บทความ: บริหารจัดการเงิน
กลยุทธ์เด็ด กู้เงินจ่ายค่าเทอมลูกแบบไร้กังวล
กัลยวีร์ โรจน์สุขพัฒนา นักวางแผนการเงิน CFP®
เผยแพร่วันที่27/04/2024
สมัยนี้การเลี้ยงลูกหนึ่งคนมีค่าใช้จ่ายไม่น้อย โดยเฉพาะค่าเล่าเรียน ที่เป็นค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่และสำคัญต่ออนาคตของลูก ดังนั้น พบว่าช่วงใกล้เปิดเทอมก็จะเห็นพ่อแม่หลายคนเตรียมเงินเพื่อจ่ายค่าเทอมไม่ทัน หรือมีแต่ไม่เพียงพอจึงต้องวิ่งวุ่น ดิ้นรนหามาให้ทันกำหนดชำระ แม้จะต้องหยิบยืมคนรู้จัก กู้ยืมจากสถาบันการเงิน การนำของไปจำนำที่โรงรับจำนำ หรืออาจเข้าตาจนก็ต้องกู้เงินนอกระบบ
ก่อนตัดสินใจกู้เงินหรือเป็นหนี้ สิ่งแรกที่พึงกระทำ คือ ควรประเมิน/ทบทวนสถานะการเงินของตัวเอง หากมีเงินออมในส่วนอื่นที่สามารถดึงออกมาใช้ได้ก่อนโดยไม่ผิดเงื่อนไข หรือไม่กระทบแผนการเงินในส่วนอื่น วิธีนี้น่าจะเป็นคำตอบที่ดีแม้อาจทำให้สูญเสียวินัยการออม หรือเลื่อนการบรรลุเป้าหมายการเงินอื่นออกไป เพราะอย่างน้อยนี่คือเงินของเราเอง ไม่ต้องพึ่งพาเงินของใคร หรือดึงเงินสำรองฉุกเฉินออกมาใช้ก่อนแต่ก็ต้องรีบสะสมคืนกลับมาด้วย หรือหากไม่มีเงินเก็บออมเพียงพอ ก็ต้องใช้วิธีการหยิบยืมเงินจากคนใกล้ชิดหรือญาติสนิท
แต่ถ้าไม่มีทางเลือกจริง ๆ อาจจำเป็นต้องพึ่งพาเงินกู้จากสถาบันการเงิน อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะเป็นทางออกที่ดีแต่ก็ต้องศึกษาข้อมูลให้รอบคอบก่อนตัดสินใจ
แหล่งเงินกู้
บัตรเครดิตหรือบัตรกดเงินสด
การจ่ายค่าเทอมด้วยบัตรเครดิตจะทำให้ไม่ต้องจ่ายเงินสดในทันที จึงช่วยเลื่อนระยะเวลาในการจ่ายออกไปได้ เหมาะกับผู้ปกครองที่ไม่มีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง สามารถชำระคืนเงินทั้งหมดภายในวันที่กำหนด (ไม่เสียดอกเบี้ยและได้รับคะแนนสะสมด้วย)
สำหรับผู้ปกครองที่คิดว่าไม่มีสภาพคล่อง หรือต้องการระยะเวลาชำระคืนหนี้ที่ยาวนาน อาจพิจารณาการกดเงินสดฉุกเฉินจากบัตรกดเงินสดหรือบัตรเครดิต (ปัจจุบันสามารถกดเงินสดผ่านแอปพลิเคชันได้โดยไม่ต้องใช้บัตร) ข้อดีของบัตรสองประเภทนี้คือ ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน สามารกดเงินจากตู้เอทีเอ็มได้ตามวงเงินสินเชื่อที่ได้รับการอนุมัติ ไม่ต้องขอวงเงินกู้บ่อย เมื่อคืนเงินต้นก็จะได้วงเงินสินเชื่อคืนมาอัตโนมัติ แต่ข้อเสียคือ ภาระดอกเบี้ยที่ค่อนข้างสูง จึงควรรีบชำระคืนให้เร็ว
โดยอัตราดอกเบี้ยของบัตรกดเงินสดไม่เกิน 25% ต่อปี และไม่เกิน 16% ต่อปีสำหรับบัตรเครดิต แต่การกดเงินสดจากบัตรเครดิตจะมีค่าธรรมเนียมในการกด 3% และภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% ของค่าธรรมเนียมการกดอีกด้วย ดังนั้น หากต้องการใช้เงินด่วนเพื่อจ่ายค่าเทอมลูก การใช้บัตรกดเงินสดอาจมีค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่า
