปรโมทแบรนด์ หรือสร้างคอนเทนต์ต่าง ๆ บนโลกออนไลน์ ซึ่งความสำเร็จชั่วข้ามคืน อาจทำให้เกิดอาการหลงลืมเรื่องภาษีไปได้
ความจริงแล้วอินฟลูเอนเซอร์ก็มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเช่นเดียวกับอาชีพอื่นทั่วไป ดังนั้น จึงควรวางแผนภาษีอย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันปัญหาการโดนภาษีย้อนหลังในอนาคต
ทำความรู้จักรายได้และเงินได้แต่ละประเภทที่อินฟลูเอนเซอร์ต้องเสียภาษี
- เงินได้ประเภท 40 (1)
- สำหรับคนที่ได้รับค่าจ้างเป็นเงินเดือน มียอดเงินเข้าบัญชีทุกเดือนจากการเป็นพนักงานประจำของบริษัท
- เงินได้ประเภท 40 (2)
- รายได้จากการรับจ้างรีวิวสินค้า
- การรับจ้างโปรโมทสินค้า หรือ โปรโมทแบรนด์ให้กับผู้อื่น
- การรับจ้างทำคอนเทนท์ให้กับแบรนด์หรือบริษัทต่างๆ
- รายได้จากการทำ Affiliate Marketing
- ค่าคอมมิชชั่นจากการแนะนำสินค้า โดยการโปรโมตสินค้าผ่านลิงก์
- รายได้จากการออกอีเวนต์ / โชว์ตัว / พรีเซนเตอร์
- เงินได้ประเภท 40 (8)
- รายได้จากการขายสินค้าแบรนด์ของตัวเอง
- รายได้จากการรับสินค้าราคาส่งจากร้านอื่นมาขายปลีกในร้านตัวเอง
- รายได้จากของขวัญที่ได้รับจากการไลฟ์สด
- รายได้จากการรับโดเนทในแพลตฟอร์มต่างๆ
- รายได้จากการับค่าสมาชิก Youtube Subscription
- รายได้จากการเปิดรับบริจาคเงินค่าสนับสนุนการทำคอนเทนต์จากผู้ติดตาม
- รายได้จากส่วนแบ่งค่าโฆษณา : รายได้จาก Google AdSense, Youtube AdSense
- รายได้จากการรับจ้างรีวิวสินค้าที่มีการลงทุนทางด้านเครื่องมือเครื่องใช้ /มีลูกจ้าง/มีสำนักงาน มีค่าใช้จ่ายมาก
- รายได้จากการออกอีเวนต์ /โชว์ตัว/พรีเซ็นเตอร์ ที่มีการลงทุนทางด้านเครื่องมือเครื่องใช้ /มีลูกจ้าง /มีสำนักงาน มีค่าใช้จ่ายมาก
ขั้นตอนการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของอินฟลูเอนเซอร์
ลองคำนวณ 2 วิธีดังนี้ แล้วนำมาเปรียบเทียบกัน จากนั้นให้เสียภาษีตามวิธีที่คำนวณได้มากกว่า
วิธีที่ 1 : คำนวณภาษีจากเงินได้สุทธิ
- เงินได้พึงประเมิน - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน = เงินได้สุทธิ
- เงินได้สุทธิ x อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา = ภาษีที่ต้องเสียในวิธีที่ 1
วิธีที่ 2 คำนวณภาษีจากเงินได้พึงประเมิน
- เงินได้พึงประเมิน x 0.5% = ภาษีที่ต้องเสียในวิธีที่ 2
- วิธีที่ 2 ใช้คำนวณเงินได้ประเภทที่ 2-8 ตั้งแต่ 120,000 บาทขึ้นไป
- กรณีคำนวณตามวิธีที่ 2 แล้วมีภาษีชำระไม่เกิน 5,000 บาทจะได้รับยกเว้นภาษีจากการคำนวณตามวิธีที่ 2 แต่ยังต้องเสียภาษีตามวิธีที่ 1
ที่มา : กรมสรรพากร
การบริหารภาษีเงินได้สไตล์อินฟลูเอนเซอร์
