logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: บริหารจัดการเงิน

เป็นหนี้ ต้องเคลียร์หนี้ อย่าหนีหนี้

โดย มานพ รัตนะ นักวางแผนการเงิน CFP®

เผยแพร่วันที่ 10/04402024

คำโบราณว่าไว้ “การไม่มีหนี้ เป็นลาภอันประเสริฐ” อาจจะนำมาใช้กับยุคปัจจุบันไม่ได้แล้ว เพราะการเป็นหนี้ไม่ใช่สิ่งเลวร้ายเสมอไป เนื่องจากบางครั้งเราอาจต้องใช้เงินเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการที่จำเป็นต่อการดำรงชีพและอนาคตแต่ยังมีเงินไม่พอ เช่น ต้องการซื้อบ้าน เงินทุนสำหรับการทำกิจการส่วนตัว ซึ่งหลักการสำคัญในการตัดสินใจเป็นหนี้คือ ควรเลือกก่อหนี้ดี ได้แก่ หนี้ที่จะสร้างอนาคตหรือความมั่นคงในระยะยาว และหลีกเลี่ยงการก่อหนี้เสีย ได้แก่ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มหรือไม่ได้ช่วยให้เกิดความมั่นคงทางการเงิน เช่น หนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค เป็นต้น

 

เข้าใจ “หนี้ดี” และ “หนี้เสีย”

หนี้ดี คือ หนี้ที่จะสร้างรายได้ในอนาคตหรือสร้างความมั่นคงในระยะยาว เช่น

  • หนี้เพื่อการประกอบอาชีพ เป็นหนี้ที่สร้างอาชีพให้กับเรา ทำให้เรามีโอกาสมีรายได้เพิ่มขึ้น เช่น การกู้เงินมาเปิดร้านขายของ การกู้เงินมาตั้งบริษัท
  • หนี้เพื่อสร้างอนาคต เช่น การกู้ยืมเพื่อการศึกษา เพื่อให้เรามีความรู้มาใช้ในการทำงาน หรือมีทักษะ ความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาชีพที่ทำอยู่ ซึ่งจะทำให้เรามีอนาคตที่มั่นคงมากขึ้น
  • หนี้เพื่อความมั่นคงระยะยาว เช่น การกู้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย เพื่อให้มีบ้านเป็นของตนเอง แทนที่จะต้องจ่ายค่าเช่าบ้านก็กลายเป็นการจ่ายค่าผ่อนบ้านแทน ทำให้มีทรัพย์สินส่วนตัวเพิ่มขึ้น

 

หนี้เสีย คือ หนี้ที่ไม่สร้างรายได้ในอนาคต และอาจจะทำให้ความมั่นคงลดลงอีกด้วย เช่น

  • หนี้จากการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ใช้จ่ายเกินตัว ส่วนใหญ่จะเป็นหนี้ที่สร้างความสุขให้กับเราเพียงชั่วคราว แต่ไม่ได้สร้างรายได้หรือความมั่นคงในระยะยาวเลย เช่น ทานอาหารร้านดัง ซื้อเสื้อผ้าแบรนด์เนม กู้ยืมเงินไปท่องเที่ยวต่างประเทศ ผ่อนรถยนต์หรู ผ่อนโทรศัพท์มือถือรุ่นล่าสุด โดยที่ไม่ได้นำมาใช้ในการทำงานหรือสร้างรายได้แต่อย่างใด
  • หนี้ดีที่อาจเป็นหนี้เสียจากการใช้จ่ายเกินกำลัง บางคนกู้เงินมาลงทุนจนเกินกำลังตนเอง ทำให้ไม่สามารถบริหารกระแสเงินสดได้ทัน ก็ทำให้ติดอยู่ในวังวนของหนี้ เช่น กู้สินเชื่อเพื่อซื้อคอนโดสำหรับปล่อยเช่าหลายแห่งพร้อมๆ กัน หากไม่มีคนเช่า ทำให้ไม่มีเงินมาผ่อนคอนโด สุดท้ายก็ถูกยึด ทำให้กระทบการการเงินของเราได้

 

