logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ลงทุน

พอร์ตแดงถ้วนหน้า...หยุดก่อนหรือไปต่อ?

โดย ภก.ธริญญ์รัฐ  ปิยะศิริโสฬส นักวางแผนการเงิน CFP®

เผยแพร่วันที่ 21/01/2024

หากตั้งเป้าหมายไว้ต้องการมีเงินเก็บเพื่อการเกษียณ 20 ล้านบาท ในเวลา 30 ปีข้างหน้า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายจึงเริ่มต้นลงทุนด้วยเงินตั้งต้น 500,000 บาท และจะสมทบเพิ่มเดือนละ 15,000 บาท (ตลอดระยะเวลา 30 ปี) แต่ด้วยสถานการณ์โลกการลงทุนในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมามีความผันผวนค่อนข้างสูง และราคาของสินทรัพย์การลงทุนหลายประเภทปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง  ทำให้นักลงทุนเกิดความสงสัยว่าควรจัดการกับพอร์ตลงทุนอย่างไร ควรลงทุนต่อ หยุดลงทุน หรือเลิกลงทุน

อย่างไรก็ตาม หากนักลงทุนกำลังตัดสินใจทางใดทางหนึ่ง ขอเสนอแนวทางในการทบทวนแผนการลงทุนเพื่อนำไปประกอบการตัดสินใจว่าควรดำเนินการต่อไปอย่างไร

รูปที่ 1. Asset Class Returns ระหว่างปี 2008 – 2022 และ YTD returns ของปี 2023 จาก Guide to the markets Q4 2023 ของ JP Morgan Asset Management (ข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ย. 2566)

จากรูปที่ 1. การลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ (Large Cap) ในดัชนี S&P500 ระหว่างปี 2008 - 2022 ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีที่ 8.8% และมีความผันผวนอยู่ที่ 17.7% ในขณะที่การลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ในช่วงเดียวกันให้ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีที่ -2.6% แต่มีความผันผวนสูงถึง 20.2% ซึ่งความผันผวนนี้บอกถึงความแกว่งของราคาสินทรัพย์ (ยิ่งความผันผวนสูง ราคาสินทรัพย์ยิ่งแกว่งมาก ทั้งนี้ ราคาอาจจะแกว่งไปในทางบวกหรือทางลบก็ได้)

ดังนั้น การเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความผันผวนสูง (มีความเสี่ยงสู.) อาจจะไม่ได้รับผลตอบแทนสูง (High Risk High Returns) เสมอไป ในทางกลับกัน หากเลือกลงทุนโดยการกระจายสินทรัพย์ลงทุน (Asset Allocation) สามารถสร้างผลตอบแทนในช่วงดังกล่าวเฉลี่ยต่อปีที่ 6.1% และมีความผันผวนอยู่ที่ 12.4% จึงเห็นได้ว่าการเลือกลงทุนโดยการกระจายสินทรัพย์ลงทุน ผลตอบแทนอาจจะอยู่ในระดับกลาง ๆ ไม่ได้สูงเหมือนกับการลงทุนในหุ้น S&P500  100% แต่ความผันผวนของพอร์ตลงทุนต่ำกว่าการลงทุนใน กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs)  หุ้นกู้ประเภท High Yield Bond และสินค้าโภคภัณฑ์

รูปที่ 2. ความสัมพันธ์ระหว่างระยะเวลา, ผลตอบแทน และความผันผวน ของสินทรัพย์ลงทุนแต่ละประเภท ระหว่างปี 1950 -2022 จาก Guide to the markets Q4 2023 ของ JP Morgan Asset Management

ประเด็นถัดมาคือ ระยะเวลาของแผนการลงทุน จากรูปที่ 2. จะเห็นได้ว่าไม่ว่าจะเลือกสร้างพอร์ตลงทุนในหุ้น S&P500, ดัชนีพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกา (ตราสารหนี้ US Government Bond Index) หรือการกระจายสินทรัพย์ลงทุนหุ้น (50%) และตราสารหนี้ (50%) ก็มีโอกาสขาดทุนในปีแรกเช่นเดียวกัน แต่หากลงทุนมากกว่า 5 ปีขึ้นไป (หุ้น 50%, ตราสารหนี้ 50%) ผลตอบแทนจะกำไรทุกปีเลย ในขณะที่ตราสารหนี้ใช้เวลา 10 ปี และหุ้นต้องใช้เวลาถึง 20 ปี ดังนั้น หากมีระยะเวลาของแผนการลงทุนสั้นจึงไม่ควรเสี่ยงลงทุนหุ้นเป็นจำนวนมาก

