บทความ: ลงทุน
ครึ่งปีแล้ว มาตรวจสุขภาพพอร์ตลงทุนกันเถอะ
เผยแพร่วันที่ 03/05/2024
การตรวจสุขภาพทางการเงินก็เหมือนสุขภาพร่างกายที่ต้องมีการตรวจเป็นประจำ โดยในช่วงกลางปีก็เป็นเวลาเหมาะสมในการประเมินสถานะการเงินเป็นอย่างไร ดีหรือไม่ดี มีอะไรต้องปรับปรุงแก้ไข มีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนหรือไม่ ที่สำคัญสอดคล้องกับเป้าหมายทางการเงินที่ตัวเองวางเอาไว้หรือไม่
ปัจจุบันอาจมีหลายคนเชื่อว่าเมื่อลงทุนไปแล้วไม่ต้องมานั่งตรวจสอบพอร์ตลงทุน เพราะมั่นใจว่าการกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์ต่าง ๆ ตั้งแต่เริ่มต้น เป็นพอร์ตที่ดีมีคุณภาพ อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกยังไม่มีความแน่นอน รวมถึงความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ อาจส่งผลกระทบต่อราคาสินทรัพย์ต่าง ๆ และทำให้พอร์ตลงทุนโดยรวมได้รับความเสียหายตามไปด้วย ดังนั้น เพื่อให้เงินลงทุนเติบโตและมีโอกาสได้รับผลตอบแทนแบบสม่ำเสมอ “การตรวจสุขภาพพอร์ตลงทุนอย่างสม่ำเสมอ” เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลย
ขั้นตอนการตรวจสุขภาพพอร์ตลงทุน
รวบรวมข้อมูล โดยให้รวบรวมข้อมูลสินทรัพย์ทั้งหมดในพอร์ตลงทุนว่ามีการจัดสินทรัพย์ (Asset Allocation) ซึ่งหมายถึงการแบ่งสัดส่วนน้ำหนักของเงินลงทุนไปลงทุนในสินทรัพย์ลงทุนต่าง ๆ ตามเป้าหมายและความเสี่ยงที่วางเอาไว้ โดยเมื่อเวลาผ่านไปราวครึ่งปีก็ควรตรวจสอบพอร์ตลงทุนกันสักครั้ง โดยเฉพาะช่วงตลาดมีความผันผวนยิ่งต้องดูเป็นพิเศษ เพราะจะได้รู้ว่าสินทรัพย์ประเภทไหนมีราคาปัจจุบัน สร้างผลตอบแทน และระดับความเสี่ยงเป็นอย่างไร เพราะเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไปอาจส่งผลกระทบต่อพอร์ตลงทุนได้ จึงควรตรวจสอบว่าสัดส่วนของพอร์ตลงทุนมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเป้าหมายที่ได้วางเอาไว้หรือไม่ ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงก็ต้องมีการจัดพอร์ตลงทุนใหม่ให้กลับไปเหมือนเป้าหมายที่วางเอาไว้ตั้งแต่ต้น
ประเมินผลการลงทุน ตรวจสอบผลการดำเนินงานของสินทรัพย์ลงทุนแต่ละประเภทว่าผ่านมาครึ่งปี สินทรัพย์ต่าง ๆ สร้างผลตอบแทนให้เป็นอย่างไร เช่น หากกองทุนไหนให้ผลตอบแทนที่น่าประทับใจก็ถือเอาไว้ต่อ ขณะเดียวกันกองทุนที่สร้างผลตอบแทนขาดทุน ควรทบทวนว่าสาเหตุเกิดจากสภาพตลาดที่ผันผวน หรือผู้จัดการกองทุนที่บริหารได้ผลตอบแทนที่ต่ำกว่ากองทุนอื่นในกลุ่มเดียวกัน ถ้าเป็นอย่างหลังก็อาจพิจารณาขาย แล้วนำเงินไปลงทุนกองทุนใหม่ (ต้องเป็นกองทุนประเภทเดียวกัน) เข้ามาทดแทน แต่ถ้าประเมินแล้วเห็นว่ากองทุนนั้นจะให้ผลตอบที่ดีในระยะยาว แต่มูลค่าลดลงเพราะสภาพตลาดผันผวน ก็ควรถือต่อหรือเพิ่มน้ำหนักการลงทุน เป็นต้น