เมื่อเข้าใจความแตกต่างของหนี้ดีและหนี้เสีย ก็สามารถที่จะหลีกเลี่ยงการสร้างหนี้เสีย ในขณะเดียวกันก็สร้างหนี้ดี เพื่อเป็นเส้นทางไปสู่อนาคตที่มั่นคงขึ้น

 

สำรวจ “หนี้” ของตัวเอง

หากเป็นหนี้แล้ว ไม่ควรชะล่าใจ เพราะดอกเบี้ยอาจส่งผลกระทบต่อกระแสเงินสดในอนาคตได้ จึงควรหมั่นตรวจสอบยอดหนี้ทั้งหมด หากมีหนี้ก้อนเดียว ก็ไม่มีปัญหา แต่หากมีหนี้หลายก้อน ให้ทำการสำรวจยอดหนี้แต่ละก้อนว่าคงเหลือเท่าไหร่ อัตราดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย และระยะเวลาที่ต้องชำระคืน จากนั้นนำมาใส่ลงในตารางสรุปยอดหนี้ (ภาพที่ 1) เพื่อจัดลำดับหนี้สินจากน้อยไปมาก เพื่อให้สามารถวิเคราะห์และบริหารจัดการหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ภาพที่ 1 : ตัวอย่างตารางสรุปยอดหนี้

รายการ

เจ้าหนี้

หนี้คงเหลือ

(บาท)

อัตราดอกเบี้ย

(% ต่อปี)

ยอดชำระขั้นต่ำ

(บาท)

เวลาใช้หนี้หมด

(เดือน)

ลำดับการปลดหนี้

บัตรเครดิต

ธ.ไทยช่วยไทย

50,000

18%

5,000

10

3

บัตรเครดิต

ธ.อีอาร์

30,000

18%

3,000

10

2

สินเชื่อบ้าน

ธ.บ้านสุข

1,200,000

6%

8,000

300

4

สินเชื่อส่วนบุคคล

บ.คนกันเอง

30,000

24%

2,000

60

1

 

ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้สามารถวิเคราะห์กลยุทธ์ในการบริหารจัดการหนี้ได้ คือ “การจดบันทึกรายรับ-รายจ่าย” ซึ่งจะช่วยให้มองเห็นเงินที่จะไหลเข้ามา และเงินคงเหลือในแต่ละเดือน นำมาซึ่งการวางแผนในการชำระหนี้แต่ละก้อนได้เป็นอย่างดี

 

ตั้งเป้าหมายการจัดการหนี้

เมื่อเราจดบันทึกรายรับ-รายจ่ายอย่างเป็นระบบแล้ว จะรู้ว่าในแต่ละเดือนจะมีกระแสเงินสดเหลืออีกเท่าไหร่ ก็สามารถหาวิธีการจัดการหนี้ที่เหมาะกับตัวเองได้ สิ่งสำคัญ คือ ต้อง “ตั้งเป้าหมายการจัดการหนี้” โดยอาจมีการให้รางวัลเล็ก ๆ กับตนเองก็ได้ เช่น ชำระหนี้บัตรเครดิตให้หมดภายใน 1 ปี หากทำได้ จะไปทานอาหารมื้อพิเศษเพื่อเป็นรางวัลในการพิชิตเป้าหมายนี้ได้ หรือใช้ตั้งเป้าหมายที่เรียกว่า SMART

S – Specific: เป้าหมายควรมีความเฉพาะเจาะจง เช่น ต้องการปลดหนี้บัตรเครดิตทั้งหมดภายใน 12 เดือน

M - Measurable: เป้าหมายควรวัดผลได้ เช่น ต้องการลดจำนวนหนี้ลง 10,000 บาทต่อเดือน

A - Achievable: เป้าหมายควรเป็นไปได้จริง เช่น จะหางานเสริมเพื่อหารายได้เพิ่ม 5,000 บาทต่อเดือน

R - Relevant: เป้าหมายควรเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางการเงินของคุณ เช่น จะลดค่าใช้จ่ายด้านอาหารลง 2,000 บาทต่อเดือน