สินเชื่อส่วนบุคคล
ผู้ปกครองสามารถขอสินเชื่อส่วนบุคคล เพื่อนำเงินก้อนมาใช้จ่ายตามความจำเป็นได้ เช่น เพื่อการศึกษาของลูก โดยธนาคารหรือสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร จะพิจารณาจากรายได้ของผู้กู้ โดยบางแห่งอาจมีเงื่อนไขเพิ่มเติมเรื่องบุคคลหรือหลักทรัพย์ค้ำประกันด้วย โดยอัตราดอกเบี้ยจะแตกต่างไปในแต่ละธนาคาร แต่ไม่เกิน 25% ต่อปี โดยมากจะใช้เวลารอผลอนุมัติเพียงไม่กี่วัน ผู้กู้ก็จะได้รับเงินสดเข้าบัญชีธนาคาร วงเงินสูงสุด 5 เท่าของรายได้ และทยอยผ่อนชำระคืนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นจำนวนงวดตามที่ได้ตกลงกันไว้ ตั้งแต่ 12 - 60 เดือน บางธนาคารสูงสุดถึง 72 เดือน ขึ้นกับนโยบายแต่ละแห่ง นอกจากนี้วงเงินกู้ที่ได้จะอนุมัติเป็นรายครั้ง ต่างกับกรณีวงเงินกู้ของบัตรกดเงินสดและบัตรเครดิตที่เมื่อชำระเงินต้นจะได้จำนวนวงเงินคืน
กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา
กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เป็นกองทุนหมุนเวียนที่ช่วยสร้างโอกาสทางการศึกษา ไม่คิดดอกเบี้ยในระหว่างที่ศึกษาอยู่ ชำระเงินคืนหลังจากจบการศึกษาแล้ว มีวัตถุประสงค์ให้กู้ยืมเงินแก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์เพื่อเป็นค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา และค่าครองชีพระหว่างที่ยังศึกษาอยู่ ตั้งแต่ระดับมัธยมปลายสายสามัญ สายอาชีพ อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา มีการแบ่งคุณสมบัติของผู้กู้ยืมเป็น 4 ลักษณะ
- นักเรียนนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์
- นักเรียนนักศึกษาในสาขาวิชาที่เป็นความต้องการหลัก มีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ
- นักเรียนนักศึกษาในสาขาวิชาที่ขาดแคลน
- นักเรียนนักศึกษาที่เรียนดี
โดย 3 กลุ่มแรกมีระยะปลอดหนี้ภายหลังสำเร็จการศึกษา 2 ปี ผ่อนชำระเงินคืนภายใน 15 ปี อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี แต่หากกลุ่มที่ 2 และ 3 เป็นผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ จะได้อัตราดอกเบี้ยพิเศษ 0.75% ต่อปี สำหรับนักเรียนนักศึกษาในกลุ่มที่ 4 มีระยะปลอดหนี้ภายหลังสำเร็จการศึกษา 1 ปี ผ่อนชำระเงินคืนภายใน 10 ปี อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี หากเป็นผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ด้วย จะได้อัตราดอกเบี้ยพิเศษเพียง 0.5% ต่อปีเท่านั้น ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมาก กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา จึงถือเป็นแหล่งกู้เงินเพื่อการศึกษาที่ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองได้มาก ช่วยให้เยาวชนได้รับโอกาสทางการศึกษาเพื่อความก้าวหน้าในชีวิต
