logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ประกันภัย

3 รู้ ก่อนลงทุน Unit Link

โดย เกศิณี เพ็ชรแสนงาม นักวางแผนการเงิน CFP®

เผยแพร่วันที่ 07/04/2567

 

ยูนิตลิ้งค์ (Unit Link) นับว่าเป็นนวัตกรรมประกันชีวิตที่ใช้เป็นเครื่องมือในการโอนย้ายความเสี่ยงและวางแผนเกษียณที่น่าสนใจช่องทางหนึ่ง ด้วยเหตุผลที่ว่า

  1. ช่วยให้สบายใจเรื่องค่ารักษาพยาบาลและโรคร้ายแรงระยะยาวได้ (Long Term Health Care)
  2. เบี้ยประกันคงที่ ทำให้จัดสรรเงินได้ง่ายขึ้น
  3. สามารถหยุดพักชำระเบี้ยได้ แต่ยังคงมีความคุ้มครอง ทั้งชีวิต ค่ารักษาพยาบาล และโรคร้ายแรงได้อย่างต่อเนื่อง
  4. อนาคตค่ารักษาพยาบาลแพงขึ้นตามเงินเฟ้อ แต่เราสามารถกำหนดวงเงินค่ารักษาพยาบาลได้ตั้งแต่วันแรกที่ทำประกัน
  5. มูลค่ารับซื้อหน่วยลงทุนที่เพิ่มขึ้นในอนาคตสามารถเป็นส่วนหนึ่งของกองทุนเงินเกษียณ อีก 1 ก้อน ได้

ตัวอย่าง

คุณ B อายุ 34 ปี รายได้ 100,000 บาท ต่อเดือน ต้องการวางแผน Long Term Health Care  โดยต้องการจ่ายเบี้ยประกันแบบเบี้ยคงที่ถึงอายุ 60 ปี และยังต้องการค่ารักษาพยาบาลถึงอายุ 85 ปี เพื่อง่ายต่อการวางแผนการเงิน ค่าใช้จ่ายในส่วนเบี้ยประกัน และต้องการใช้พอร์ตการลงทุนตามคำแนะนำจากผู้จัดการกองทุน จะได้มีเวลาใช้ชีวิตกับการท่องเที่ยว

ดังนั้น คุณ B จึงตัดสินใจทำประกันยูนิตลิงค์ที่มีทุนประกัน 1 ล้านบาท และมีค่ารักษาพยาบาลและโรคร้ายแรงตั้งแต่อายุ 34 ปี จนถึงอายุ 85 ปีด้วยการจ่ายเบี้ยปีละ 100,000 บาท ตั้งแต่อายุ 34-60 ปี รวมระยะเวลา 27 ปี รวมจ่ายเบี้ยทั้งสิ้น 2,700,000 บาท ซึ่งคุณ B จะสบายใจทุกครั้งที่ต้องเข้าโรงพยาบาล เพราะว่าค่ารักษาพยาบาลได้ถูกโอนย้ายความเสี่ยงไปให้บริษัทประกันในวงเงินต่อปี 5 ล้านบาท และยังมีเงินเกษียณในช่วงอายุ 61 ปีถึง 85 ปี ประมาณ 1 ล้านบาท ถึง 2 ล้านบาทที่อัตราผลตอบแทน 5% ต่อปี

ทว่า หากผลตอบแทนไม่เป็นไปอย่างที่คิด เช่น ได้ผลตอบแทนเพียง 2% ต่อปี คุณ B ก็พร้อมที่จะกลับมาจ่ายเบี้ยประกันที่ 100,000 บาทต่อได้ในบางปีเพราะเบี้ยประกัน 100,000 บาท ก็ไม่ได้มากเกินไปและเชื่อว่าค่ารักษาพยาบาลแพงกว่าอยู่แล้ว (ราคารักษาแพงกว่าราคาป้องกันเสมอ) โดยได้รับคำแนะนำจากตัวแทนประกันชีวิต ในเรื่องของการศึกษาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการลงทุนผ่านกองทุนรวม

 

สิ่งที่ควรทำความเข้าใจก่อนทำประกันยูนิตลิงค์ เพื่อให้สามารถจัดการแผนการเงินให้เป็นไปตามเป้าหมาย

1. Unit link เป็นประกันชีวิตควบการลงทุน คือ ประกันชีวิต + การลงทุน ไม่ใช่การลงทุนแถมประกัน ไม่ใช่ประกันแถมการลงทุน ดังนั้น คุณสมบัติของเบี้ยประกันประกอบไปด้วย

1.1 ส่วนที่เป็นประกันชีวิต มีค่าใช้จ่าย COI, ค่าบริหารจัดการ ซึ่งคิดค่าใช้จ่ายเป็นรายเดือน, ส่วนค่าดำเนินการ คิดเมื่อมีการชำระเบี้ยประกัน

