บทความ: ภาษีและมรดก
ประกันควบการลงทุนกับการวางแผนมรดก
โดย ป่านสวาท เฉียบแหลม นักวางแผนการเงิน CFP®
เผยแพร่ ณ วันที่ 25 ต.ค. 2566
ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตควบการลงทุน (Unit Linked) ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบริษัทประกันหรือธนาคารพาณิชย์ ต่างได้นำเสนอผลิตภัณฑ์ดังกล่าวให้แก่ลูกค้าของตนเอง
ประกันควบการลงทุน คือ แบบประกันที่ควบรวมความคุ้มครองและโอกาสในการบริหารผลตอบแทนในการลงทุนเพิ่มเติม ซึ่งเบี้ยประกันจะถูกหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินการประกันภัย (Premium Charge) ค่าธรรมเนียมการบริหารกรมธรรม์ (Administration Fee) ค่าการประกันภัย (Cost of Insurance) ที่คำนวณจากอัตราค่าการประกันภัยของจำนวนเงินเสี่ยงภัยสุทธิ และอัตราค่าการประกันภัยเพิ่มเนื่องจากสุขภาพ ซึ่งอัตราค่าการประกันภัยจะขึ้นอยู่กับอายุและเพศ โดยจะนำเงินที่เหลือหลังหักค่าใช้จ่ายจัดสรรลงทุนในกองทุนรวมที่สามารถเลือกลงทุนได้ด้วยตนเอง
ประกันควบการลงทุนมีหลายรูปแบบ แตกต่างกันตามวิธีชำระเบี้ย
- การจ่ายชำระเบี้ยครั้งเดียวด้วยเงินก้อน (Single Premium)
- การจ่ายชำระเบี้ยรายงวดรายปี (Regular Premium)
- การจ่ายชำระเบี้ยรายงวดแบบมีระยะเวลากำหนด
เมื่อประกันชีวิตแบบควบการลงทุนได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นและถูกนิยมนำมาใช้ในการวางแผนส่งต่อมรดก ซึ่งเงินได้จากการประกันภัยโดยปกติจะเป็นเงินได้ที่ได้รับการยกเว้นตามมาตรา 42 (13) แห่งประมวลกฎหมายรัษฎากร “เงินจากกรมธรรม์ประกันชีวิตเป็นทรัพย์สินที่เกิดขึ้นในขณะหรือภายหลังผู้เอาประกันเสียชีวิต” จึงเป็นที่ถกเกียงและเกิดคำถามว่า ประกันชีวิตควบการลงทุน (Unit Linked) จะต้องเสียภาษีมรดกไหม
ภาษีมรดก มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 ตามพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 โดยมีหลักการในการจัดเก็บภาษีมรดก บุคคลผู้ได้รับทรัพย์มรดกที่ต้องเสียภาษีจากเจ้ามรดกแต่ละราย ไม่ว่าจะได้รับมาในคราวเดียวหรือหลายคราว รวมกันมีมูลค่าเกิน 100 ล้านบาท ต้องเสียภาษีการรับมรดกเฉพาะส่วน ที่เกิน 100 ล้านบาท ในอัตรา 10% หรือ 5% หากผู้ได้รับทรัพย์มรดกเป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดานของเจ้ามรดก
ทรัพย์มรดกที่ต้องเสียภาษีมรดก มีทั้งหมด 5 ประเภท ดังต่อไปนี้
- อสังหาริมทรัพย์ เช่น บ้าน ที่ดิน
- หลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เช่น หุ้น หน่วยลงทุนในกองทุนรวม
- เงินฝากหรือเงินอื่นใดมีลักษณะอย่างเดียวกัน
- ยานพาหนะที่มีหลักฐานทางทะเบียน เช่นรถยนต์ รถจักรยานยนต์
- ทรัพย์สินทางการเงินที่กำหนดเพิ่มขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกา
กรมธรรม์ประกันชีวิตควบการลงทุน (Unit Link) เป็นกรมธรรม์ประกันชีวิตที่ได้รับความคุ้มครองในส่วนของประกันชีวิตและลงทุนหน่วยลงทุนในกองทุนรวม โดยผู้เอาประกันภัยต้องจ่ายเงิน โดยประกอบไปด้วย 2 ส่วน คือ
- ค่าเบี้ยประกันชีวิต ที่เป็นส่วนของค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตามข้างต้น
- เงินลงทุนในหน่วยลงทุน ทั้งนี้ บริษัทผู้รับประกันภัยจะเป็นตัวกลางระหว่างผู้เอาประกันภัยกับกองทุนรวม
ลักษณะของกรมธรรม์ประกันชีวิตควบการลงทุน (Unit Link) จะมีเงินผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับผลประโยชน์แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะด้วยกัน คือ เงินซึ่งบริษัทประกันจะจ่ายแก่ผู้รับประโยชน์เมื่อผู้เอาประกันภัยถึงแก่ความตาย และ เงินได้ซึ่งเกิดจากหน่วยลงทุนที่ผู้เอาประกันภัยเลือกลงทุนผ่านกองทุนรวมที่บริษัทประกันกำหนดไว้ ซึ่ง บริษัทประกันมีหน้าที่ต้องขายหน่วยลงทุนแล้วนำเงินที่ขายได้มาส่งมอบแก่ผู้รับประโยชน์เมื่อผู้เอาประกันภัยถึงแก่ความตาย
หากตีความในประเด็นภาษีมรดก เงินที่บริษัทประกันจ่ายให้แก่ผู้รับประโยชน์ ตามมูลค่าที่ตกลงไว้ในกรมธรรม์ เป็นเงินส่วนที่ไม่ต้องเสียภาษีมรดก เพราะเป็นเงินที่เกิดขึ้นภายหลังผู้เอาประกันเสียชีวิต เงินส่วนที่ลงทุนผ่านกองทุนรวมบริษัทจะทำการขายหน่วยลงทุนแล้วนำเงินที่ขายได้มาส่งมอบให้แก่ผู้รับผลประโยชน์ ซึ่งเงินส่วนนี้จะต้องเสียภาษีมรดก เพราะหน่วยลงทุนตามกรมธรรม์เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้เอาประกันอยู่แล้ว ไม่ได้เป็นเงินที่เกิดขึ้นหลังจากผู้เอาประกันเสียชีวิต
หากจะนำประกันชีวิตควบการลงทุนมาใช้ในการวางแผนภาษี จะต้องพึงระวังไว้ว่าในส่วนของเงินที่เกิดจากการลงทุนในหน่วยลงทุน จะถือเป็นมรดก ที่เข้าข่ายจะต้องเสียภาษีมรดกตามกฎหมาย แทนที่จะวางแผนเพื่อจัดการภาษี อาจจะทำให้เกิดภาษีมรดกที่เพิ่มมากขึ้นด้วย ประกันควบการลงทุนจึงเป็นประกันประเภทที่ไม่เหมาะกับการนำมาใช้วางแผนภาษีมรดก
ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th