logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: เกษียณ

“ประกันโรคร้ายแรง” อีกสินทรัพย์ที่ขาดไม่ได้สำหรับแผนเกษียณ

โดย แพทย์จีน ภูกิจ เล้าจีรัณกุล ที่ปรึกษาการเงิน AFPTTM
เผยแพร่ ณ วันที่ 3 ธ.ค. 2566

หลายคนอาจมองข้ามประกันโรคร้ายแรงไป เพราะคิดว่ามีประกันสุขภาพอยู่แล้วก็เพียงพอ

จากข้อมูลทางสถิติพบว่าในปัจจุบันการเกิดโรคร้ายแรงมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคหลอดเลือดสมองที่มีอัตราการพิการเป็นอันดับ 1 และอัตราการตายเป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย(1) เนื่องจากความเสี่ยงในการเกิดโรคเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นตามอายุที่สูงขึ้น จึงทำให้คนวัยเกษียณมีความเสี่ยงการเกิดโรคเหล่านี้ มากกว่าคนในวัยอื่น ๆ และในปัจจุบันพบว่าอัตราการเกิดโรคเหล่านี้ เริ่มพบในคนที่มีอายุน้อยลงมาเรื่อย ๆ

คำถามคือ แล้วประกันสุขภาพที่มีอยู่ไม่เพียงพอหรือ คำถามนี้เกิดจากความไม่เข้าใจความแตกต่างระหว่างประกันสุขภาพ และประกันโรคร้ายแรง รวมถึงอาจจะลืมคำนึงผลสืบเนื่องต่าง ๆ ที่ตามมาหลังจากเจ็บป่วย โดยก่อนอื่นควรทำความเข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างประกัน 2 แบบนี้ และผลสืบเนื่องจากการเจ็บป่วย

ความแตกต่างระหว่างประกันสุขภาพ และประกันโรคร้ายแรง

  1. ประกันสุขภาพ จะเป็นประกันที่จะจ่ายค่ารักษาให้กับโรงพยาบาลเมื่อคุณเจ็บป่วยและเข้ารับการรักษา ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยใน หรือผู้ป่วยนอก ทั้งนี้ขึ้นกับเงื่อนไขแบบประกันที่เลือก แต่เมื่อออกจากโรงพยาบาลมา จะไม่สามารถเบิกเคลมในส่วนนี้ได้อีกต่อไป
  2. ประกันโรคร้ายแรง จะเป็นประกันที่จะจ่ายสินไหมเป็นเงินสด เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคร้ายแรงและตรงกับเงื่อนไขในกรมธรรม์

ผลสืบเนื่องจากการเป็นโรคร้ายแรง

  1. ต้องเสียค่ารักษาพยาบาลจำนวนมากขณะพัก รพ. รวมถึงค่ารักษาต่อเนื่องหลังจากออก รพ.
  2. อาจจะตกงานและสูญเสียรายได้
  3. อาจจะต้องมีค่าจ้างคนดูแล หรือค่าใช้จ่ายสถานดูแลผู้ป่วย

จะเห็นได้ว่า เมื่อเจ็บป่วยจะมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นจำนวนมากพร้อมกับรายได้ที่หายไป ซึ่งหากต้องเจ็บป่วยช่วงก่อนเกษียณ หรือช่วงเกษียณโดยที่ไม่ได้มีการวางแผนหรือเตรียมตัวในส่วนนี้ไว้ให้ดีก่อนแล้ว ก็จะกระทบกับเงินเก็บทั้งหมดทันที ดังนั้น สิ่งที่สำคัญและจำเป็นไม่แพ้ไปกว่าการเก็บออมเงินเพื่อเกษียณ คือ การมีแผนปกป้องเงินเก็บยามเกษียณ ด้วยการทำ “ประกันโรคร้ายแรง”

ปัจจัยที่ควรนำมาคำนวณวงเงินคุ้มครองโรคร้ายแรง

  1. อายุปัจจุบันและอายุขัยเฉลี่ยคาดการณ์
  2. รายได้และรายจ่ายต่อเดือนในปัจจุบัน
  3. รายจ่ายสืบเนื่องขั้นต่ำจากค่ารักษาและดูแลในอนาคต
    1. ค่าคนดูแลหรือค่าบริการสถานดูแลผู้ป่วย 20,000-30,000 บาท/เดือน
    2. ค่ายา ค่ากายภาพ ค่ารักษาสืบเนื่อง 20,000-30,000 บาท/เดือน

หมายความว่า หากต้องเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงจะมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 40,000-60,000 บาท/เดือน ทีเดียว

คำนวณ

  1. ค่าใช้จ่ายคนดูแล 30,000 บาท/เดือน คิดเป็น 360,000 บาท/ปี
  2. ค่าใช้จ่ายการรักษาต่อเนื่อง 30,000 บาท/เดือน คิดเป็น 360,000 บาท/ปี

หมายความว่า ค่าใช้จ่ายรวมที่เพิ่มขึ้นต่อปีทั้งหมด เป็นจำนวนเงิน 720,000 บาท/ปี ไม่รวมค่าใช้จ่ายปกติประจำเดือน (ในกรณีเป็นคนโสดไม่มีคนช่วยแบ่งเบา) หรือภาระค่าใช้จ่ายครอบครัว (ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นหัวหน้าครอบครัว) และหากเป็นเร็วเกินไป หมายความว่าระยะเวลาการใช้เงิน จนกว่าจะหมดอายุขัยก็มากขึ้นไปอีกทีเดียว หากคิดว่าอยู่ได้อีก 10 ปีหลังจากป่วย จำนวนเงินที่ต้องใช้เพิ่มขึ้นจากเดิม อย่างน้อยก็คือ 7.2 ล้านบาท ไม่รวมภาวะเงินเฟ้อ

จะเห็นได้ว่า ภาระด้านค่าใช้จ่ายต่อปีหลังเจ็บป่วยเป็นโรคร้ายแรงค่อนข้างสูงเลยทีเดียว ตัวอย่างข้างบนกรณี ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งจะมีภาวะช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ไม่สามารถทำงานอาชีพเดิมได้อีกต่อไป ซึ่งค่าใช้จ่ายจริงอาจจะมากกว่าที่ประมาณการณ์ไว้ และในความเป็นจริงอาจจะมีปัจจัยเกี่ยวกับเรื่องเงินเฟ้อค่ารักษาพยาบาลร่วมด้วย

ที่มา

  1. กองยุทธศาสตร์และแผนงานสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข, สถิติสาธารณสุข พ.ศ. 2564, หน้า 76.

ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th