1.2 ส่วนที่นำไปลงทุน เงินส่วนลงทุนจะถูกนำไปลงทุน ในตราสารทางการเงิน เพื่อเพิ่มโอกาสในการลงทุนซึ่งแบ่งเป็น

พอร์ตแนะนำ (Recommend Port) โดยมีผู้จัดการกองทุนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ ดูแลจัดสรรพอร์ตและปรับพอร์ตให้ปัจจุบันบางบริษัทประกันจะมีพอร์ตการลงทุนแนะนำ แบ่งเป็น 3 พอร์ต คือ การลงทุนความเสี่ยงต่ำ การลงทุนความปานกลาง และ การลงทุนความเสี่ยงสูง โดยผู้เอาประกันต้องตอบ RPQ (Risk Profile Questionnaire ) (แบบประเมินความเหมาะสมในการลงทุน ) เพื่อเลือกลงทุนในพอร์ตตามระดับความเสี่ยงที่รับได้ก่อนเสมอ

ลูกค้าจัดพอร์ตเอง (DIY Port) มีบริการ 3 อย่าง Asset Allocation, Auto Rebalance , DCA เป็นต้น โดยฟรีหรือคิดค่าธรรมเนียม ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขแต่ละบริษัท

ทั้งนี้ บริษัทจะมีกรอบเรื่องกองทุนที่บริษัทเลือกไว้ และให้ลูกค้าเลือก ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขแต่ละบริษัท โดยจะระบุกองทุนไว้ในเอกสาร ซึ่งโดยส่วนใหญ่ก็จะมีสินทรัพย์ลงทุนที่หลากหลาย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการในการลงทุนของลูกค้า

2. ความต่างของประกันควบการลงทุน Unit link กับประกันชีวิตทั่วไป โดย ตรงที่ Unit link มีความคาดหวังว่าจะมีโอกาสได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนระยะยาวที่มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น จากตราสารการเงินที่เสี่ยงขึ้น เช่น การลงทุนในตราสารหนี้ และตราสารทุน รวมถึงสินทรัพย์ทางเลือกอื่น ๆ ดังนั้นจึงไม่การันตีผลตอบแทน (อาจจะกำไรหรือขาดทุน)

ซึ่งต่างจากประกันชีวิตทั่วไปที่เน้นการลงทุนที่ไม่เสี่ยง คือ พันธบัตรรัฐบาล และมีการการันตีผลตอบแทนโดยระบุ มูลค่าเงินสดที่ตรวจสอบได้ ในตารางมูลค่าเงินสด ในกรมธรรม์

3. ในบางแบบของ Unit Link จะแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก สำหรับประกันชีวิต เรียกว่า“เบี้ยประกันหลัก”และ ส่วนที่ 2 เรียก “สัญญาเพิ่มเติม”

3.1 ในส่วนแรกของเบี้ยประกัน เรียกว่า“สัญญาหลัก” ที่ดูแลทุนประกันชีวิต เบี้ยประกันเริ่มต้นคงที่ และสามารถเพิ่ม-ลดทุนประกันได้ มากน้อยขึ้นอยู่กับเงื่อนไขแต่ละบริษัท ดังนั้น ด้วยเบี้ยประกันจำนวนน้อย มีโอกาสเลือกทุนประกันได้สูงกว่าแบบประกันทั่วไป

3.2 ส่วนที่ 2 “สัญญาเพิ่มเติม” มี 2 แบบ แบบที่ไม่มีส่วนร่วมในการลงทุน (PPR) และแบบที่มีมีส่วนร่วมในการลงทุน (UDR)

แบบที่ไม่มีส่วนร่วมในการลงทุน (PPR) (Protection Payment Rider) ทั้งนี้สัญญาเพิ่มเติมเป็นสัญญาประกันภัยที่มีระยะเวลาเอาประกันภัย 1 ปี ซึ่งอาจต่ออายุได้ เบี้ยปรับเพิ่มขึ้นตามอายุ ข้อดีอายุน้อย ความเสี่ยงน้อย เบี้ยต่ำ ข้อจำกัดอายุมากขึ้นความเสี่ยงมากขึ้น เบี้ยสูงขึ้น  เบี้ย PPR ในช่วงเริ่มต้นราคาถูกกว่า UDR แต่เมื่ออายุมากขึ้นเบี้ยราคาสูงกว่า UDR

