logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ประกันภัย

เรื่องน่ารู้ก่อนวางแผนประกันชีวิต

โดย พิชญาภัฐฐ์ ทองศรีเกตุ นักวางแผนการเงิน CFP®

เผยแพร่วันที่ 27/05/2567

 

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ยังต้องพึ่งพาแหล่งรายได้จากการทำงาน เพื่อนำมาใช้จ่ายเลี้ยงตัวเอง เลี้ยงครอบครัว เครื่องมือทางการเงินสำคัญ ที่ช่วยปกป้องความเสี่ยงให้แผนการเงินราบรื่น ไม่สะดุด เมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน คือ กรมธรรม์ประกันชีวิต

ถึงแม้ทุกคนจะรู้ว่าประกันชีวิตมีความสำคัญ ช่วยโอนย้ายความเสี่ยง ช่วยผ่อนหนักเป็นเบา แต่ประกันชีวิตก็ผูกไว้กับความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดหรือไม่เกิดขึ้นก็ได้ ทำให้ใครหลายคนยังจัดลำดับความสำคัญของการทำประกันชีวิตไว้ลำดับท้าย ๆ ของการวางแผนการเงิน

หากคุณจากไปหลังจากหมดภาระต่อครอบครัว และมีทรัพย์สินมากเพียงพอส่งต่อเพื่อดูแลทายาทแล้วก็คงไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง แต่หากจากไปกะทันหันในวัยทำงาน และยังมีคนข้างหลังต้องการพึ่งพารายได้จากคุณอยู่ ก็อาจเกิดปัญหา นี่คือ ความเสี่ยงที่อาจจะเกิดหรือไม่เกิดก็ได้ และไม่มีใครรู้ล่วงหน้า

วัยทำงาน เป็นวัยสร้างเนื้อสร้างตัว สร้างครอบครัว เริ่มต้นสะสมเงิน หลายครอบครัวยังไม่มีเงินสำรองมากนัก รายได้ที่หามาแค่เพียงใช้จ่ายในชีวิตประจำวันจึงแทบไม่เหลือเงินออมสะสมดังนั้น หากเกิดเหตุไม่คาดฝัน เช่น เจ็บป่วยร้ายแรง หากไม่มีเงินก้อนสำรองที่เพียงพออาจติดขัดเรื่องสภาพคล่องทางการเงิน และมีผลที่ตามมา เช่น ครอบครัวไม่สามารถรักษาคุณภาพชีวิตแบบเดิมไว้ได้อาจจะต้องย้ายที่อยู่ ลูกไม่สามารถเรียนต่อที่โรงเรียนเดิมได้ แต่หากโอนย้ายความเสี่ยงด้วยการซื้อประกันชีวิต ครอบครัวก็จะมีเงินก้อนไว้สำหรับประคับประคองชีวิต ตามวงเงินที่เตรียมไว้ อย่างน้อย ๆ ก็มีเวลาให้ครอบครัวปรับตัว

โดยปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ควรพิจารณาก่อนตัดสินใจซื้อประกัน คือ ทุนประกัน โดยเปรียบเทียบความจำเป็นของการมีวงเงินทุนประกันเป็นจำนวนที่เพียงพอต่อการรองรับภาระที่รับผิดชอบอยู่ หรือบางคนตั้งค่าทุนประกันไว้เท่าจำนวนภาระหนี้สิน เพื่อปกป้องครอบครัวจากการรับภาระหนี้สินแทน บางคนตั้งค่าไว้ตามเงินสักก้อนหนึ่งที่ต้องการส่งมอบให้คนข้างหลัง เพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ เช่น เพื่อทุนการศึกษาบุตรหลาน เงินตั้งหลักของครอบครัวให้ดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้อย่างน้อย 5 ปี เป็นสินทรัพย์ลงทุนที่สามารถนำไปสร้างผลตอบแทนเป็นรายได้เลี้ยงครอบครัวต่อไปในระยะยาว

