logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ประกันภัย

3 แบบประกันที่สำคัญ สำหรับพ่อแม่ที่มีลูกเล็ก

โดย วริศา มณีธวัช ที่ปรึกษาการเงิน AFPTTM

ผู้จัดการหน่วย ศุภชนม์ 9B11A บมจ.กรุงไทยแอกซ่า ประกันชีวิต

เผยแพร่วันที่ 07/01/2024

ครอบครัวที่มีลูกเล็กต้องมีการวางแผนการใช้จ่ายและการจัดการความเสี่ยงอย่างรอบคอบ เนื่องจากการมีสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้นมาในครอบครัว ถือว่าเป็นปัจจัยค่าใช้จ่ายใหม่ที่ไม่สามารถคาดการณ์งบประมาณได้อย่างแม่นยำ การวางแผนประกันของทั้งพ่อแม่และลูก จึงมีความสำคัญทั้งในเรื่องการโอนย้ายความเสี่ยง และการสร้างความมั่นคงปลอดภัยของครอบครัวในระยะยาว อย่างไรก็ตาม ก่อนตัดสินใจเลือกซื้อประกัน ควรเลือกแผนประกันให้คุ้มค่าเหมาะสมกับครอบครัวที่สุด

1. ประกันสุขภาพเด็ก

ไม่มีใครรู้ว่าลูกจะเจ็บป่วยวันไหน และด้วยความเป็นพ่อแม่ย่อมเป็นห่วงใย เจ็บป่วยขึ้นมาก็อยากจะให้ลูกหายเร็วที่สุด ด้วยวิธีการรักษาที่ดีที่สุด แม้ค่ารักษาสูงแค่ไหนก็ยอมจ่าย

ตัวอย่างค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา

  • โรคปอดบวมในเด็ก 150,000 บาท
  • โรคมือ เท้า ปาก 200,000 บาท
  • ไวรัสอาร์เอสวี (RSV) 200,000 บาท
  • โรคลิ้นหัวใจรั่ว 900,000 บาท
  • โรคมะเร็ง 1,000,000 บาท
  • โรคไข้เลือดออก 120,000 บาท
  • ไวรัสโรต้า 70,000 บาท

ที่มา: ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยจากโรงพยาบาลชั้นนำปี 2561 และข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข

ดังนั้น เมื่อพ่อแม่ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะต้องเตรียมเงินค่ารักษาในแต่ละปีเท่าไร ทางเลือกในการควบคุมค่าใช้จ่ายในการรักษาแบบง่ายที่สุดและใช้เงินน้อยที่สุด คือ การวางแผนทำประกันสุขภาพเด็ก

เคล็ดลับเลือกประกันสุขภาพให้ลูกน้อย

  1. ค้นหากุมารแพทย์เก่ง ๆ ที่ไว้ใจ
  2. กุมารแพทย์ท่านนี้ออกตรวจที่โรงพยาบาลไหนบ้าง เลือก 2 - 3 โรงพยาบาลที่สะดวก ใกล้บ้าน หรือมั่นใจในการบริการ
  3. ตรวจสอบค่าห้องของโรงพยาบาลแต่ละที่ จากเว็ปไซต์ และวงเงินค่ารักษาที่ควรเตรียมไว้
  4. เลือกบริษัทประกันที่มีโรงพยาบาลนั้นอยู่ในเครือ หากสามารถใช้สิทธิ์แฟกซ์เคลมได้ ก็จะเพิ่มความสะดวกสบาย
  5. เลือกแผนประกันที่ความคุ้มครองครอบคลุม ค่าห้อง ค่ารักษา หากงบประมาณเพียงพอ แนะนำให้เลือกแบบเหมาจ่าย สบายใจกว่าเพราะไม่ต้องกังวลส่วนเกิน
  6. ความต้องการส่วนอื่น ๆ เช่น วงเงิน OPD, ค่าชดเชยรายวัน, ความคุ้มครองอุบัติเหตุ ว่าจำเป็นไหม หากต้องการเพิ่ม ก็สามารถปรึกษาตัวแทนประกันชีวิตได้
  7. เลือกบริษัทประกันที่มั่นคง และเลือกตัวแทนมืออาชีพ

 

2. ประกันชีวิต (คุณพ่อคุณแม่)

“เพราะการดำเนินชีวิตของพ่อแม่ อาจข้ามขั้นตอน แต่การศึกษาของลูก ไม่อาจข้ามขั้นตอนได้”

มีคนเคยบอกว่าวงจรชีวิต คือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย แต่แน่ใจแล้วหรือว่าทุกคนจะเป็นเช่นนั้น

