logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: เกษียณ

เกษียณอย่างมั่นคงด้วยประกันบำนาญ

โดย กชจุฑา เพียรวนิช ที่ปรึกษาการเงิน AFPTTM
เผยแพร่วันที่ 14/04/2567

 

ในปัจจุบันมีสินทรัพย์สำหรับวางแผนเกษียณให้เลือกหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น หุ้นกู้ หุ้น กองทุนตราสารหนี้ กองทุนหุ้น กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) เป็นต้น โดยสินทรัพย์เหล่านี้ให้ผลตอบแทนและความเสี่ยงที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงนี้ที่เศรษฐกิจโลกผันผวน มีความไม่แน่นอนสูง ทำให้หลายคนที่ใกล้เกษียณเกิดความกังวลว่าเงินลงทุนจะขาดทุนก่อนเกษียณ หรือไม่ได้ผลตอบแทนตามเป้าหมายที่ต้องการ

นอกจากสินทรัพย์ลงทุนดังกล่าวข้างต้น ยังมีอีกหนึ่งทางเลือกที่ใช้สำหรับวางแผนเกษียณ คือ ประกันบำนาญ ถือเป็นช่องทางการวางแผนการเงินที่มั่นคงในการวางแผนระยะยาว เพราะจุดเด่นของประกันบำนาญคือ เงินคืนรายปีในอนาคต ถือเป็นการการันตีกระแสเงินสดสำหรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นหลังเกษียณ

ตัวอย่าง การวางแผนเกษียณที่มีประกันบำนาญ

สมมุติว่าเกษียณอายุปี 2563 เป็นปีที่เกิดวิกฤติโรคระบาดโควิด โดยเงินลงทุนกระจายในหุ้น ตราสารหนี้ อสังหาฯ รวมทั้งหมด 10 ล้านบาท แต่ผลตอบแทนปรับตัวลดลง 30% เหลือเงินลงทุนอยู่ 7 ล้านบาท คำถามคือ จะตัดสินใจอย่างไร ระหว่างตัดใจขายขาดทุนเพื่อนำเงินออกมาใช้จ่ายตอนเกษียณหรือถือต่อแล้วเลื่อนอายุเกษียณออกไป

อย่างไรก็ตาม ถ้าในแผนเกษียณมีประกันบำนาญที่จะมีเงินคืนออกมาให้ปีละ 300,000 บาท ตั้งแต่อายุ 60 ปี ถึง 85 ปี คุณไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีเงินใช้หรือต้องขายสินทรัพย์ที่ขาดทุนออกมาเพื่อใช้จ่าย เพราะสามารถนำเงินบำนาญที่รับรายปีมาใช้จ่ายในส่วนที่จำเป็นก่อน ส่วนเงินที่อยู่ในสินทรัพย์อื่น ๆ รอให้ตลาดหุ้นฟื้นคืนกลับมาปรับพอร์ตการลงทุนใหม่

ยกตัวอย่าง ผู้หญิง อายุ 35 ปี ต้องการจำนวนเงินเอาประกัน 3,000,000 บาท เบี้ยประกัน 172,500 บาทต่อปี จะได้รับเงินคืน 10% ของจำนวนเงินเอาประกัน เท่ากับ 300,000 บาท ตั้งแต่อายุ 60 – 85 ปี อย่างไรก็ตามจำนวนเงินเอาประกันที่ลูกค้าต้องการขึ้นอยู่กับปัจจัยเรื่อง เพศ อายุ จำนวนเบี้ยที่จ่ายและแบบประกันของแต่ละบริษัท

สำหรับประกันบำนาญมีโครงสร้างดังนี้ บำนาญแบ่งออกเป็น 2 ช่วง

  1. สร้างบำนาญ คือช่วงเก็บเงิน (ระยะเวลาการจ่ายเบี้ยประกัน) ช่วงอายุตั้งแต่ 20 ปี – 55 ปี หรือ 59 ปี หรือบางแบบประกันจะมีจ่ายตามระยะเวลาที่กำหนด เช่น 1 ปี 5 ปี 10 ปี หรือ 15 ปี (ขึ้นอยู่กับแผนประกันของแต่ละบริษัท)
  2. รับบำนาญ คือ ช่วงรอรับเงินคืนทุกปี รับตั้งแต่อายุ 55 60 หรือ 65 รับยาวไปจนถึงอายุ 80, 85 หรือ 90 ปี (ขึ้นอยู่กับแผนประกันของแต่ละบริษัท)

ช่วงสร้างบำนาญ แบ่งรายได้ไปลงทุนกับบริษัทประกันชีวิตทุกปี จำนวนเงินที่ต้องเก็บขึ้นอยู่กับเบี้ยที่ผู้เอาประกันต้องจ่าย (ปัจจัยที่กำหนดราคาเบี้ยมีเรื่องอายุ เพศ สุขภาพ จำนวนเงินบำนาญที่ต้องการรับรายปี) ขึ้นอยู่กับว่าการตัดสินใจอยากได้เงินคืนปีละเท่าไหร่ ตั้งแต่อายุเท่าไหร่ถึงเท่าไหร่ บริษัทประกันก็จะคำนวณเบี้ยที่ต้องจ่ายทุกปีมาให้

ช่วงรับบำนาญ บริษัทประกันสัญญาว่าจะจ่ายเงินคืนให้ทุกปี โดยจะจ่ายคงที่ทุกปีหรือจ่ายเพิ่มขึ้นทุกปี ขึ้นอยู่กับแบบประกันบำนาญของแต่ละบริษัท โดยบริษัทประกันการันรีเงินคืนให้ตั้งแต่อายุ 55, 60 หรือ 65 ปี ถึงอายุ 80, 85 หรือ 90 ปี (ขึ้นอยู่กับแผนประกันของแต่ละบริษัท)

การวางแผนเกษียณเป็นการวางแผนระยะยาวซึ่งยากแก่การคาดการณ์ เหมือนคำกล่าวของ โฮเวิร์ด มาร์ค ที่กล่าวว่า “คุณไม่สามารถคาดการณ์อนาคตได้ แต่คุณสามารถเตรียมตัวรับมือกับมันได้ (You can’t predict, You can prepare)” ดังนั้น การใช้ประกันบำนาญ (Annuity) เป็นส่วนหนึ่งของแผนเกษียณ ช่วยให้แผนมีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น เพราะสามารถคาดการณ์กระแสเงินสดในอนาคตได้ทุกปีจากเงินคืน

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th