logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: บริหารจัดการเงิน

ตั้งเป้าหมายการออม ชีวิตไม่ขาดแคลน

โดย ฉัตรี ชุติสุนทรากุล นักวางแผนการเงิน CFP®

เผยแพร่วันที่ 09/05/2024

 

หากมีคนถามว่า “เงินมีค่าที่สุดตอนไหน” คำตอบคงหนีไม่พ้น มีค่าตอนมีความจำเป็นต้องนำไปใช้

ลองจินตนาการว่า หากเรามีเงิน 1 ล้านบาทอยู่ในบัญชี โดยที่ไม่ได้มีเป้าหมายว่าจะนำเงินไปใช้เพื่ออะไร เงิน 1 ล้านบาทก็จะให้คุณค่าเป็นดอกเบี้ยรับ และความอบอุ่นมั่นคงทางจิตใจ ให้รู้ว่าเรามีความมั่งคั่งสุทธิอยู่เป็นเงินสดจำนวน 1 ล้านบาท

ในทางกลับกันหากเราจำเป็นต้องใช้เงิน 1 ล้านบาทในการผ่าตัดบายพาสหัวใจ คุณค่าของเงิน 1 ล้านบาทเท่ากับชีวิตหนึ่งชีวิต หรือหากมีเป้าหมายการนำเงิน 1 ล้านบาท ไว้สำหรับให้ลูกเริ่มต้นธุรกิจหลังเรียนจบ คุณค่าของเงิน ก็คือ อนาคตของลูก และมูลค่าการเติบโตของธุรกิจที่ลูกจะสร้างขึ้นในอนาคต

เป้าหมายการออมเพื่อให้มีเงินจำนวนหนึ่งในอนาคต เพื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่สำคัญสำหรับตัวเอง จึงเป็นสิ่งสำคัญ หากเป้าหมายนั้นสำคัญมาก ก็จะทำให้มีพลังกาย พลังใจ และมีแรงผลักดันในการหาเงิน และมีวินัยในการออมเงินมากยิ่งขึ้น

 

ตั้งเป้าหมายการออม

หากเรากำลังสอนเด็กให้เริ่มหัดออมเงิน ควรเริ่มจากการให้เด็กฝึกออมเงินเพื่อเป้าหมายระยะสั้นก่อน เพื่อให้เด็ก ๆ ได้ลิ้มรสชาติของความสุขจากการเก็บออมเพื่อให้ได้ในสิ่งที่อยากได้ เช่น ออมเพื่อไปเที่ยวและกินขนมในช่วงวันหยุดยาว ซื้อของเล่นหรืออุปกรณ์กีฬา หรือนำไปใช้ร่วมกิจกรรมเข้าค่าย หรือท่องเที่ยวกับเพื่อน ๆ

แต่สำหรับวัยเริ่มทำงาน การตั้งเป้าหมายการออมควรเริ่มต้นจากการตั้งเป้าหมายใหญ่ และสำคัญที่สุดในชีวิตก่อน ซึ่งมักจะเป็นเป้าหมายระยะยาว เช่น

  • เป้าหมายการออมเพื่อการใช้ชีวิตหลังเกษียณของตัวเอง (และคู่สมรส)
  • เป้าหมายการศึกษาปริญญาตรีและปริญญาโทของบุตร
  • เป้าหมายการซื้อบ้าน คอนโดมิเนียม เพื่ออยู่อาศัยหรือสร้างครอบครัว

เมื่อตั้งเป้าหมายใหญ่แล้ว ก็ต่อด้วยเป้าหมายระยะกลาง และระยะสั้นอื่น ๆ เพื่อความสุขทางใจ เช่น

  • เป้าหมายรถยนต์คันแรก หรือเปลี่ยนรถใหม่
  • เป้าหมายเงินลงทุนก้อนแรกในการทำธุรกิจส่วนตัว
  • เป้าหมายการเก็บออมเพื่อแต่งงาน สร้างครอบครัว
  • เป้าหมายการเปลี่ยนโทรศัพท์ใหม่ ซื้อกระเป๋า หรือ gadgets ต่าง ๆ
  • เป้าหมายการฉีด Botox, Filler เสริมความงาม ดูแลรูปลักษณ์เป็นประจำในแต่ละปี

 

Timeline การออม

การกำหนดกรอบเวลาการออม เพื่อให้รู้ว่าจะมีเวลาเก็บออมนานเท่าไรในแต่ละเป้าหมาย เพื่อให้มีเงินก้อน ตามเวลาที่กำหนดไว้สำหรับแต่ละเป้าหมาย เช่น

  • ปัจจุบัน อายุ 35 ปี ตั้งใจจะเกษียณตอนอายุ 60 ปี มีระยะเวลาการออม 25 ปี หรือ 300 เดือน เพื่อให้มีเงินก้อน ณ อายุ 60 ปี
  • ปัจจุบัน ลูกอายุ 2 ปี ลูกจะใช้เงินก้อนแรกสำหรับเรียนปริญญาตรีตอนอายุ 18 ปี มีระยะเวลาการออม 16 ปี หรือ 192 เดือน
  • วางแผนเริ่มต้นธุรกิจส่วนตัวในอีก 5 ปีข้างหน้า ด้วยเงินลงทุนก้อนแรก มีระยะเวลาการออม 60 เดือน
  • อีก 2 ปี จะเปลี่ยนโทรศัพท์เครื่องใหม่ มีระยะเวลาการออม 24 เดือน