บางคนเกิด ยังไม่ทันแก่ ก็เจ็บ บางคนเกิด ยังไม่ทันแก่ ก็ตาย

แต่การศึกษาของลูก จะค่อย ๆ ไล่เรียงไปตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถม มัธยม อุดมศึกษา โดยไม่สามารถลัดขั้นตอนได้

เชื่อว่าพ่อแม่ส่วนใหญ่ในประเทศไทยเกิน 90% ใช้วิธีค่อย ๆ หาเงินไปและส่งลูกเรียนไปจนกระทั่งลูกเรียนจบ แต่ลองนึกดูว่าถ้าคุณพ่อคุณแม่เป็นคน ๆ นั้นที่ลัดขั้นตอน จากไปก่อนโดยทิ้งลูกเล็ก ๆ เอาไว้ จะเอาเงินจากที่ไหนส่งตัวเองเรียน เพราะตอนนั้นด้วยอายุและประสบการณ์ของลูก ยังไม่สามารถทำงานหาเงินเองได้ วิธีการที่ดีที่สุดและใช้เงินน้อยที่สุดในการการันตีการศึกษา สินทรัพย์แสนมีค่าของลูก คือ การทำประกันชีวิตคุณพ่อคุณแม่ โดยมีชื่อผู้รับผลประโยชน์เป็นลูก

เคล็ดลับเลือกประกันชีวิตพ่อแม่

  1. คำนวณทุนประกัน ที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการศึกษา จนกระทั่งลูกเรียนจบปริญญา รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าอาหาร ค่าใช้จ่ายจิปาถะ (1) รวมกับหนี้สินที่มีอยู่ เพื่อไม่ให้หนี้ที่มี ตกทอดไปยังลูก (2) หักลบกับมูลค่าทรัพย์สินสภาพคล่อง เช่น เงินสด ทองคำ ที่มีอยู่แล้วในขณะนี้ (3)
    (1)+(2)-(3) = ทุนประกันชีวิตที่ควรจะมี
  2. เลือกแผนประกันที่ตอบโจทย์ อาจเป็นแบบชั่วระยะเวลาหรือตลอดชีพ
  3. เลือกแผนที่ระยะเวลาในการส่ง ไม่สั้นและไม่ยาวนานเกินไป เบี้ยประกันอยู่ในงบประมาณ และทุนประกันชีวิตเพียงพอตามที่คำนวณไว้
  4. เลือกบริษัทประกันที่มั่นคง และเลือกตัวแทนมืออาชีพ

 

3. ประกันออมทรัพย์เพื่อลูก

อยากเก็บเงินให้ลูกด้วยประกันออมทรัพย์ ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี เพราะไม่มีความเสี่ยง สร้างวินัยในการเก็บเงิน และล็อคเงินไว้ให้ลูกในระยะยาวได้จริง

เคล็ดลับเลือกประกันออมทรัพย์เพื่อลูก

  1. กำหนดว่าเงินก้อนนี้มีเป้าหมายเพื่ออะไร หรือต้องการใช้ในระยะเวลาอีกกี่ปี เพื่อดูแผนที่ระยะครบกำหนดสัญญาเหมาะสม
  2. คุณพ่อคุณแม่มีแผนที่จะส่งเงินออมต่อเนื่องระยะเวลากี่ปี เพื่อดูระยะเวลาส่งเบี้ยประกันที่ตอบโจทย์
  3. ต้องการออมปีละเท่าไหร่ เพื่อกำหนดเบี้ยประกัน
  4. แนะนำให้ “ทำประกันในชื่อพ่อแม่” และ ”ใส่ชื่อผู้รับผลประโยชน์เป็นลูก” เพราะระหว่างนี้จะได้คุ้มครองชีวิตพ่อแม่ไปด้วย, หากพ่อแม่เป็นอะไรไปจะได้ไม่ต้องส่งเบี้ยต่อ, ชื่อผู้รับผลประโยชน์ชัดเจนว่าเป็นลูก, พ่อแม่นำไปใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้ เป็นต้น
  5. เลือกบริษัทประกันที่มั่นคง และเลือกตัวแทนมืออาชีพ

 

ประกันออมทรัพย์เหมือนกัน แต่แผนมีให้เลือกหลากหลาย รายละเอียดแตกต่างกัน

ความเจ็บป่วยของลูกเป็นเรื่องเร่งด่วนสุดของการมีประกัน แต่ความคุ้มครองของพ่อแม่ก็สำคัญ หากพ่อหรือแม่ เป็นผู้นำในการหารายได้ให้ครอบครัว ดังนั้น ควรพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้เหมาะสมในการทำประกันทั้งสองแบบ ถัดจากนั้นก็วางแผนการเงินสำหรับการศึกษาของลูกน้อย

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th