logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ภาษีและมรดก

ภาษีที่พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ต้องรู้

โดย กัลยวีร์ โรจน์สุขพัฒนา นักวางแผนการเงิน CFP®

เผยแพร่วันที่ 25/02/2024

อาชีพขายของออนไลน์ เป็นอาชีพที่หลายคนยึดเป็นอาชีพหลัก หรือมักเลือกเป็นอาชีพรองเพื่อสร้างรายได้อีกทาง เพียงแค่มีมือถือเครื่องเดียวและอินเทอร์เน็ตก็สามารถทำงานได้แล้ว เริ่มต้นง่าย ใช้เงินลงทุนไม่มาก แต่นอกจากจะต้องหมั่นเติมความรู้ด้านเทคโนโลยี สิ่งที่ควรสนใจและให้ความสำคัญคือ เรื่องภาษี เพราะหากละเลย อาจต้องสูญเงินเป็นจำนวนมาก

หากไม่ได้จดทะเบียนในรูปแบบบริษัท เงินได้จากการทำธุรกิจหรือการขายของออนไลน์นี้ถือเป็นเงินได้บุคคลธรรมดา ต้องยื่นภาษีในรูปแบบของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 8 หรือเงินได้ในมาตรา 40(8) ซึ่งเป็นเงินได้ที่ไม่จัดอยู่ในประเภทที่ 1-7 เช่น เงินที่ได้จากการทำธุรกิจ การขายอสังหาริมทรัพย์ การเกษตร เป็นต้น

 

ภาษีที่เกี่ยวข้องมี 2 ประเภท คือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนี้

1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เป็นภาษีที่จัดเก็บจากบุคคลทั่วไปที่มีเงินได้ไม่ว่าประเภทใด ชนิดใด ถ้าไม่มีกฎหมายยกเว้นให้แล้วก็อยู่ในข่ายต้องเสียภาษี

1.1 การยื่นภาษีครึ่งปี: นำเงินได้จากการขายของออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน มายื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.94 หากเงินได้มากกว่า 60,000 บาท สำหรับผู้ที่เป็นโสด และเกิน 120,000 บาท กรณีมีคู่สมรส (มีเงินได้ฝ่ายเดียวหรือทั้งสองฝ่ายรวมกัน)​ โดยยื่นได้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม – 30 กันยายน ในปีเดียวกัน ค่าลดหย่อนบางรายการจะถูกหักเหลือครึ่งหนึ่งด้วย เช่น ค่าลดหย่อนส่วนตัวจาก 30,000 บาท จะลดลงเหลือ 15,000 บาท

1.2 การยื่นภาษีปลายปี: นำเงินได้ทั้งหมดในช่วงปีที่ผ่านมาตั้งแต่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม มายื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด. 90 ภายในวันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม ของปีถัดไป เช่น เงินได้ปี 2566 ทั้งปี ต้องยื่นภายในมีนาคม 2567 ดังนั้น พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ต้องยื่นภาษี 2 ช่วงเวลา

อัตราภาษีที่ต้องจ่าย คำนวณได้จากยอดขายหรือเงินได้พึงประเมิน หักด้วยค่าใช้จ่าย และหักด้วยค่าลดหย่อน จึงออกมาเป็นเงินได้สุทธิที่ต้องเสียภาษี ที่นำไปคำนวณภาษีตามขั้นบันได สามารถเลือกได้ว่าจะหักหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาในอัตรา 60% หรือจะเลือกนำค่าใช้จ่ายจริงมาหักออกก็ได้ การหักค่าใช้จ่ายตามจริงต้องทำบัญชีรายรับรายจ่าย จัดเก็บทั้งหลักฐานต่าง ๆ ไว้ให้ครบถ้วน เหมาะกับพ่อค้าแม่ค้าที่มีต้นทุนของสินค้าสูง ส่วนการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมามีข้อดี คือ ไม่ต้องแสดงหลักฐานค่าใช้จ่ายแก่สรรพากร

ตัวอย่าง: คุณแอนมีรายได้จากการขายของออนไลน์ 520,000 บาท หากเลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา ก็เท่ากับหักค่าใช้จ่ายออกไปได้เลย 60% หรือ 312,000 บาท โดยไม่ได้สนใจว่าแท้จริงแล้วมีค่าใช้จ่ายถึง 312,000 จริงหรือไม่ เมื่อนำเงินได้หักค่าใช้จ่ายจะเหลือ 208,000 บาท หักค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท และหากไม่มีค่าลดหย่อนภาษีอะไรเพิ่มเติมเลย ก็จะเหลือเงินได้สุทธิที่นำไปคำนวณอัตราภาษีแบบขั้นบันไดที่ 148,000 บาท โดยเงินได้สุทธิที่ 150,000 บาทแรกจะได้รับยกเว้นภาษี นั่นคือ คุณแอนจะไม่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