T - Time-bound: เป้าหมายควรมีกรอบเวลาที่ชัดเจน เช่น จะออมเงิน 100,000 บาท ภายใน 2 ปี

 

กลยุทธ์การจัดการหนี้ที่มีประสิทธิภาพ

สิ่งสำคัญในการจัดการหนี้ คือ ต้องหยุดสร้างหนี้เพิ่ม จากนั้นสรุปรายการหนี้ทั้งหมด หากมีหนี้หลายก้อน ให้รีบเคลียร์หนี้ก้อนที่ดอกเบี้ยมากที่สุดก่อน แต่บางครั้งหากมีหนี้บางก้อนเหลือไม่มาก การเลือกที่จะเคลียร์หนี้ก้อนเล็กออกไปก่อนก็ช่วยให้มีกำลังใจในปลดหนี้ก้อนอื่น ๆ ด้วย (เนื่องจากจำนวนของหนี้ลดลง) ทั้งนี้ สามารถเลือกกลยุทธ์ที่เหมาะสมในการจัดการกับหนี้ได้ เช่น

  • มองหาแหล่งเงินทุนไร้ดอกเบี้ย โดยขอความช่วยเหลือจากครอบครัวหรือญาติพี่น้อง และสามารถให้ยืมเงินก้อนใหญ่มาชำระหนี้ทั้งหมดในปัจจุบัน แล้วผ่อนชำระให้เขาโดยไม่มีดอกเบี้ย หรือคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำ ๆ
  • พูดคุยกับเจ้าหนี้โดยตรง ขอลดอัตราดอกเบี้ย ยืดเวลาการผ่อนชำระ หรือการพักชำระเงินต้น ซึ่งต้องแสดงให้เห็นว่ามีความจริงใจที่จะชำระหนี้จนครบถ้วนอย่างแน่นอน
  • การรีไฟแนนซ์ เป็นการรวมหนี้ก้อนเดียว โดยสามารถติดต่อกับสถาบันการเงินต่าง ๆ ที่มีบริการในด้านนี้ ซึ่งจะช่วยให้อัตราดอกเบี้ยโดยรวมลดลง และการชำระหนี้ไปที่เจ้าหนี้เพียงรายเดียวทำให้บริหารจัดการได้ง่ายขึ้น
  • กลยุทธ์ Snowball หรือการล้างหนี้แบบหิมะถล่ม เหมาะกับผู้ที่มีหนี้สินหลายก้อน โดยแต่ละก้อนก็มีอัตราดอกเบี้ยไม่เท่ากัน ก็จะใช้วิธีชำระหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงที่สุดก่อน ส่วนหนี้ก้อนอื่น ๆ ให้ชำระเป็นเงินขั้นต่ำ เมื่อชำระหนี้ก้อนที่ดอกเบี้ยสูงสุดครบแล้ว ก็ให้ชำระหนี้ก้อนที่มีดอกเบี้ยสูงรองลงมา ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายด้านดอกเบี้ย ทำให้หนี้หมดไวขึ้น

 

สุดท้าย พึงระลึกไว้ว่าอย่านำเงินไปจ่ายหนี้ทั้งหมด แต่ให้แบ่งเงินส่วนหนึ่งเก็บออม และเมื่อเห็นจำนวนเงินในบัญชีที่ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็จะเป็นกำลังใจให้เราในการต่อสู้กับชีวิตต่อไป และเมื่อใดที่มีโอกาสในการลงทุนต่อยอด ก็ยังมีเงินสำรองในการเพิ่มความมั่งคั่งได้อีกด้วย

 

คำแนะนำ

หากมีปัญหาเรื่องหนี้สินหรือการจัดการด้านการเงิน อย่าอายที่จะ “ขอความช่วยเหลือ” จากผู้ที่มีความรู้ เพราะยิ่งปล่อยให้ปัญหาลุกลามมากขึ้น อาจจะแก้ไขไม่ได้แล้ว แต่หากได้รับคำแนะนำจากผู้ที่มีความรู้ ก็จะสามารถจัดการปัญหาที่มีอยู่ และพลิกกลับมาเป็นผู้ที่มีความมั่นคงทางการเงินได้

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th