สิ่งที่จำเป็นต้องรู้และต้องทำสำหรับอินฟลูเอนเซอร์ที่เป็นบุคคลธรรมดา
- เลขประจำตัวประชาชน = เลขประจำตัวผู้เสียภาษีบุคคลธรรมดาสัญชาติไทย
- จัดทำรายงานกระแสเงินสดและเก็บหลักฐานเอกสารเกี่ยวกับรายได้ - รายจ่ายในการทำธุรกิจให้ดี
- ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีละ 2 ครั้ง คือ ภ.ง.ด. 94 และ ภ.ง.ด.90 ณ สรรพากรพื้นที่สาขา หรือยื่นผ่านอินเทอร์เน็ตได้ที่เว็บไซต์ www.rd.go.th
- เมื่อมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการรวมทั้งปีเกิน 1.8 ล้านบาท ให้ยื่นจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ยอดขายเกินหรือมีรายได้ถึงเกณฑ์ที่กำหนด
การยื่นภาษีของอินฟลูเอนเซอร์ ยื่นภาษีปีละ 2 ครั้ง
ครั้งที่ 1 : ภาษีครึ่งปี ภ.ง.ด.94
- กำหนดยื่น 1 ก.ค. – 30 ก.ย. ของปีนั้น ๆ
- นำเงินได้ที่ไม่ใช่เงินได้ประเภท 40(1) และ (2) เดือน ม.ค. - มิ.ย. ของปีนั้นมาคำนวณภาษี
ครั้งที่ 2 : ภาษีประจำปี (ภ.ง.ด.90)
- กำหนดยื่น 1 ม.ค.- 31 ม.ค. ของปีถัดไป
- นำเงินได้ทุกประเภท เดือน ม.ค.-ธ.ค. ของปีนั้นมารวมคำนวณภาษี และนำภาษีที่ชำระตาม ภ.ง.ด.94 มาเครดิตภาษีได้
วิธีวางแผนเตรียมรับมือเรื่องภาษีสำหรับอินฟลูเอนเซอร์
- จดบันทึกรายรับ-รายจ่ายอย่างละเอียด และจัดทำรายงานกระแสเงินสดรับ-จ่ายสำหรับธุรกิจ
- แยกบัญชีธนาคารสำหรับธุรกิจกับบัญชีส่วนตัวออกจากกัน
- เก็บใบเสร็จรับเงิน /ใบกำกับภาษี / หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย และเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับรายได้-รายจ่ายอย่างครบถ้วน
- ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับค่าลดหย่อนภาษี
- ปรึกษานักบัญชีหรือผู้เชี่ยวชาญด้านภาษี
การศึกษาข้อมูลเตรียมพร้อมรับมือเรื่องภาษี จะช่วยให้อินฟลูเอนเซอร์สามารถเสียภาษีได้อย่างถูกต้อง ป้องกันปัญหาที่อาจตามมา และยังช่วยให้ประหยัดภาษีได้อีกด้วย ควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับประเภทของรายได้ ประเภทของภาษี วิธีการเสียภาษี และอัตราภาษีที่เกี่ยวข้องให้ดี ที่สำคัญอย่าลืมเก็บเอกสารแสดงหลักฐานเกี่ยวกับรายได้และค่าใช้จ่ายอย่างครบถ้วน เช่น ใบเสร็จรับเงิน ใบกำกับภาษี สัญญาจ้างงาน เป็นต้น และยื่นแบบแสดงรายการภาษีให้ครบถ้วน ตรงต่อเวลาอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ หากกรณีมีประเภทของรายได้หลายช่องทางและมีความซับซ้อน ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านภาษี เพื่อขอคำแนะนำและวางแผนภาษีให้เหมาะสมกับตนเอง
ที่มา https://www.rd.go.th/fileadmin/user_upload/SMEs/infographic/SME_lv1_5.pdf