logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: เกษียณ

เทคนิคบริหารเงิน เมื่อถึงวันเกษียณ

โดย ศุทธวีร์ มงคลสินธุ์ นักวางแผนการเงิน CFP®

 

ในประเทศไทยมีการส่งเสริมด้านการลงทุนเพื่อการเกษียณหลากหลายรูปแบบ สำหรับพนักงานเอกชนมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) สำหรับผู้ที่รับราชการมีกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) อีกทั้งมีรูปแบบการลงทุนอื่น ๆ เช่น กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) การลงทุนเหล่านี้นอกจากจะช่วยออมเงินเพื่อเกษียณแล้วยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ซึ่งมีเงื่อนไขกำหนดไว้ สำหรับ PVD และ RMF หากนำเงินออกมาเมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และเป็นสมาชิกกองทุนหรือมีการลงทุนมาต่อเนื่องเกิน 5 ปี จะได้รับการยกเว้นภาษี สำหรับเงินก้อนที่ได้รับคืนจาก กบข. หากสมาชิกออกจากราชการด้วยเหตุ สูงอายุ เกษียณ ทดแทน ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต จะได้รับยกเว้นภาษี แต่หากสมาชิกออกจากราชการด้วยเหตุอื่น ๆ เงินหรือผลประโยชน์ที่ได้รับจาก กบข. จะได้รับยกเว้นภาษีเมื่อสมาชิกฝากเงินให้ กบข. บริหารต่อทั้งจำนวนแล้วขอรับคืนตอนอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์

 

จะเห็นได้ว่าเมื่อถึงวันเกษียณ เมื่อนำเงินหลายก้อนมารวมกันก็ถือว่าเยอะพอสมควร ดังนั้น คำถามสำคัญของผู้ที่กำลังจะเกษียณ คือ ควรนำเงินออกมาใช้จ่ายหรือจะนำไปลงทุนต่อ ซึ่งปัจจัยสำคัญสำหรับการตัดสินใจ มี 2 ประการ

1) ความจำเป็นของการใช้เงินก้อนหลังเกษียณ เช่น การนำเงินไปชำระหนี้ที่คงค้างที่เหลือมาจนถึงช่วงหลังเกษียณ เพื่อลดค่าใช้จ่ายการชำระหนี้ในแต่ละเดือน หรืออาจนำเงินก้อนไปใช้จ่ายในวัตถุประสงค์ต่างๆ เช่น การใช้จ่ายก้อนใหญ่เพื่อซื้อ หรือปรับปรุงที่อยู่อาศัย เป็นต้น

2) แหล่งรายได้ประจำหรือเงินสำรองอื่น ๆ ที่มีไว้ใช้สำหรับช่วงหลังเกษียณ ซึ่งจะเป็นเงินค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ เช่น เงินบำนาญจากกองทุนประกันสังคมของผู้ประกันตน บำนาญรายเดือนของข้าราชการ รายได้จากค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ รายได้จากปันผลหุ้นหรือกองทุนรวม รายได้จากการประกอบธุรกิจส่วนตัว เป็นต้น

 

หากพิจารณาทั้ง 2 ปัจจัย จะทำให้สามารถแบ่งทางเลือกในการตัดสินใจลงทุนต่อหรือนำเงินลงทุนออกมาใช้ ได้เป็น 4 กรณีดังนี้

กรณีที่ 1 มีความจำเป็นต้องใช้เงินก้อน ไม่มีแหล่งรายได้อื่น ๆ ควรนำเงินลงทุนออกมาให้พอเหมาะกับเงินก้อนที่จำเป็นต้องใช้ ตัวอย่าง ผู้เกษียณหลายท่านมีภาระหนี้สินที่มีดอกเบี้ยจ่ายสูงกว่าผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุน เพื่อเป็นการลดภาระดอกเบี้ยจ่าย ควรนำเงินลงทุนออกมาปิดยอดชำระหนี้ และเงินส่วนที่เหลือ ยังคงลงทุนเพื่อเพิ่มโอกาสได้รับผลตอบแทนสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน หรืออาจพิจารณานำเงินมาลงทุนในกองทุนรวมแบบผสมที่มีการขายคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ เนื่องจากกองทุนรวมประเภทนี้จะมีการขายคืนหน่วยลงทุนให้กับผู้ลงทุนเพื่อจะได้มีกระแสเงินสดไว้ใช้จ่าย

