บทความ: ประกันภัย
พี่ (ว่า) ดี คู่ซี้ประกันชีวิต
โดย ธนภัทร จินดาหลวง ที่ปรึกษาการเงิน AFPTTM
เผยแพร่ ณ วันที่ 26 พ.ย. 2566
“โห โชคดีมากเลยนะพี่ ที่รอดมาได้” “คุณพระคุณเจ้าคุ้มครองนะพี่” “ถือว่าฟาดเคราะห์ไปนะครับ” ฯลฯ
หลากหลายประโยคที่ให้กำลังใจผู้ป่วย ผู้ซึ่งเพิ่งผ่านพ้นวิกฤติรุนแรงในชีวิต ไม่ว่าจากอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วย แม้โชคดีที่รอดชีวิตมาได้ แต่อาจโชคร้ายที่ต้องกลายเป็นบุคคลทุพพลภาพ และใช้ชีวิตไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
ลองจินตนาการดูว่า หากต้องอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ จะรับมืออย่างไร เช่น การจัดสรรผู้ที่มาดูแลผู้ป่วย ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ซึ่งประเด็นเหล่านี้หลายคนอาจไม่เคยนึกถึง เพราะดูเหมือนเป็นเรื่องที่ไกลตัว
หลายท่านที่ทำประกันชีวิต จดจำได้แต่เพียงว่ามีทุนประกันชีวิตเท่าไหร่ แต่ไม่คุ้นกับสัญญาเพิ่มเติมประกันทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง ดังนั้น หากเปิดกรมธรรม์ แล้วพบสัญญาแนบท้ายกรมธรรม์นี้ อาจจะเป็นความหวังดีของตัวแทนขาย ที่แนบสัญญานี้เพิ่มเข้าไป เนื่องจากเบี้ยประกันไม่สูงมากนักหรือบางแบบประกัน แถมสัญญาเพิ่มเติมนี้ฟรีด้วย โดยสัญญาเพิ่มเติมต่าง ๆ ที่แนบกับประกันชีวิต จะเป็นสัญญาปีต่อปี สามารถแจ้งยกเลิกสัญญาเพิ่มเติมในภายหลังได้
ทุพพลภาพ อ่านว่า ทุบ พน ละ พาบ ตามความหมายในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 หมายถึง หย่อนกำลังความสามารถที่จะประกอบการงานได้ตามปรกติ
ทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง คือไม่สามารถประกอบการงานได้ตามปรกติอย่างสิ้นเชิง
ประกันภัยทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง หรือ TPD (Total Permanent Disability) เป็นสัญญาประกันภัยเพิ่มเติม (Rider) ที่สามารถซื้อแนบกับสัญญาประกันชีวิต ซึ่งผู้เอาประกันจะซื้อเพิ่มเติม หรือไม่ก็ได้
โดยบริษัทประกันจะจ่ายเงินตามจำนวนเงินเอาประกันของสัญญาเพิ่มเติมการประกันภัยทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง ให้แก่ผู้เอาประกันภัย แยกเป็น 2 กรณี คือ
1. กรณีผู้เอาประกันภัยตกเป็นบุคคลทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง อันเป็นผลมาจากการบาดเจ็บหรือการเจ็บป่วย ซึ่งการบาดเจ็บหรือการเจ็บป่วยนั้น ทำให้ผู้เอาประกันภัย ไม่สามารถประกอบหน้าที่การงานในอาชีพใด ๆ ได้โดยสิ้นเชิง และการทุพพลภาพนั้นต้องเป็นต่อเนื่องกันไม่น้อยกว่า 180 วัน นับตั้งแต่วันที่พิสูจน์ได้ว่าเป็นบุคคลทุพพลภาพ และการบาดเจ็บหรือการเจ็บป่วยนั้น ไม่สามารถรักษาให้หายเป็นปกติและทำให้ผู้เอาประกันภัย ไม่สามารถประกอบหน้าที่การงานในอาชีพใด ๆ ได้โดยสิ้นเชิงตลอดไป
2. กรณีผู้เอาประกันภัยสูญเสียอวัยวะ ตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
1. สูญเสียสายตาทั้งสองข้าง และไม่สามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้
2. สูญเสียมือ สองข้าง หรือ เท้าสองข้าง หรือ มือหนึ่งข้างและ เท้าหนึ่งข้าง โดยการตัดออกตั้งแต่ข้อมือหรือข้อเท้า
3. สูญเสียสายตา หนึ่งข้าง และไม่สามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้ และสูญเสียมือหรือเท้า ข้างหนึ่ง โดยการตัดออกตั้งแต่ข้อมือหรือข้อเท้า (ที่มา บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต)
ตัวอย่าง นายเอ ทำประกันชีวิตด้วยทุนประกัน 2 ล้านบาท และซื้อสัญญาเพิ่มเติมทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง ด้วยทุนประกัน 2 ล้านบาท ต่อมานายเอ ประสบอุบัติเหตุ จนต้องสูญเสียมือทั้งสองข้างตั้งแต่ข้อมือ สามารถเคลมสินไหม ทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง ได้ 2 ล้านบาท
