logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ลงทุน

5 เรื่องควรรู้ ก่อนลงทุนกองทุนรวม

เผยแพร่วันที่ 29/04/2024

ปัจจุบันมีกองทุนรวมที่นำเสนอขายให้นักลงทุนมีจำนวนหลายพันกองทุน ที่สำคัญมีนโยบายการลงทุนหลากหลาย ทำให้เกิดคำถามว่า ควรเลือกลงทุนในกองทุนรวมอย่างไรเพื่อให้เหมาะสมกับสไตล์การลงทุนของตัวเองและสร้างความมั่นใจได้มากขึ้น ดังนั้น การเลือกลงทุนในกองทุนถือเป็นกระบวนการที่สำคัญ ต้องมีความละเอียด รัดกุม พิจารณาหลาย ๆ ปัจจัย เช่น วัตถุประสงค์ของการลงทุน ระยะเวลาที่ต้องการลงทุน ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เข้าใจในการลงทุน เป็นต้น ในเบื้องต้นก่อนตัดสินใจลงทุนควรพิจารณา 5 เรื่อง ดังนี้

 

1. นโยบายการลงทุน

ก่อนตัดสินใจเลือกลงทุนกองทุนรวมสักกอง สิ่งที่ต้องพิจารณาที่ลืมไม่ได้ คือ นโยบายการลงทุนของกองทุนนั้น ๆ เพื่อให้รู้ว่ากองทุนที่สนใจเป็นกองทุนประเภทไหน นำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์อะไร เช่น หุ้นขนาดใหญ่ กลาง เล็ก หุ้นปันผล หุ้นเติบโต หุ้นในประเทศ หุ้นต่างประเทศ หรือลงทุนในสินทรัพย์อื่น ๆ เช่น ตราสารหนี้ ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น อีกทั้ง นโยบายการลงทุนยังมีข้อมูลอื่น ๆ ให้พิจารณา โดยเฉพาะสัดส่วนการลงทุน ความเสี่ยง นโยบายจ่ายปันผล จำนวนเงินขั้นต่ำในการซื้อครั้งแรกและครั้งถัดไป อายุกองทุน โดยควรศึกษาให้ละเอียด เพื่อให้เลือกกองทุนที่เหมาะกับเป้าหมายและสไตล์การลงทุนของตัวเอง

 

2. เลือกประเภทกองทุนที่เหมาะสม

ควรทำความเข้าใจก่อนว่ากองทุนนั้นเป็นกองทุนประเภทไหน ผู้จัดการกองทุนมีแนวทางในการบริหารกองทุนอย่างไร โดยหลัก ๆ แบ่งเป็นการบริหารแบบเชิงรับ (Passive Fund) เน้นการสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับดัชนีอ้างอิงให้มากที่สุด ข้อดี คือ มีค่าธรรมเนียมการบริหารกองทุนและความเสี่ยงต่ำ

ถัดมาเป็นกองทุนแบบเชิงรุก (Active Fund) มีเป้าหมายในการลงทุน คือ สร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าดัชนีอ้างอิง (Benchmark) หรือการพยายามเอาชนะตลาด เป็นนโยบายลงทุนแบบเชิงรุก ผู้จัดการกองทุนจะหาจังหวะเหมาะสมในการลงทุน เพื่อสร้างผลตอบแทนให้ดีกว่าค่าเฉลี่ย จึงมีความเสี่ยงสูงกว่ากองทุนแบบ Passive Fund แต่ก็มีโอกาสได้กำไรสูงกว่า

 

3. วิเคราะห์ผลงานของกองทุน

ก่อนพิจารณาลงทุนควรดูผลตอบแทนเพราะมีทั้งกองทุนรวมที่มีนโยบายจ่ายเงินปันผลและไม่จ่ายเงินปันผล หากกองทุนที่จ่ายปันผลต้องพิจารณา Total Return ซึ่งเป็นผลตอบแทนที่รวมเงินปันผลเข้าไปแล้ว ขณะที่กองทุนที่ไม่จ่ายปันผล ให้พิจารณา Price Return ซึ่งเป็นผลตอบแทนที่ไม่รวมการจ่ายเงินปันผล

นอกจากนี้ให้พิจาณาผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปี (Annualized Return) เป็นวิธีการหาแบบค่าเฉลี่ยต่อปี ด้วยการนำผลตอบแทนในแต่ละปีมาบวกกันแล้วก็หารจำนวนปีที่ต้องการดูค่าเฉลี่ย ถัดมาให้พิจารณาผลตอบแทนแบบสะสม (Cumulative Return) ซึ่งเป็นการนำผลตอบแทนปีแรกกับผลตอบแทนที่ต้องการคำนวณปีล่าสุดมาดู