กรณีที่ 2 มีความจำเป็นต้องใช้เงินก้อน มีแหล่งรายได้อื่น ๆ ควรถอนเงินลงทุนบางส่วนตามความจำเป็นเพื่อให้สามารถใช้จ่ายได้เพียงพอตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ และนำเงินได้จากแหล่งเงินได้อื่นสำรองไว้สำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ส่วนเงินก้อนที่เหลือควรคงไว้ในการลงทุนเพื่อที่จะได้รับผลตอบแทนไปอย่างต่อเนื่อง หากมีความจำเป็นต้องใช้เงินก้อนในอนาคตก็สามารถถอนมาใช้ได้

กรณีที่ 3 ไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินก้อน ไม่มีแหล่งรายได้อื่น ๆ ควรทยอยถอนเพื่อนำเงินมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน โดยอาจจะถอนเงินออกมาในแต่ละครั้งเพื่อให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายชีวิตประจำวันประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี โดยเงินที่เตรียมมาไว้ใช้จ่ายนี้สามารถนำมาพักไว้ในกองทุนรวมตลาดเงินหรือกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น เพื่อไม่ให้เงินส่วนนี้ผันผวนไปตามสถานการณ์ ภาวะการลงทุนต่าง ๆ

กรณีที่ 4 ไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินก้อน มีแหล่งรายได้อื่น ๆ ควรคงการลงทุนต่อไป สำหรับผู้ที่มีรายได้ประจำหลังเกษียณอยู่แล้ว ข้อดีของการคงเงินลงทุนไว้ คือ สามารถลงทุนได้ต่อเนื่อง โดยที่ไม่ต้องบริหารการลงทุนด้วยตนเอง อีกทั้ง การคงเงินลงทุนเป็นทางเลือกให้ไม่ต้องรีบนำเงินออกมาหากช่วงที่เกษียณอายุเป็นช่วงที่สภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งเป็นช่วงที่ตลาดหุ้นปรับตัวลดลง โดยจะทำให้สามารถรอจนกระทั่งตลาดปรับตัวดีขึ้นแล้วจึงค่อยนำเงินออกจากกองทุนเพื่อการเกษียณ

 

สำหรับกรณีที่ผู้เกษียณต้องการคงเงินลงทุนไว้บางส่วนหรือคงเงินลงทุนไว้ทั้งหมดนั้น ช่วงที่ใกล้เกษียณผู้ลงทุนควรปรับนโยบายการลงทุนให้เหมาะสมกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เช่น หากรับความเสี่ยงได้ต่ำควรเลือกนโยบายการลงทุนในหุ้นมีสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 10 และตราสารหนี้ประมาณร้อยละ 90 เพื่อรักษาเงินต้นและสร้างโอกาสได้รับผลตอบแทนชดเชยเงินเฟ้อ แต่ถ้าสามารถรับความเสี่ยงได้ปานกลาง อาจเลือกนโยบายลงทุนแบบสมดุล ซึ่งจะมีการลงทุนในหลายสินทรัพย์ทั้งหุ้น ตราสารหนี้ อสังหาริมทรัพย์ สินทรัพย์ทางเลือกต่าง ๆ เป็นการกระจายความเสี่ยงและสร้างผลตอบแทนในระยะยาว

 

อย่างไรก็ตาม ในทุกกรณีต้องไม่ลืมว่า ควรมีเงินสำรองไว้ใช้จ่ายยามฉุกเฉินเผื่อมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น โดยควรเตรียมไว้เบื้องต้น 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือน ซึ่งเป็นเงินที่ต้องกันออกมาจากการลงทุนส่วนอื่น ๆ โดยอาจพักเงินส่วนนี้ไว้ในกองทุนรวมตลาดเงินหรืออาจเปิดบัญชีธนาคารประเภทเงินฝากดิจิทัล ซึ่งเป็นเงินฝากที่ไม่มีสมุดบัญชี ต้องทำรายการผ่าน Mobile Banking เท่านั้น ซึ่งเงินฝากประเภทนี้ให้ดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากออมทรัพย์ทั่วไป อีกทั้ง การตัดสินใจทางการเงินเพื่อการเกษียณต่าง ๆ ควรตัดสินใจด้วยความรอบคอบ โดยอาจพิจารณาข้อมูลประกอบจากนักวางแผนทางการเงิน เพื่อสร้างความมั่นใจในการบรรลุเป้าหมายเพื่อการเกษียณ

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th