อย่างไรก็ตามหากรายได้จากการขายของออนไลน์มากกว่า 1,000,000 บาทต่อปี ต้องนำรายได้มาคำนวณภาษีแบบเหมาในอัตรา 0.5% ด้วย เมื่อคำนวณแล้วให้นำภาษีที่ได้มาเทียบกับการคำนวณภาษีตามขั้นบันได(คำนวณเงินได้สุทธิ) แบบไหนเสียภาษีมากกว่าให้ใช้วิธีนั้น ซึ่งโดยมากการคำนวณภาษีแบบขั้นบันไดจะเสียภาษีสูงกว่า

2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax หรือ VAT) เป็นภาษีที่เก็บจากมูลค่าการซื้อขายหรือการให้บริการและการนำเข้าสินค้าเมื่อพ่อค้าแม่ค้ามีรายได้จากการขายหรือให้บริการเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ยอดขายเกิน และต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 7% ให้กรมสรรพากรทุกเดือนภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป รวมถึงต้องออกใบกำกับภาษีให้ลูกค้าด้วย 

เมื่อขายสินค้าราคา 1,070 บาท เป็นค่าสินค้า 1,000 บาท และ VAT 70 บาท ต้องนำส่งเงินจำนวน 70 บาทนี้ที่เรียกว่า “ภาษีขาย” ให้แก่สรรพากร และเงินจำนวน 1,000 บาทต้องนำไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยทั่วไปพ่อค้าแม่ค้าจะมีต้นทุนหรือมีการซื้อสิ่งของสำหรับกิจการของตน เช่น หากซื้อสินค้า จำนวน 535 บาท (ค่าสินค้า 500 บาท + VAT 35 บาท) ภาษีจำนวน 35 บาท จะเรียกว่า “ภาษีซื้อ” พ่อค้าแม่ค้าสามารถนำ VAT ที่จ่ายไป มาหักลบกับภาษีขายได้ หากมีภาษีขายมากกว่าภาษีซื้อ ต้องนำส่งส่วนต่างนี้ ให้แก่กรมสรรพากร แต่หากภาษีขายเท่ากับหรือน้อยกว่าภาษีซื้อ แม้จะไม่มีภาระที่ต้องนำส่งภาษี แต่ก็ยังคงมีหน้าที่ต้องยื่นแบบรายเดือน

สำหรับพ่อค้าแม่ค้ามือใหม่ สิ่งที่ทำได้ง่ายตั้งแต่เริ่มต้นทำธุรกิจออนไลน์คือ การทำบัญชีรายรับรายจ่าย เก็บหลักฐานเอกสาร ใบเสร็จทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง ทบทวนการทำธุรกิจของตนว่ามีต้นทุนอะไรบ้างเพื่อประเมินวิธีการหักค่าใช้จ่าย หากกิจการมีแนวโน้มจะไปได้ดี อาจต้องพิจารณาเปลี่ยนรูปแบบเป็นนิติบุคคลหรือการจดบริษัท เพราะการคำนวณภาษีจะคำนวณจากกำไรสุทธิ และคิดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ 20% ในขณะที่ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คำนวณแบบขั้นบันไดอัตราสูงสุดอยู่ที่ 35%

การขายสินค้าออนไลน์ ถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยสร้างรายได้จนใครหลายคนสร้างเนื้อสร้างตัวได้ แต่ถ้าละเลยเรื่องภาษี ถือว่าอันตรายมาก เพราะหากไม่เคยยื่นภาษีและเสียภาษีให้ถูกต้องเลย อาจถูกประเมินภาษีย้อนหลังได้ นอกจากต้องจ่ายภาษีที่ค้างชำระแล้ว สิ่งที่น่ากลัวคือบทลงโทษทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการแบบบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล จึงควรศึกษาหาความรู้เรื่องบัญชีและภาษี หรือปรึกษาผู้รู้ เพื่อจะได้ค้าขายหรือดำเนินธุรกิจได้อย่างสบายใจ

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th