นาย บี ทำประกันชีวิตด้วยทุนประกัน 1 ล้านบาท ซื้อประกันภัยโรคร้ายแรง 2 ล้านบาท ซื้อสัญญาเพิ่มเติมทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง 1 ล้านบาท ต่อมานายบีตรวจพบว่าเป็นมะเร็งที่สมอง ระยะรุนแรง และได้ทำการผ่าตัดแล้ว แต่ผลจากการผ่าตัด ทำให้ต้องเป็น อัมพาต นอนติดเตียง เป็นระยะเวลาเกิน 180 วัน
กรณีของนายบี เคลมสินไหม โรคร้ายแรง ได้ 2 ล้านบาท และต่อมา เคลมสินไหมทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง ได้อีก 1 ล้านบาท สัญญาเพิ่มเติมโรคร้ายแรงและ สัญญาเพิ่มเติมทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง ทั้งสองสัญญา เป็นอันยุติความคุ้มครอง ไม่ต้องชำระเบี้ยต่ออายุประกันอีกต่อไป เหลือเพียงเบี้ยประกันชีวิต ที่คนในครอบครัว ชำระเบี้ยต่ออายุประกันชีวิต หากนายบีเสียชีวิตในเวลาต่อมา สามารถเคลมสินไหมเสียชีวิต ได้ 1 ล้านบาท
(หากซื้อสัญญาเพิ่มเติม ยกเว้นเบี้ยประกันชีวิต (WP; wave premium) ก็ไม่ต้องชำระเบี้ยประกันชีวิต)
จะเห็นได้ว่า กรณีเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุ ถ้าโชคดีที่ไม่เสียชีวิต แต่หากโชคร้าย ที่ต้องกลายเป็นบุคคลทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งพาบุคคลในครอบครัวช่วยเหลือดูแล หรือ บางครอบครัว ต้องจ้างบุคคลภายนอกมาดูแล มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งค่าใช้จ่าย นี้ จะดำเนินต่อไปจนกว่า จะเสียชีวิตกันเลยทีเดียว หากมีโอกาสได้ตัดสินใจทำประกันชีวิต แล้ว แนะนำว่า ควรซื้อสัญญาเพิ่มเติมทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง แนบเข้าไปด้วย ซึ่งเบี้ยประกันภัยทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง (TPD) นั้น ไม่ได้สูงมากนัก (ที่มา บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต)
ดังตัวอย่างต่อไปนี้
เพศชาย อายุ 25 ปี เบี้ยประกันทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง ทุนประกัน 2 ล้านบาท =960 บาทต่อปี
เพศชาย อายุ 35 ปี เบี้ยประกันทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง ทุนประกัน 2 ล้านบาท = 960 บาทต่อปี
เพศชาย อายุ 45 ปี เบี้ยประกันทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง ทุนประกัน 2 ล้านบาท =1,280 บาทต่อปี
เพศชาย อายุ 55 ปี เบี้ยประกันทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง ทุนประกัน 2 ล้านบาท =2,400 บาทต่อปี
เพศหญิง อายุ 25 ปี เบี้ยประกันทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง ทุนประกัน 2 ล้านบาท =260 บาทต่อปี
เพศหญิง อายุ 35 ปี เบี้ยประกันทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง ทุนประกัน 2 ล้านบาท = 360 บาทต่อปี
เพศหญิง อายุ 45 ปี เบี้ยประกันทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง ทุนประกัน 2 ล้านบาท =640 บาทต่อปี
เพศหญิง อายุ 55 ปี เบี้ยประกันทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง ทุนประกัน 2 ล้านบาท =1,540 บาทต่อปี
สำหรับความคุ้มครองและ ข้อยกเว้นความคุ้มครอง ของแต่ละบริษัทประกันก็จะมีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกัน ซึ่งสามารถศึกษารายละเอียดก่อนทำประกัน กับนักวางแผนประกันชีวิตได้ ดังนั้น
หากมีโอกาสวางแผนทำประกันชีวิต อย่าลืมเพิ่มสัญญาเพิ่มเติมประกันภัยทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง (TPD) ด้วย
ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th