logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ภาษีและมรดก

ประกัน Keyman ตาดีได้ ตาร้ายเสีย

โดย มานพ รัตนะ นักวางแผนการเงิน CFP®

เผยแพร่วันที่ 31/03/2567

 

ประกัน Keyman เป็นแนวคิดในการซื้อประกันชีวิตให้กับบุคคลสำคัญขององค์กร เช่น เจ้าของกิจการ กรรมการ ผู้บริหาร ผู้จัดการ เพื่อเป็นสวัสดิการให้กับบุคคลเหล่านั้น โดยบริษัทสามารถนำเอาเบี้ยประกันดังกล่าว รวมถึงภาษีออกให้ (ถ้ามี) มาบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ เพื่อลดภาษีเงินได้นิติบุคคล ในขณะที่เบี้ยประกันชีวิตที่บริษัทจ่ายให้นั้น กรรมการต้องรับรู้เป็นรายได้เพื่อนำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย

 

5 สาเหตุที่บริษัทส่วนใหญ่ตัดสินใจทำประกัน Keyman

1.ต้องการประหยัดภาษี โดยเบี้ยประกัน Keyman รวมถึงภาษีออกให้ทุกทอด (ถ้ามี) สามารถนำไปเป็นค่าใช้จ่ายทางบัญชีและภาษีได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (3), (13) แห่งประมวลรัษฎากร

2.ต้องการค่าใช้จ่ายที่ถูกต้อง โดยเบี้ยประกันที่จ่ายไปเป็นรายจ่ายที่มีเอกสารหลักฐานชัดเจน (มีใบเสร็จรับเงินหรือหนังสือรับรองการชำระเบี้ยประกันจากบริษัท) ช่วยลดปัญหาถูกบวกกลับ เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และลดความเสี่ยงในการสร้างค่าใช้จ่ายต้องห้าม

3.ต้องการนำเงินออกจากบริษัทอย่างถูกต้อง โดยผลประโยชน์จากกรมธรรม์ประเภทสะสมทรัพย์ ที่มีเงินคืนระหว่างสัญญา เงินคืนเมื่อครบสัญญา รวมถึงประโยชน์อื่นๆ ที่ได้จากการประกันชีวิต จะจ่ายตรงไปที่กรรมการ (เจ้าของกิจการ) อย่างถูกต้องตามกฎหมาย อีกทั้งยังได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 42(13) ด้วย

4.ต้องการหลักประกันที่มั่นคง หากบุคคลสำคัญของกิจการต้องจากไป อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของกิจการต่อไป การทำประกันเพื่อคุ้มครองค่าความสามารถของกรรมการ ทำให้มีเงินก้อนมาใช้ในการบริหารจัดการในส่วนต่างๆ ช่วงที่กิจการต้องปรับตัว ทำให้กิจการสามารถผ่านพ้นวิกฤติไปได้

5.ต้องการสร้างเป็นสวัสดิการให้กรรมการ ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในการบริหารงานและกำหนดทิศทางของธุรกิจ การสร้างสวัสดิการให้บุคคลเหล่านี้จึงเป็นการสร้างแรงจูงใจและความภักดีต่อองค์กร รวมทั้งเป็นขวัญและกำลังใจให้กับบุคลากรในการทุ่มเทการทำงานให้กับกิจการอย่างเต็มที่

อย่างไรก็ตามการทำประกัน Keyman ก็เสมือนดาบสองคม คือ ด้านหนึ่งมีประโยชน์มากมาย (หากทำถูกต้อง) ในขณะที่ด้านหนึ่ง ก็อาจก่อให้เกิดโทษหนัก (หากทำไม่ถูกต้อง) ดังนั้น การทำประกัน Keyman ทั้งฝั่งผู้ประกอบการ ฝั่งผู้ทำบัญชี และฝั่งผู้ขาย ควรจะมีความเข้าใจตรงกันในการดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ตามที่ทางสรรพากรได้วางหลักเกณฑ์เอาไว้

 

3 หลักสำคัญในการทำประกันKeyman

1.ทำให้กับกรรมการทุกคนเป็นการทั่วไป เพื่อไม่ให้ถูกมองว่าเป็นการเลือกปฏิบัติกับคนใดคนหนึ่ง จึงต้องทำให้กับกรรมการทุกคนที่อยู่ในตำแหน่งระดับเดียวกัน จึงจะสามารถนำเอาเบี้ยประกันไปบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (3), (13) แห่งประมวลรัษฎากร

