บทความ: ลงทุน
จัดพอร์ตลงทุนยังไง ไม่ให้หลอกตัวเอง
โดย จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์ ที่ปรึกษาการเงิน AFPTTM
เผยแพร่วันที่ 24/03/2567
“หากถามว่า กองทุนที่ถืออยู่ติดลบหรือไม่” เชื่อว่าในช่วงตลาดผันผวน กองทุนรวมที่ถืออยู่จะมีผลงานที่ไม่ค่อยประทับใจนัก หรืออาจถึงขั้นขาดทุน”
ถ้าพอร์ตกองทุนรวมขาดทุนขอแนะนำว่า ทุกปัญหามีสาเหตุ เช่น อาการนี้อาจมาจากการหลอกตัวเองในตอนเริ่มต้น หรือไม่รู้ใจตัวเองว่าจริง ๆ แล้ว ตัวเองรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้มากแค่ไหน
ก่อนจะเริ่มลงทุน ทุกคนต้องผ่านด่านแรก คือ การทำแบบประเมินความเสี่ยงการลงทุน ซึ่งสิ่งที่แบบประเมินถาม มีทั้งเรื่อง อายุ ภาระการเงินที่มี สถานภาพการเงิน ประสบการณ์ลงทุน ความจำเป็นในการใช้เงินลงทุน รวมถึงความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงกรณีลงทุนไปแล้วขาดทุน
โดยหลัก ๆ เรื่องอายุ ภาระการเงิน สถานภาพการเงิน ประสบการณ์ลงทุน และความจำเป็นในการใช้เงินลงทุน สามารถตอบตรงความจริงได้ แต่สำหรับประเด็นความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงและผลขาดทุน เป็นสิ่งที่ต้องประเมินความรู้สึกส่วนตัวอย่างตรงไปตรงมา
หลายครั้ง (หลายคน) อาจมีเป้าหมายในใจก่อนจะไปลงทุน เช่น เห็นเพื่อนลงทุนแล้วได้กำไรสูง ก็ตัดสินใจลงทุนตาม แต่ กองทุนนั้นมีระดับความเสี่ยงสูง เช่น กองทุนรวมต่างประเทศ ดังนั้น ช่วงที่ทำแบบประเมินจึงประเมินว่าตัวเองรับความเสี่ยงได้สูง ๆ เพราะถ้าประเมินว่ารับความเสี่ยงได้ต่ำ จะไม่สามารถลงทุนในกองทุนความเสี่ยงสูง ๆ ได้
อย่างไรก็ดี เมื่อเข้าสู่โลกของการลงทุนจริงสิ่งที่เจอ คือ เมื่อกองทุนที่ลงทุนมีผลขาดทุน ปรากฎว่าเกิดความเครียด จะเป็นลม ข่มตานอนไม่ได้ กลัวว่าตื่นมาวันรุ่งขึ้นจะเห็นตัวเลขขาดทุนมากขึ้น พูดง่าย ๆ คือ หลอกตัวเองมาตั้งแต่ต้นว่ารับขาดทุนหนัก ๆ ได้ เพราะต้องการกำไรสูง ๆ
คำแนะนำ
มือใหม่เพิ่งลงทุน
ขอแนะนำให้ตั้งใจทำแบบประเมินความเสี่ยงการลงทุน ตั้งสติ ค่อย ๆ ทำแบบประเมิน โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกว่า รับขาดทุนได้แค่ไหน
ขอให้นึกภาพดี ๆ อย่าให้ภาพกำไรสูง ๆ ที่ฝันเอาไว้มาบังตา และมองในมุมกลับกันด้วย เพราะโลกของการลงทุนไม่ได้เข้ามาแล้วได้กำไรอย่างเดียว แต่สามารถขาดทุนได้ด้วย ซึ่งปกติกำไรจะได้สูงเท่าไหร่ ก็รับได้เต็มที่ แต่คำถาม คือ รับขาดทุนได้แค่ไหน