สินเชื่อเพื่อการศึกษา
ปัจจุบันมีหลายสถาบันการเงินที่นำเสนอสินเชื่อเพื่อการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ แต่ละแห่งอาจมีเงื่อนไขที่แตกต่างกันไป สามารถยื่นกู้ได้ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนถึงระดับบัณฑิตศึกษา ผู้ปกครองที่ส่งบุตรหลานเรียนในหลักสูตร Inter หรือ English Program หากเกิดเหตุที่ทำให้การเงินสะดุดหรือมีปัญหาการเงินชั่วคราว สามารถกู้เงินจ่ายค่าเทอมไปก่อนได้ แล้วค่อยมาผ่อนชำระภายหลัง บางธนาคารสามารถยื่นกู้ได้สูงสุดถึง 10 ปี วงเงินส่วนใหญ่จะเป็นแบบตามค่าใช้จ่ายจริง ผู้กู้ต้องมีรายได้แน่นอน หรือประกอบธุรกิจส่วนตัว อาจเป็นบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือญาติของนักเรียนนักศึกษา อายุของผู้กู้เมื่อนับรวมกับระยะเวลากู้จะต้องไม่เกิน 60 ปี และมักมีข้อกำหนดให้มีบุคคลค้ำประกันหรือหลักทรัพย์จำนองเป็นหลักประกันด้วย
วางแผนชำระหนี้
ก่อนตัดสินใจเลือกแหล่งเงินกู้ควรทราบก่อนว่ายอดผ่อนชำระต่อเดือนเป็นเท่าไร และเมื่อเทียบกับกระแสเงินสดที่เหลือต่อเดือนเพียงพอหรือไม่ (อย่าให้เกินกำลัง) เมื่อตัดสินใจกู้แล้ว ต้องวางแผนจ่ายหนี้ให้ดีและเรียงลำดับความสำคัญค่าใช้จ่ายแต่ละรายการ หากจำเป็นต้องดึงเงินสำรองบางส่วนมาใช้ด้วย อย่าลืมทยอยเก็บสะสมคืนกลับไป สิ่งสำคัญคือ ต้องงดก่อหนี้ใหม่และเมื่อรายรับเข้ามาให้จ่ายหนี้ก่อน ไม่อย่างนั้นอาจเผลอใช้จ่ายไปจนหมด ควรทำตารางแสดงรายรับรายจ่ายล่วงหน้า 12 เดือน ประเมินดูว่าเดือนไหนที่ติดลบ เดือนไหนที่มีรายรับก้อนใหญ่เข้ามา เช่น โบนัส เช็คจากลูกค้า หรือเงินลงทุนที่ครบกำหนด จะทำให้เห็นภาพรวม วางแผนใช้จ่ายและชำระหนี้ได้ หากรายได้ไม่เพียงพอต้องหารายได้เพิ่มควบคู่ไปกับการลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น
นอกจากนี้การเข้าไปเจรจาต่อรองกับทางโรงเรียนเพื่อขอผ่อนผันการชำระค่าเทอม ก็เป็นสิ่งที่ทำได้ไม่เสียหาย โดยปัจจุบันหลายโรงเรียนก็มีทุนการศึกษาช่วยเหลือนักเรียน หรือหลายบริษัทก็มีสวัสดิการกองทุนการศึกษาบุตรพนักงาน
ท้ายที่สุดหากผู้ปกครองต้องไปเป็นหนี้ ก็อยากให้ทำความเข้าใจว่า หนี้การศึกษาคือ หนี้ที่มีความสำคัญในการพัฒนาตนเองและเพิ่มโอกาสในอนาคต ดังนั้น มีความสำคัญและมีคุณค่า เพราะการศึกษาเป็นการลงทุนในความรู้ ความสามารถ หากลูกมีการศึกษาที่สูงขึ้น ก็จะทำให้ยิ่งมีโอกาสในชีวิตและหน้าที่การงานที่สูงขึ้น นำมาซึ่งรายได้ที่มากกว่า
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้หนี้การศึกษาคือ หนี้ที่ดี แต่ก่อนตัดสินใจกู้มาจ่ายค่าเทอม ควรตัดสินใจเลือก “วิธีการกู้ยืม” ที่เหมาะสมกับเงื่อนไขครอบครัวและส่งลูกเรียนอย่างสบายใจและเกิดประโยชน์ในระยะยาว โดยไม่ต้องกังวลเรื่องภาระหนี้