บทความ: บริหารจัดการเงิน
5 กลยุทธ์เด็ดป้องกัน “กับดักหนี้” กลับมาหลอกหลอนซ้ำ
ศุทธวีร์ มงคลสินธุ์ นักวางแผนการเงิน CFP®
เผยแพร่วันที่ 24/04/2024
จากข้อมูลของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในช่วงปลายปี 2566 พบว่าหนี้สินครัวเรือนไทยมีมากถึง 16.2 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.9% ของ GDP สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาหนี้สินที่รุมเร้าคนในสังคมไทย เมื่อตัดภาพมาในด้านการเงินส่วนบุคคล สำหรับหลายคนแล้ว การเริ่มต้นเป็นหนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นจากความจำเป็นเพียงอย่างเดียว แต่กลับมี “อารมณ์ความรู้สึก” เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะโซเชียลมีเดียที่กลายเป็นตัวกระตุ้นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการเห็นไลฟ์สไตล์ของคนอื่นหรือการถูกกระตุ้นการใช้จ่ายด้วยแคมเปญทางการตลาด ตั้งแต่ “หนึ่งเดือนหนึ่ง” ไปจนถึง “สิบสองเดือนสิบสอง” แม้กระทั่งวาทกรรม “ของมันต้องมี” ที่สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นค่านิยมที่ผลักดันการบริโภคของผู้คนในสังคมให้มากเกินพอดี เกินความจำเป็น อีกทั้งสิ่งของต่าง ๆ ยังสามารถใช้บัตรเครดิตผ่อน 0% 10 เดือน บางครั้งใช้บัตรกดเงินสดผ่อน 0% ได้ถึง 36 เดือน แม้ยอดผ่อนเป็นเงินเล็กน้อยต่อเดือน แต่ถ้าผ่อนสินค้าเพิ่มสูงขึ้น อาจทำให้สถานการณ์ทางการเงินตึงตัว ยังไม่รวมรายจ่ายก้อนใหญ่ เช่น ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ
ประเด็นเหล่านี้เป็นสิ่งท้าทายที่ต้องรับมือให้ได้ และหากต้องการหลุดจากกับดักหนี้ ควรมี 5 กลยุทธ์เด็ด ดังนี้
ทำความเข้าใจต้นตอของการเป็นหนี้
เริ่มต้นจากการสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินของตัวเอง ด้วยการจดบันทึกรายรับรายจ่าย จะทำให้เห็นตัวเลขที่เป็นข้อเท็จจริงที่ชัดเจน เพื่อนำข้อมูลที่สะท้อนพฤติกรรมทางการเงินมาวิเคราะห์ว่ารายจ่ายใดเป็นจุดอ่อนที่ฉุดรั้งไม่ให้พ้นจากกับดักหนี้ หลังจากนั้นก็แบ่งประเภทรายจ่ายออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ รายจ่าย “ความจำเป็น” และรายจ่ายที่เป็น “ความต้องการ” เพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจก่อนจะซื้ออะไรใหม่ ด้วยการถามตัวเองว่า สิ่งที่จะซื้อ “จำเป็นหรือเพียงแค่อยากได้” “สิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบัน ยังพอใช้ได้อยู่หรือไม่” คำถามเหล่านี้จะช่วยเตือนสติการใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น
ตั้งเป้าหมายปลดหนี้ที่ชัดเจน
การตั้งเป้าปลดหนี้อาจเลือกใช้วิธีปิดหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงสุดก่อน โดยเฉพาะหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล หนี้บัตรเครดิต เพื่อทำให้ประหยัดค่าดอกเบี้ย หรือ เล็งเป้าหมายปลดหนี้ก้อนที่มีเงินต้นคงค้างเหลือน้อยที่สุด เปรียบเหมือนการ “ปลดล็อกกระแสเงินสด” เพื่อทำให้มีกระแสเงินสดในแต่ละเดือนมากขึ้น
วางแผนจัดการหนี้อย่างมีประสิทธิภาพ