หากต้องการประเมินทุนประกันตามมูลค่าความสามารถ ก็จะคำนวณจากรายได้ที่ใช้ดูแลครอบครัวในแต่ละปีคูณกับจำนวนปีที่ทำงานจนวัยเกษียณ (ปรับด้วยอัตราเงินเฟ้อ) ก็จะเป็นมูลค่าความสามารถในวัยทำงานของคุณ ที่จะสามารถใช้ดูแลครอบครัวได้ เสมือนทำงานเลี้ยงครอบครัวไปจนถึงวันเกษียณอายุ

ทุนประกันชีวิตจะมาจากความคุ้มครองใน 2 รูปแบบ

  1. คุ้มครองการเสียชีวิตทุกกรณีทั้งจากการเจ็บป่วยและอุบัติเหตุ  
  2. คุ้มครองเฉพาะการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ

ข้อยกเว้นความคุ้มครองการเสียชีวิตในกรมธรรม์ มี 3 ข้อ

  1. ปกปิดสาระสำคัญก่อนทำประกัน เช่น ข้อมูลสุขภาพ
  2. ฆ่าตัวตายภายใน 1 ปี หลังจากวันเริ่มสัญญา
  3. เสียชีวิตจากการถูกผู้รับประโยชน์ฆ่า

สัญญาประกันชีวิตที่คุ้มครองการเสียชีวิตทุกกรณี เบี้ยประกันจะสูงกว่าสัญญาคุ้มครองการเสียชีวิตเฉพาะอุบัติเหตุ สำหรับคนที่มีความเสี่ยงจากการเดินทางหรือการทำงานนอกสถานที่ แต่ไม่มีความสามารถชำระเบี้ยจำนวนมากก็อาจจะวางแผนทำทุนประกันสูงแต่สามารถจ่ายเบี้ยถูกได้ จากการผสมความคุ้มครองระหว่างประกันชีวิตกับประกันอุบัติเหตุเข้าไปในหนึ่งกรมธรรม์

ดังนั้น การตรวจสอบทุนประกันรวมจากทุกกรมธรรม์ที่ถืออยู่ ควรตรวจสอบแยกเป็นส่วนว่ามีความคุ้มครองรวมเท่าไหร่ แยกเป็น จากการเสียชีวิตทุกกรณี การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ

สำหรับระยะเวลาความคุ้มครองของประกันชีวิต ควรครอบคลุมไปตลอดช่วงที่มีภาระในการดูแลคนข้างหลัง เช่น คุ้มครองจนถึงลูกเรียนจบหรือคุ้มครองไปจนกว่าจะหมดภาระหนี้สิน เพราะอาจเข้าใจว่าหากอยู่ในวัยเกษียณแล้วก็ไม่ต้องดูแลใครแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องมีทุนประกันชีวิตอีกต่อไป แต่จริง ๆ แล้วช่วงวัยเกษียณก็ยังสำคัญ กรณีต้องการวางแผนมรดกให้กับทายาท กรมธรรม์ประกันชีวิตก็จัดเป็นพินัยกรรมที่ระบุชื่อทายาทไว้อย่างชัดเจน และสามารถส่งมอบมรดกเงินสดตามจำนวนที่กำหนดได้ทันที โดยไม่ต้องผ่านการจัดการมรดก หรือในกรณีช่วงท้ายของชีวิต หากเกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงหรือป่วยติดเตียง มีค่าใช้จ่ายให้กับผู้ดูแล การมีกรมธรรม์ประกันชีวิตก็สามารถนำสินไหมประกันชีวิตมาเคลียร์ค่าใช้จ่ายช่วงสุดท้าย เมื่อจากไปได้ โดยไม่ต้องเป็นภาระให้คนข้างหลัง

อีกทั้ง การวางแผนทำประกันเพื่อความคุ้มครองที่ต้องการ ต้องวางแผนควบคู่กับแผนการเงินอื่น ๆ ด้วย เช่น