วิเคราะห์สินทรัพย์ลงทุน ทำการศึกษาข้อมูลที่สำคัญ วิเคราะห์สินทรัพย์ลงทุนแต่ละประเภทอย่างละเอียด เพื่อให้เกิดความเข้าใจสินทรัพย์ดังกล่าวให้ดียิ่งขึ้น เช่น หากลงทุนหุ้น XYZ ก็เข้าไปดูงบการเงินเพื่อให้เห็นความสามารถในการทำกำไร ระดับหนี้สิน สถานะการเงิน หรืออัตราส่วนสำคัญทางการเงิน เช่นเดียวกันหากลงทุนกองทุนรวมก็พิจารณาข้อมูลหนังสือชี้ชวนสรุปข้อมูลสำคัญ (Fund Fact Sheet) ว่ามีการปรับเปลี่ยนนโยบายการลงทุน ปัจจัยความเสี่ยงสำคัญหรือข้อมูลแสดงคำเตือนที่ต้องระวังอะไรเป็นพิเศษหรือไม่ โดยข้อมูลเกี่ยวกับสินทรัพย์ลงทุนจะเป็นปัจจัยในการพิจารณาว่าจะวางกลยุทธ์การจัดพอร์ตลงทุนอย่างไร
ปรับสมดุลพอร์ตลงทุน การปรับพอร์ตสมดุลการลงทุน (Portfolio Rebalancing) เป็นการปรับสัดส่วนของสินทรัพย์ลงทุนให้กลับมาอยู่ในสัดส่วนที่วางเอาไว้ตั้งแต่เริ่มต้น ด้วยการขายสินทรัพย์ที่มีน้ำหนักเกินสัดส่วนที่กำหนด และซื้อสินทรัพย์ที่มีน้ำหนักต่ำกว่าที่กำหนด เพื่อทำให้พอร์ตกลับมามีความสมดุลเหมือนเดิม ซึ่งถือเป็นการบริหารความเสี่ยง กรณีราคาสินทรัพย์ลงทุนมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงและอาจส่งผลความเสียหายต่อพอร์ตลงทุนโดยรวม
ตัวอย่าง เริ่มต้นลงทุน 100,000 บาท สินทรัพย์ 3 ประเภท
1.พันธบัตร 40% = 40,000 บาท
2.ทองคำ 30% = 30,000 บาท
3.หุ้น 30% = 30,000 บาท
เมื่อเวลาผ่านไป 1 ปี พันธบัตรได้กำไร 10% จะเป็น 44,000 บาท ทองคำได้กำไร 15% จะเป็น 34,500 บาท และหุ้นขาดทุน 10% จะเหลือ 27,000 บาท รวมเงินในพอร์ตเท่ากับ 105,500 บาท โดยมีสัดส่วนจำนวนเงินลงทุนแต่ละสินทรัพย์ ดังนี้
1.พันธบัตร 44,000/105,500 = 41.71%
2.ทองคำ 34,500/105,500 = 32.70%
3.หุ้น 27,000/105,500 = 25.59%
จะเห็นว่าสัดส่วนการลงทุนเปลี่ยนแปลง โดยพันธบัตรเพิ่มเป็น 41.71% ทองคำเพิ่มเป็น 32.70% ขณะที่หุ้นลดลง 25.59% ดังนั้น จึงควรปรับพอร์ตให้กลับมามีความสมดุลเหมือนเดิม
1.พันธบัตร 40% x 105,500 = 42,200 บาท
2.ทองคำ 30% x 105,500 = 31,650 บาท
3.หุ้น 30% x 105,500 = 31,650 บาท
วิธีปรับพอร์ตให้กลับมามีความสมดุลเหมือนเดิม คือ ขายพันธบัตรจะได้เงิน 1,800 บาท (44,000 – 42,200) และทองคำจะได้เงิน 2,850 บาท (34,500 – 31,650) จากนั้นก็นำเงินที่ได้รับจากการขายทั้งหมด 4,650 บาท (1,800 + 2,850) ไปลงทุนหุ้นก็จะทำให้สัดส่วนพอร์ตลงทุนกลับไปเหมือนเดิม
1.พันธบัตร 40% = 42,200 บาท
2.ทองคำ 30% = 31,650 บาท
3.หุ้น 30% = 31,650 บาท
การตรวจสอบพอร์ตลงทุน จะทำให้รู้ว่าสินทรัพย์ที่ลงทุนทั้งหมดยังสามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีมากน้อยแค่ไหน หากยังเป็นสินทรัพย์ที่ดีมีคุณภาพ สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีก็ถือลงทุนต่อ ส่วนสินทรัพย์ไหนที่ขาดทุนอยู่แต่เมื่อประเมินแล้วพบว่ามีโอกาสเติบโตได้ดีในระยะยาว ก็ให้ถือต่อหรือพิจารณาเพิ่มน้ำหนักการลงทุนเพื่อรับผลตอบแทนที่ดีในอนาคต
ดังนั้น การติดตามพอร์ตลงทุนอย่างสม่ำเสมอ นอกจากจะเพิ่มความมั่นใจให้กับอนาคตทางการเงินแล้ว ยังช่วยลดผลขาดทุนก่อนที่จะติดลบหนักๆ จนสายเกินแก้ รวมทั้งลดความกังวลใจของการลงทุนในระยะยาวด้วย