2.มีมติที่ประชุม การทำประกัน Keyman ถือเป็นการให้สวัสดิการแก่บุคคลสำคัญขององค์กร ซึ่งก็คือกรรมการบริษัท จึงต้องมีมติประชุมจากผู้ถือหุ้นในการอนุมัติให้กระทำได้

3.เบี้ยประกันเป็นจำนวนที่เหมาะสม เนื่องจากเบี้ยประกัน Keyman รวมถึงภาษีออกให้ (ถ้ามี) สามารถนำไปบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ การจ่ายเบี้ยประกันให้กับกรรมการทุกคน ควรเป็นจำนวนที่เหมาะสม ไม่มากจนเกินไป ซึ่งอาจถูกประเมินเป็นค่าใช้จ่ายเกินสมควรได้

 

3 ข้อผิดพลาดจากการทำประกัน Keyman

1.เบี้ยประกันสูงเกินสมควร ตัวแทนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจผิดว่าเบี้ยประกันที่เหมาะสม คำนวณจาก 5% ของรายได้ หรือ 20% ของกำไรก่อนภาษี แล้วแต่จำนวนใดจะน้อยกว่า ทำให้นำเสนอเบี้ยประกันเต็มจำนวนที่คำนวณได้ อาจทำให้ลูกค้าองค์กรมีโอกาสถูกเจ้าหน้าที่สรรพากรประเมินได้ว่าเบี้ยประกันดังกล่าวสูงเกินสมควรได้

2.ไม่ได้นำเบี้ยประกันที่บริษัทจ่ายให้ไปบันทึกเป็นรายได้ของกรรมการ หลายครั้งที่ตัวแทนหรือเจ้าหน้าที่ธนาคารจะนำเสนอเจ้าของกิจการทำประกัน Keyman โดยนำเอาเรื่องการประหยัดภาษีนิติบุคคลมาเป็นประเด็นหลัก แต่ไม่ได้แจ้งให้ทราบว่า เงินค่าเบี้ยประกันชีวิตที่บริษัทออกให้กรรมการนั้นถือเป็นประโยชน์เพิ่มที่กรรมการได้รับ ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร กรรมการต้องนำไปรวมกับเงินได้อื่น ๆ เพื่อคำนวณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 48(1) แห่งประมวลรัษฎากรด้วย

3.คำนวณภาษีออกให้ทุกทอดเพียงแค่ปีแรก กรณีที่ทำประกัน Keyman ให้กรรมการ ส่งผลให้กรรมการมีภาระทางภาษีเงินได้ส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น บริษัทสามารถออกภาษีทุกทอดให้กรรมการได้ โดยบริษัทสามารถนำเอาภาษีที่ออกให้ไปบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายของกิจการได้ด้วย ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (3),(13) โดยต้องมีการระบุไว้ในมติที่ประชุมด้วย ซึ่งจะส่งผลให้ต้องคำนวณภาษีออกให้ในปีถัด ๆ ไปทุกครั้งที่มีการชำระเบี้ยประกัน

 

ผลกระทบจากการทำผิดกระบวนการ

หลายครั้งที่พบปัญหาว่า ทำประกัน Keyman ไปแล้ว แต่ไม่ได้ทำตามหลักเกณฑ์ที่สรรพากรวางไว้ ทำให้เจ้าหน้าที่สรรพากรประเมินว่าเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้าม จึงต้องนำเอาเบี้ยประกันรวมถึงภาษีออกให้ (ถ้ามี) บวกกลับเป็นรายได้ของกิจการ ทำให้กิจการมีกำไรสูงขึ้น ส่งผลให้เสียภาษีมากขึ้น ดังนั้น เจ้าของกิจการจึงต้องเสียภาษีในส่วนที่ยื่นขาด พร้อมเบี้ยปรับ (1 - 2 เท่า) และเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน ของภาษีที่ยื่นขาดไป (เศษของเดือนนับเป็น 1 เดือน) โดยคำนวณนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษี จนถึงวันที่ชำระภาษีจนครบ

 

คำถามที่มักพบเจอในการทำประกัน Keyman

- กรรมการแต่ละคนจำเป็นต้องทำเบี้ยประกันเท่ากันหรือไม่ ทางสรรพากรไม่ได้มีข้อบังคับว่าจะต้องทำเบี้ยประกันเท่ากัน อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ทำเป็นสวัสดิการให้กับกรรมการที่อยู่ในระดับเดียวกัน ก็ควรจะทำแผนประกันที่เหมือนกัน เบี้ยประกันอาจไม่เท่ากัน ซึ่งเป็นผลจากเพศ อายุ และประวัติสุขภาพ ก็ไม่ถือเป็นประเด็นสำคัญที่จะทำให้ถูกประเมินว่าเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้ามได้