เมื่อพิจารณาผลตอบแทนแล้ว ไม่ควรลืมด้านความเสี่ยงของกองทุนนั้น ๆ ด้วยการพิจารณาค่าความผันผวน (Standard Deviation) หากค่าความผันผวนยิ่งต่ำยิ่งดี หมายความว่า ความผันผวนของผลตอบแทนต่ำ มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (NAV) จะไม่เหวี่ยงมาก แต่หากค่าความผันผวนสูง หมายความว่า ผลตอบแทนจะมีความผันผวนมาก ส่งผลให้ NAV จะเหวี่ยงมากตามไปด้วย

ถัดมาให้พิจารณาค่าใช้จ่าย โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ค่าใช้จ่ายด้านค่าธรรมเนียมการซื้อ (Front-End Fee) ค่าธรรมเนียมการขาย (Back-End Fee) กับ Total Expense Ratio เช่น ค่าธรรมเนียมการจัดการ ค่าธรรมเนียมผู้ดูแลผลประโยชน์ ค่าสอบบัญชี โดยค่าใช้จ่ายจะมีผลต่อผลตอบแทน หากต้นทุนต่ำ ก็มีโอกาสได้รับผลตอบแทนสุทธิในระยะยาวสูง ตรงกันข้ามหากค่าใช้จ่ายสูง ก็มีโอกาสได้รับผลตอบแทนสุทธิในระยะยาวลดลงตามไปด้วย

 

4. วางแผนกลยุทธ์การลงทุน

ข้อดีของกองทุนรวม คือ ลงทุนในสินทรัพย์หลายประเภทจึงช่วยลดความเสี่ยงจากการลงทุนในสินทรัพย์เพียงตัวเดียว มีผู้เชี่ยวชาญจัดการมืออาชีพคอยคัดเลือกสินทรัพย์และบริหารจัดการเงินลงทุนให้งอกเงย ลงทุนได้ง่ายผ่าน บลจ. ตัวแทน หรือเปิดบัญชีผ่านแอปพลิเคชั่น ดังนั้น กองทุนรวมจึงเหมาะกับการลงทุนระยะยาว โดยทางเลือกที่ดีในการลงทุนระยะยาว คือ การลงทุนแบบถัวเฉลี่ย (DCA) เป็นการทยอยลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุนอย่างสม่ำเสมอ ด้วยจำนวนเงินที่เท่ากันทุกงวด (เช่น รายสัปดาห์ รายเดือน) โดยข้อดีการลงทุนรูปแบบนี้มีหลายประการ เช่น

  • การลดความเสี่ยงและบริหารเงินทุนได้ง่าย ช่วยลดความเสี่ยงที่เกิดจากการลงทุนทั้งหมดในช่วงเวลาเดียวกัน โดยการแบ่งเงินลงทุนออกเป็นรายงวด ตามช่วงเวลาที่กำหนด เพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนของตลาด
  • การลงทุนต่อเนื่อง ช่วยสร้างนิสัยการลงทุนต่อเนื่อง ทำให้ง่ายต่อการลงทุนเป็นระยะ ๆ เป็นการตัดปัจจัยทางด้านอารมณ์ ความรู้สึกออกไป
  • การลงทุนในช่วงราคาต่ำ เมื่อตลาดตกต่ำ ช่วยให้ซื้อหน่วยลงทุนในราคาต่ำ ทำให้มีโอกาสได้รับผลตอบแทนในระยะยาวเพิ่มสูงขึ้น
  • การเพิ่มมูลค่าในระยะยาว ช่วยให้มีโอกาสในการสะสมทรัพย์สินในระยะยาว โดยส่งผลให้มีโอกาสในการเพิ่มมูลค่าของการลงทุนในระยะยาว

 

5. ติดตามสถานการณ์อย่างสม่ำเสมอ

เมื่อลงทุนกองทุนไปแล้วก็ต้องติดตามสถานการณ์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ปรับตัวได้ทันหากสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลง ได้แก่

  • การตรวจสอบผลการดำเนินงานของกองทุน ควรตรวจสอบผลการดำเนินงานของกองทุนรวมเป็นประจำ เช่น นโยบายการลงทุน ผลตอบแทนการลงทุนเมื่อเทียบกับดัชนีชี้วัด (Benchmark) รวมถึงเทียบกับกองทุนกองอื่น ๆ ในกลุ่มเดียวกัน
  • การปรับปรุงหรือปรับเปลี่ยนกองทุน หากพบว่าผลการดำเนินงานของกองทุนไม่ได้ตรงตามคาดหวัง เช่น ผลตอบแทนปรับลดลงเรื่อย ๆ หรือขาดทุนต่อเนื่อง ควรพิจารณาขายเพื่อนำเงินไปลงทุนในกองทุนกองอื่น ๆ ที่ดีกว่า
  • ติดตามความเคลื่อนไหวในตลาด ติดตามและทำความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจ ตลาดโดยรวม และเหตุการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อกองทุนรวมที่ลงทุน
ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th