  • หากต้องการชำระเบี้ยต่ำคุ้มครองยาวทุนประกันสูง ควรเลือกแบบประกันตลอดชีพที่คุ้มครองถึงอายุ 99 ปี ชำระเบี้ยระยะยาวเช่น 20 ปีเพื่อให้อัตราการชำระเบี้ยต่อความคุ้มครองต่ำ โดยเมื่อถึงวัยเกษียณหมดภาระรับผิดชอบต่อครอบครัวแล้ว อาจจะปรับแผนเวนคืนเงินสดกลับมาเป็นเงินใช้ยามเกษียณได้  หรือคงไว้เป็นความคุ้มครองตลอดชีพเพื่อเป็นมรดกหรือเป็นค่าใช้จ่ายครั้งสุดท้าย ไม่ต้องเป็นภาระลูกหลาน
  • หากต้องการความคุ้มครองสูงแต่ชำระเบี้ยแบบถูกที่สุด ควรทำประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา โดยกรมธรรม์จะไม่มีมูลค่าเงินคืนหากเวนคืนก่อนกำหนดหรือชำระจนครบสัญญา เป็นการซื้อเพื่อความคุ้มครองอย่างแท้จริง
  • หากต้องการออมเงินไปด้วยและรับเงินครบสัญญาเป็นเงินก้อนในระยะเวลาหนึ่ง เช่น เมื่อครบ 15 หรือ 20 ปี ควรเลือกประกันกลุ่มสะสมทรัพย์ แต่เนื่องจากแบบประกันกลุ่มนี้เน้นการหาผลตอบแทนไปด้วย จึงให้ความคุ้มครองไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับเบี้ยที่ชำระไป หากต้องการทุนประกันให้เพียงพอตามความจำเป็น ต้องแบ่งผสมซื้อแบบประกันแบบตลอดชีพหรือชั่วระยะเวลา ควบคู่ไปด้วย
  • หากต้องการวางแผนสร้างบำนาญเงินได้หลังเกษียณควบคู่ไปกับการวางแผนความคุ้มครองในวัยทำงาน ควรเลือกหมวดประกันบำนาญ ซึ่งจะมีวงเงินความคุ้มครองในช่วงชำระเบี้ยในวัยทำงานและรับบำนาญรายงวดในช่วงวัยเกษียณ โดยช่วงรับบำนาญจะไม่มีทุนประกันให้แล้ว หากต้องการวางแผนการส่งมอบมรดกควรซื้อประกันแบบตลอดชีพควบคู่ไปด้วย

สำหรับอัตราเบี้ยประกัน ถูกกำหนดโดยอัตรามรณะ โดยแบ่งตามอายุและเพศ นอกจากนี้บริษัทประกันยังพิจารณาความเสี่ยงอื่น ๆ ของผู้เอาประกันประกอบการพิจารณาด้วย เช่น ประวัติสุขภาพ สัดส่วนน้ำหนักส่วนสูงที่สัมพันธ์กัน  ลักษณะอาชีพความเสี่ยง ความสามารถในการชำระเบี้ย หากไม่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน การรับประกันจะมีข้อยกเว้นความคุ้มครองบางอย่างหรือมีอัตราเบี้ยเพิ่มพิเศษขึ้นได้

ทุกวันนี้ยังมีคนกล้า ๆ กลัว ๆ กับการทำประกันชีวิตฉบับแรก เพราะมีความยุ่งยาก เตรียมเอกสารมากมาย จึงต้องทำความเข้าใจเงื่อนไข สัญญา ที่สำคัญลังเลว่าจะทำประกันชีวิตแบบไหน ดังนั้น ก่อนทำประกันชีวิตต้องถามตัวเองก่อนว่าพร้อมแค่ไหน และทำแล้วจะส่งผลดีต่อคนในครอบครัวมากน้อยแค่ไหน หากคำตอบที่ได้ คือ เป็นการลดผลกระทบที่เกิดจากการเสี่ยงภัยหากวันหนึ่งผู้เอาประกันเสียชีวิต ก็ควรเริ่มศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วน เพราะอย่าลืมว่าประกันชีวิตเป็นเครื่องมือที่ช่วยคุ้มครองมูลค่าความสามารถ คุ้มครองเป้าหมายในชีวิตของคนในครอบครัว จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องจัดสรรเงินบางส่วนมาทำประกันด้วย

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th