- ใครเป็นผู้รับประโยชน์จากการทำประกัน Keyman กรรมการสามารถระบุผู้รับประโยชน์เป็นบริษัท หรือเป็นทายาทของกรรมการก็ได้

- หากไม่บันทึกเป็นรายได้ของกรรมการจะได้หรือไม่ เงินค่าเบี้ยประกันชีวิตรวมถึงภาษีที่บริษัทออกให้กรรมการนั้นถือเป็นประโยชน์เพิ่มที่กรรมการได้รับ ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร กรรมการต้องนำไปรวมกับเงินได้อื่นๆ เพื่อคำนวณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 48(1) แห่งประมวลรัษฎากรด้วย

- จำเป็นต้องทำพร้อมกันทุกคนหรือไม่ ไม่จำเป็นต้องทำพร้อมกันทุกคน กรณีมีกรรมการหลายท่าน สามารถทยอยทำได้ แต่ต้องทำให้ครบทุกคนภายในรอบระยะเวลาบัญชีของบริษัท

- เบี้ยประกันที่เหมาะสม คิดจากอะไร ไม่มีสูตรตายตัว ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายๆ อย่าง ทั้งนี้ ควรคุยกับตัวแทนที่มานำเสนอให้ชัดเจนในเรื่องนี้ เพื่อป้องกันการถูกตีกลับเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้าม

- เวลาบันทึกบัญชี ค่าเบี้ยประกันต้องเฉลี่ยเป็นรายเดือนหรือไม่ การทำประกัน Keyman ถือเป็นการให้สวัสดิการแก่กรรมการ ในขณะเดียวกัน กรรมการก็ต้องรับรู้เป็นรายได้ทั้งจำนวน จึงบันทึกบัญชีเป็นค่าใช้จ่ายทั้งก้อน และหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายของกรรมการ ตามมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร และนำส่ง ภ.ง.ด.1 ภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป

- เบี้ยประกันสามารถแบ่งชำระได้หรือไม่ สามารถแบ่งชำระเป็นราย 6 เดือน ราย 3 เดือน หรือรายเดือน ได้ตามปกติ

- ต้องจ่ายด้วยเช็คบริษัทเท่านั้นหรือไม่ กิจการสามารถจ่ายด้วยเช็คบริษัท หรือโอนเงินจากบัญชีบริษัทเข้าบริษัทประกันชีวิตได้โดยตรง อย่างไรก็ตาม กรรมการสามารถสำรองจ่ายด้วยบัตรเครดิตหรือบัญชีส่วนตัวของกรรมการได้ แล้วไปเบิกคืนจากบริษัทภายหลัง โดยต้องมีการทำใบสำคัญจ่ายแนบเข้าไปในระบบเอกสารด้วย

 

จะเห็นได้ว่า การทำประกัน Keyman มีประโยชน์มากมายทั้งในด้านขององค์กร และตัวกรรมการหรือเจ้าของกิจการ ซึ่งการสมัครทำประกัน Keyman ไม่ยาก แต่การทำกระบวนการต่าง ๆ ให้ถูกต้องเป็นเรื่องละเอียดอ่อน รวมถึงการจัดการเอกสารต่าง ๆ หลังจากที่ได้มีการทำประกันไปแล้ว

ดังนั้น หากเป็นตัวแทนประกันชีวิต ต้องมีการศึกษาถึงหลักการ กระบวนการ ขั้นตอนต่าง ๆ รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำประกัน Keyman ให้แตกฉาน เพื่อไม่ให้ลูกค้าผู้ประกอบการต้องเสี่ยงที่จะถูกสรรพากรประเมินย้อนหลัง ในขณะเดียวกัน หากคุณเป็นผู้ประกอบการ ก็ต้องเลือกตัวแทนประกันชีวิตที่จะเข้ามาดูแลเรื่องการทำประกัน Keyman ให้ดี นอกจากจะช่วยประหยัดเงินภาษีนิติบุคคลแล้วแล้ว ยังจะได้รับประโยชน์จากการวางแผนภาษีบุคคลธรรมดาและการจัดการด้านอื่น ๆ แถมมาอีกด้วย

 

ข้อมูลอ้างอิง :

ประมวลรัษฎากร มาตรา 39, มาตรา 40, มาตรา 42, มาตรา 65 ตรี

ข้อหารือกรมสรรพากร ฉบับที่ กค.0811/408

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th