แบบสัญญาเพิ่มเติมที่มีส่วนร่วมในการลงทุนผ่านกองทุนรวม (UDR) (Unit Deducting Rider) เป็นสัญญาเพิ่มเติมแบบชำระค่าการประกันภัยโดยการขายคืนหน่วยลงทุนบางส่วนมาจ่ายค่าใช้จ่ายซึ่งแนบได้กับกรมธรรม์ประกันชีวิตควบการลงทุน Unit link เท่านั้น การันตีการรับประกันต่อเนื่องตลอดสัญญากรณีที่กรมธรรม์มีมูลค่าเพียงพอในการหักค่าใช้จ่ายต่างๆ เบี้ยUDRในช่วงระยะเริ่มต้นเบี้ยประกันจะสูงกว่า เบี้ยแบบ PPR

(สามารถแนบสัญญาเพิ่มเติม 2 ชนิดดังกล่าว ในประกันควบการลงทุนได้ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของกรมธรรม์)

 

จุดเด่นสำคัญ

ความยืดหยุ่นของการกำหนดทุนประกันชีวิต ที่ในบางแบบของกรมธรรม์ควบการลงทุนยูนิตลิงค์ สามารถกำหนดทุนประกันชีวิตให้มากขึ้นหรือลดลงได้ตามต้องการ, และสามารถกำหนดระยะเวลาในการชำระเบี้ยประกัน อาทิเช่น ชำระเบี้ยประกันถึงอายุ 60 ปีและให้เกิดความคุ้มครองต่อเนื่องหลังหยุดชำระเบี้ยประกันไปจนถึงอายุ 99 ปี (ทั้งนี้หากมูลค่ารับซื้อคืนหน่วยลงทุนมีมากพอที่จะดูแลค่าใช้จ่ายด้านการประกันและค่าธรรมเนียมการดูแลกรมธรรม์)

ผู้เอาประกันวางแผนการจ่ายเบี้ยประกันล่วงหน้าได้ เพราะรู้ค่าใช้จ่ายจากเบี้ยประกันคงที่ ตั้งแต่เริ่มต้นทำประกัน

และวางแผนหยุดพักชำระเบี้ยได้ในช่วงหลังเกษียณอายุ เนื่องจากแบบประกันสุขภาพ UDR มีการนำเงินลงทุนไว้ล่วงหน้าจึงทำให้เงินเติบโตมากพอที่จะดูแลค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเบี้ยประกันสุขภาพและโรคร้ายแรงในอนาคตโดยผู้ประกันหยุดพักชำระเบี้ยช่วงหลังเกษียณได้ (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของกรมธรรม์แต่ละบริษัท)

 

ข้อจำกัดสำคัญ

ด้วยหลักเกณฑ์ของแบบประกันควบการลงทุน ในด้านการลงทุนซึ่งไม่มีการการันตีผลตอบแทนจากการลงทุน ดังนั้นการหยุดพักชำระเบี้ย อาจส่งผลให้กรมธรรม์ มีการปิดกรมธรรม์อัตโนมัติ และส่งผลให้สัญญาเพิ่มเติมหยุดความคุ้มครองได้ ซึ่งผู้เอาประกัน จะได้รับจดหมายเตือนเรื่อง“มูลค่ารับซื้อคืนหน่วยลงทุน” ที่เหลือน้อย อาจทำให้กรมธรรม์ขาดความคุ้มครอง เพื่อให้ผู้เอาประกันชำระเบี้ยต่อ

เบี้ยประกันค่อนข้างสูงกว่าแบบประกันทั่วไป ในช่วงเริ่มต้นทำประกัน เนื่องจากเบี้ยประกันสัญญาเพิ่มเติมชนิดที่มีค่ารักษาพยาบาลและโรคร้ายแรงแบบมีส่วนร่วมในการลงทุน (UDR) มีการเก็บเงินเพื่อลงทุนล่วงหน้าทำให้เบี้ยประกันสุขภาพและโรคร้ายแรง UDR เบี้ยราคาสูงถึงแม้เบี้ยจะคงที่และ ไม่เพิ่มตามช่วงอายุเหมือนสัญญาสุขภาพและโรคร้ายแรง PPR ดังนั้น ผู้เอาประกันต้องคำนวนเงินค่าใช้จ่ายส่วนเบี้ยประกันให้มีความเหมาะสมกับตนเอง ว่ามีความสามารถในการจ่ายเบี้ยอย่างต่อเนื่องได้หรือไม่

 

ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการตัดสินใจซื้อประกัน คือ เลือกประกันที่เหมาะสมกับผู้เอาประกันแต่ละคนโดย นอกจากดูที่ผลประโยชน์แล้วยังจำเป็นต้องพิจารณาจากความสามารถในการชำระเบี้ยอย่างต่อเนื่องได้ด้วย เพราะแบบประกันที่ดีที่สุด คือ แบบประกันที่เราสามารถจ่ายเบี้ยได้ครบสัญญา จะทำให้เราได้รับผลประโยชน์สูงสุดจากการทำประกัน

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th