เลือกวิธีจัดการหนี้ที่เหมาะสม เช่น “วางแผนรีไฟแนนซ์” โดยหลักสำคัญ คือ การได้สินเชื่อใหม่มาแทนสินเชื่อเก่า โดยสินเชื่อใหม่นั้นต้องมีดอกเบี้ยต่ำกว่า ซึ่งมักจะใช้วิธีนี้กับสินเชื่อที่อยู่อาศัยเมื่อครบกำหนด 3 ปี หรือใช้วิธีนี้กับการใช้สินเชื่อส่วนบุคคลที่มีดอกเบี้ยต่ำกว่ามาปิดยอดหนี้บัตรเครดิต โดยอาจต้องใช้เวลาหาข้อมูลเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ย พิจารณาค่าธรรมเนียม คำนวณความคุ้มค่า เพื่อหาตัวเลือกที่ดีที่สุด หรือในกรณีที่ภาวะการเงินตึงตัวอาจเลือกวิธี “เจรจาลดหย่อนหนี้สิน” โดยเป็นการเข้าไปพูดคุยกับเจ้าหนี้ถึงความจำเป็น ภาระ และสถานะทางการเงิน เพื่อเป็นการประนีประนอมกันระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ ช่วยลูกหนี้ให้ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้ ซึ่งลูกหนี้อาจได้ปรับลดจำนวนเงินต้น ลดอัตราดอกเบี้ย หรือการขยายเวลาการผ่อนชำระออกไป
เคล็ดไม่ลับสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงิน
เพื่อไม่ให้กลับมาเป็นหนี้เรื้อรัง ควรเติมวินัยการเงินในช่วงเป็นหนี้ด้วย 3 เทคนิค
- ซื้อของด้วยเงินสด หรือถ้าใช้บัตรเครดิตก็ให้จ่ายหนี้เต็มจำนวน ซึ่งเป็นการควบคุมค่าใช้จ่ายให้อยู่ภายใต้เงินที่มีอยู่ ไม่ใช้เงินในอนาคต เป็นการฝึกความอดทน ปรับเปลี่ยนนิสัยทางการเงินไม่ให้ใช้เงินแบบวู่วาม
- ออมก่อนใช้อย่างสม่ำเสมอ เมื่อมีรายได้เข้ามาในแต่ละเดือนให้ออมอย่างน้อย 5 – 10% ของรายได้ ถือว่าเป็นการสร้างเงินก้อนสำรองเผื่อฉุกเฉิน ควรมีเงินไว้ในรูปเงินฝากออมทรัพย์อย่างน้อย 3 - 6 เท่าของรายจ่ายต่อเดือน ถ้าเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นมา จะได้มีเงินไว้ใช้ไม่ต้องก่อหนี้เพิ่ม
- ใช้ชีวิตแบบพอเพียง ดำเนินชีวิตด้วยความเรียบง่าย ไม่ก่อหนี้ ไม่ฟุ้งเฟ้อ วิถีชีวิตแบบนี้เป็นทางที่ยั่งยืนในการสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับตัวเอง และครอบครัว
รู้เท่าทันภัยคุกคามทางการเงิน
ในยุคดิจิทัลที่เต็มไปด้วยภัยคุกคามทางการเงินมีรูปแบบและวิธีการหลากหลาย การรู้เท่าทันจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยปกป้อง หลีกเลี่ยงความสูญเสียทางการเงิน เช่น การหลอกลวงทางโทรศัพท์ หลอกลวงออนไลน์ตามช่องทางโซเชียลมีเดีย การโจรกรรมข้อมูลโดยแฝงเข้ามาในแอปพลิเคชันทางโทรศัพท์มือถือ หรือการลงทุนที่ผิดกฎหมาย แชร์ลูกโซ่ต่าง ๆ ที่มาหลอกล่อด้วยผลตอบแทนที่สูงในระยะเวลาสั้น
ดังนั้น เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของเหล่ามิจฉาชีพ ควรติดตามข่าวสารทางการเงิน อย่าหลงเชื่อ อย่ากด Link แปลก ๆ และมีสติทุกครั้งที่จะใช้เครื่องมืออุปกรณ์สื่อสาร รอบคอบในการทำธุรกรรมทางการเงิน รวมถึงต้องระมัดระวังไม่ไปค้ำประกันให้ใครง่าย ๆ เพราะนอกจากจะเสียเงินแล้ว ยังอาจเสียความสัมพันธ์ ทำให้ต้องมารับผิดชอบหนี้ที่ไม่ได้ก่อขึ้นมาแทนผู้อื่นอีกด้วย
ปัญหาเรื่องหนี้เป็นปัญหาที่ต้องบริหารจัดการทั้งภายนอกและภายในไปพร้อมกัน การจัดการภายนอก คือ การแก้ปัญหาด้านข้อเท็จจริงที่ต้องทำตัวเลขออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน ตัดสินใจ วางแผนดำเนินการอย่างเป็นระบบ ส่วนการจัดการภายใน คือ ต้องมีวิธีคิดที่เหมาะสม จัดการอารมณ์ที่ต้องไม่เครียด เนื่องจากความเครียดส่งผลอย่างยิ่งต่อการใช้จ่ายเงิน ซึ่งจะทำให้เป็นปัญหาเรื้อรังไม่มีที่สิ้นสุด พัฒนาทักษะการจัดการอารมณ์ ไม่หมกมุ่น ไม่คิดวน คิดแบบมองไปข้างหน้า คิดตัดสินใจเพื่อวางแผน แล้วลงมือทำตามแผนที่วางไว้ ค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไป ถ้าทำได้ ความสำเร็จในการปลดหนี้จะอยู่ไม่ไกล