จากข้อมูลที่นำเสนอไปข้างต้น มีคำแนะนำดังนี้

  • ต้องการหยุด เลิกลงทุน ในกรณีที่รู้สึกเช่นนี้แสดงว่าการขาดทุนในพอร์ตลงทุนสูงมาก หรือกำลังลงทุนเกินระดับความเสี่ยงที่รับได้ คำแนะนำคือ การทบทวนความเสี่ยง, ปรับพอร์ตสินทรัพย์ลงทุน (Asset Rebalancing) ให้เหมาะสมกับความเสี่ยงที่ตนเองรับได้ เพราะหากหยุด หรือเลิกลงทุน สิ่งที่หายไปที่คือ ระยะเวลาในการลงทุน
  • ต้องการลงทุนเพิ่ม หรือสนใจเริ่มลงทุน ในกรณีที่รู้สึกเช่นนี้ มองเห็นว่าเป็นโอกาสทางการลงทุน แต่ขอหยิบยกคำพูดของ Warren Buffet ที่กล่าวว่า “The future is never clear. You pay a very high price in the stock market for a cheery consensus. Uncertainty is the friend of the buyer of long-term values.” หรือไม่มีใครรู้อนาคต และความไม่แน่นอนคือสิ่งที่นักลงทุนต้องเจอ และจากข้อมูลในรูปที่ 1. แสดงว่าไม่มีสินทรัพย์ลงทุนใดให้ผลตอบแทนที่ดีและแย่ไปได้ตลอด ประกอบกับความไม่แน่นอนของการลงทุน และไม่มีใครมองเห็นอนาคตได้ชัดเจน ดังนั้น การสร้างแผนการลงทุนโดยการกระจายสินทรัพย์ลงทุน (Asset Allocation) สามารถช่วยลดความผันผวนของการลงทุนระยะยาวได้ดีกว่าการลงทุนในสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งเพียงอย่างเดียว เนื่องจากหากเลือกลงทุนในสินทรัพย์บางประเภท เช่น หุ้น S&P500 และในปีที่ท่านต้องการใช้เงินก้อนนั้นคือปี 2009 อาจจะสูญเสียเงินลงทุนได้ถึง 50% ของมูลค่าพอร์ตตามรูปที่ 3. ดังนั้น การปกป้องการสูญเสียเงินต้นก็เป็นเรื่องสำคัญในการลงทุนระยะยาวเช่นกัน

รูปที่ 3. การขาดทุนสูงสุดในแต่ละปีของการลงทุนใน SPDR S&P500 ETF ระหว่างปี 2000-2022 จาก www.portfoliovisualizer.com

สรุปปัจจัยสำคัญสำหรับการลงทุน คือ การรู้เป้าหมายการเงิน เข้าใจความเสี่ยงที่ตนเองยอมรับได้ กระจายการลงทุนให้เหมาะสม ซึ่งเมื่อมีข้อมูลทั้งหมดแล้วสามารถนำมาสร้างแผนการลงทุนที่เหมาะสมกับตนเอง ซึ่งจะทำให้สามารถดำเนินการลงทุนไปได้ตลอดระยะเวลาของแผนลงทุน ไม่หยุดหรือเลิกไปก่อนถึงเวลา เพราะนั่นคือการสูญเสียเวลาที่เป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของการลงทุน และพึ่งระลึกว่าการลงทุนที่เสี่ยงสูง ไม่ได้รับประกันว่าจะได้รับผลตอบแทนที่สูงเสมอไป แต่การไม่ยอมรับความเสี่ยงเลยก็เป็นสิ่งที่เสี่ยงเช่นกัน

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th