อาจเปรียบเทียบกับเงินในกระเป๋าของตัวเอง สมมติวันนี้มีเงิน 10,000 บาท เอาไปลงทุน ผ่านไปไม่ถึง 1 ปี เห็นมูลค่าเงินลงทุนในกองทุนรวมเหลือแค่ 8,000 บาท หรือเหลือแค่ 5,000 บาท รับได้หรือไม่ แล้วก็ตอบแบบประเมินไปตรง ๆ
เมื่อทราบแล้วว่าตัวเองรับความเสี่ยงได้แค่ไหน เวลาลงทุน ก็แนะนำให้เลือกลงทุนกองทุนรวมในระดับความเสี่ยงที่ตัวเองยอมรับได้
แต่หากมองว่า ต้องการเปิดใจลงทุนกองทุนความเสี่ยงสูงกว่าระดับที่ตัวเองรับไหว ก็ควรลงทุนแบบจัดพอร์ต ด้วยการลงทุนกองทุนรวมหลาย ๆ ประเภทสินทรัพย์ แต่ควรลงทุนในกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงต่ำในสัดส่วนมาก โดยถ้าอยากมีกองทุนที่ความเสี่ยงสูงกว่าระดับที่ตัวเองรับได้ ก็ควรใส่เงินเข้าไปในระดับไม่มาก เพราะเมื่อมีผลขาดทุนก็ไม่เสียใจ และพอคำนวณเป็นพอร์ตลงทุนโดยรวมความเสี่ยงไม่สูงเกินกว่าที่รับได้
ที่สำคัญ เวลาที่นั่งดูผลการดำเนินงาน แนะนำให้เน้นดูเป็นพอร์ตโดยรวม แทนที่จะไปเพ่งมองแต่ละกองทุน เพื่อความสบายใจ
มือเก๋า
ก็จงจำไว้ว่า “พรุ่งนี้ไม่สาย” ในเมื่อประเมินพลาดไปแล้ว สิ่งที่ทำได้ คือ ประเมินตัวเองใหม่อีกครั้ง แล้วก็ปรับพอร์ตลงทุนให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่ใจรับไหวจริง ๆ
ในการปรับพอร์ตลงทุน อาจไม่ได้หมายความว่า ให้ตัดใจขายทิ้งกองทุนรวมความเสี่ยงสูงที่ขาดทุนหนัก ๆ ทั้งหมด แล้วไปเริ่มต้นใหม่กับกองทุนที่มีความเสี่ยงน้อยกว่า เพราะเชื่อว่าถ้าทำแบบนี้ หลายคนน่าจะน้ำตาตกใน และพาลไม่อยากเข้าไปลงทุนใหม่อีกแล้ว ไม่ว่าจะเสี่ยงน้อยแค่ไหน
วิธีที่น่าจะช่วยได้คือ ในการลงทุนเพิ่มใหม่ ๆ ก็ให้ใส่เงินลงทุนไปในกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงต่ำ เพื่อที่เวลาดูความเสี่ยงโดยรวมของพอร์ตลงทุนแล้วจะได้ลดระดับลงมา อยู่ในระดับที่รับได้แปลว่า ยังมีหวังกับกองทุนความเสี่ยงสูงที่ขาดทุนหนั กๆ ว่าจะเห็นการกลับมาทำกำไร แต่ต้องเชื่อในนโยบายการลงทุนของกองทุนความเสี่ยงสูงนั้นด้วยว่า มีอนาคตจริง ๆ
เหรียญมีสองด้าน การลงทุนก็มีสองด้านเหมือนกัน ทำกำไรได้ ก็ขาดทุนได้ ดังนั้น ก่อนจะโยนเหรียญการลงทุน ต้องทำความเข้าใจประเด็นนี้ก่อน และอย่าให้ความโลภ อยากได้ผลตอบแทนสูง ๆ มาบังตา จนหลอกตัวเองว่า รับความเสี่ยงได้สูง ถ้าในความเป็นจริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น
ที่สำคัญ เวลาประเมินความเสี่ยงจงมองที่ตัวเองให้ดี อย่าทำตามเพื่อนบอก เพราะหากพอร์ตลงทุนมีความแตกต่างกัน หรือระดับความเสี่ยงแตกต่างกัน ผลตอบแทนอาจต่างกันด้วย