เมื่อทราบระยะเวลาการออมแล้ว ก็เริ่มตั้งเป้าหมายการเก็บเงินเป็นรายเดือน สำหรับแต่ละเป้าหมาย เช่น

  • เป้าหมายการใช้ชีวิตหลังเกษียณ ต้องมีเงิน 9 ล้านบาท ในอีก 25 ปีข้างหน้า ต้องออมเดือนละ 30,000 บาท
  • เป้าหมายการศึกษาปริญญาตรีในประเทศ และปริญญาโทต่างประเทศของบุตร ต้องมีเงิน 4 ล้านบาท ในอีก 16 ปีข้างหน้า ต้องออมเดือนละประมาณ 20,900 บาท
  • เป้าหมายเริ่มต้นธุรกิจส่วนตัว ต้องการเงินก้อน 500,000 บาท ในอีก 5 ปีข้างหน้า ต้องออมเดือนละ 8,400 บาท
  • เป้าหมายเปลี่ยนโทรศัพท์เครื่องใหม่มูลค่า 36,000 บาท ใน 2 ปีข้างหน้า ต้องออมเดือนละ 1,500 บาท

 

เครื่องมือการออม

เป้าหมายระยะยาว (มากกว่า 5 ปีขึ้นไป) เช่น เป้าหมายการใช้ชีวิตหลังเกษียณที่มีระยะเวลาออมมากกว่า 5 ปี สามารถใช้เครื่องมือการออมที่มีระดับความเสี่ยงสูงขึ้นกว่าการออมไว้ในบัญชีสะสมทรัพย์ หรือบัญชีฝากประจำทั่วไปได้ เนื่องจากมีระยะเวลาการออมที่นาน และมีการทยอยออมเงินทุกเดือน (Dollar Cost Average - DCA) ทำให้ลดความผันผวนของราคาสินทรัพย์เสี่ยงได้ เช่น

  • การออมทุกเดือนในหุ้นปันผล
  • การออมทุกเดือนในกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นของกลุ่มธุรกิจที่สนใจ
  • การออมทุกเดือนในพันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ หรือกองทุนตราสารหนี้

ซึ่งประโยชน์ของการออมในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น คือ ผลตอบแทนคาดหวังที่สูงขึ้น เพื่อเงินก้อนที่เพิ่มขึ้นจากการออม

นอกจากกองทุนและหุ้นที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว เครื่องมือการออมที่เหมาะสำหรับเป้าหมายเกษียณ คือกองทุน RMF และ SSF ที่ช่วยวางแผนประหยัดภาษี ไปพร้อมกับการออมเพื่อเป้าหมายเกษียณ

เป้าหมายระยะกลาง (3 - 5 ปี) อาจจะใช้เครื่องมือการออมที่เหมือนกับเป้าหมายระยะยาวได้ แต่ให้ปรับสัดส่วนพอร์ตการลงทุนให้มีเงินออมอยู่ในสินทรัพย์เสี่ยงต่ำเป็นสัดส่วนที่มากขึ้น

เป้าหมายระยะสั้น (1 – 3 ปี) เครื่องมือการออมที่เหมาะสม คือ การแบ่งเงินออมจากบัญชีรับเงินเดือน มาเก็บไว้ในสินทรัพย์ลงทุนอื่น ๆ เช่น

  • กองทุนตราสารหนี้ระยะกลางหรือระยะสั้น
  • บัญชีเงินฝากประจำที่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่าบัญชีออมทรัพย์
  • บัญชีสะสมทรัพย์พิเศษ ที่หากฝากประจำทุกเดือน โดยไม่มีการถอนเลยเป็นระยะเวลา 2 ปี จะได้รับดอกเบี้ยพิเศษสูงกว่าบัญชีออมทรัพย์ทั่วไป

ในปัจจุบัน ธนาคารต่าง ๆ มีแอปพลิเคชั่น หรือเมนูพิเศษ สำหรับการตั้งเป้าหมายการออมผ่านเกมการออม โดยการแบ่งเงินออกจากบัญชีสะสมทรัพย์หลักมาเก็บไว้เป็นส่วน ๆ เพื่อเป้าหมายระยะสั้นต่าง ๆ สามารถช่วยจัดระเบียบการจัดสรรเงินก่อนใช้ได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกันก็ได้รับดอกเบี้ยที่สูงกว่าบัญชีสะสมทรัพย์ทั่วไปด้วย

 

ติดตามเป้าหมายการออม

การติดตามเป้าหมายการออม เป็นการสร้างความสุขระหว่างออมเหมือนการปลูกต้นไม้และคอยเฝ้าดูการเติบโตจนกระทั่งต้นไม้ออกดอก ออกผล โดยเฉพาะการออมเพื่อเป้าหมายระยะยาว ระหว่างออมอาจเกิดเหตุการณ์บางอย่างที่ส่งผลต่อราคาสินทรัพย์ที่ถืออยู่ ซึ่งควรวิเคราะห์สถานการณ์เพื่อปรับสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ ให้ยังคงบรรลุเป้าหมายการออมได้ในอนาคต เช่นเดียว กับการเฝ้าระวังศัตรูพืชและภัยธรรมชาติตลอดระยะเวลาที่ปลูกต้นไม้ ส่วนการติดตามเป้าหมายระยะสั้นก็เป็นเหมือนการ count down เพื่อให้ได้ในสิ่งที่กำลังปรารถนา เงินก้อนที่ออมได้จนสำเร็จ คือ รางวัลของคนที่มีความฝัน และลงมือทำให้กลายเป็นความจริง

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th