logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: เกษียณ

เครื่องมือสำหรับการวางแผนเพื่อการเกษียณ

โดย กชจุฑา เพียรวนิช ที่ปรึกษาการเงิน AFPTTM
เผยแพร่ ณ วันที่ 15 ต.ค. 2566

คำว่าเกษียณอาจฟังดูน่าเบื่อและห่างไกลจากความคิดในหลาย ๆ คน คำว่าเกษียณในอดีตอาจหมายถึง คนสูงวัยที่เลิกทำงานและใช้ชีวิตทั้งวันอยู่กับบ้านเป็นส่วนใหญ่ ด้วยคำนิยามเหล่านี้อาจทำให้คนส่วนใหญ่ไม่สนใจในเรื่องวางแผนเกษียณ เพราะยังรู้สึกว่าไกลตัว แต่ถ้านิยามคำว่าเกษียณใหม่ในยุคนี้ คำว่าเกษียณหมายถึง “อิสระ” อิสระในการเลือกใช้ชีวิตที่ต้องการและงานเป็นแค่ทางเลือกว่าจะทำงานหรือไม่ทำงานก็ได้ เพราะมีเงินเก็บเพียงพอ อาจจะเกษียณตอนอายุ 40 ปี 50 ปี หรืออาจจะทำงานไปจนถึง 70 ปี เพราะยังสนุกและมีความสุขกับการทำงาน ถ้าอยากจะมีอิสระในการใช้ชีวิตและตั้งใจเริ่มวางแผนเกษียณวันนี้มีหลักการเลือกใช้เครื่องมือวางแผนเกษียณ ดังนี้

ตรวจสอบเครื่องมือสำหรับเก็บเงินเกษียณ

เชื่อว่าหลายคนมีแผนในใจว่าอยากจะมีรายได้เท่าไหร่หลังเกษียณ บางคนอาจจะเริ่มคำนวณเงินก้อนที่จำเป็นต้องมีในวันเกษียณ เช่น 10 ล้านบาท 20 ล้านบาท แต่หลายคนอาจสงสัยหรือไม่รู้ว่าจะเก็บเงินเกษียณไว้ที่ไหนเพื่อให้ได้เงินเกษียณอย่างที่ตั้งเป้าหมายไว้ ดังนั้น การเลือกเครื่องมือเก็บเงินและลงทุนเพื่อเกษียณ จึงมีความสำคัญ โดยมี 3 ปัจจัยสำคัญ ดังนี้

อาชีพ

เครื่องมือเก็บเงินเพื่อการเกษียณ ไม่ว่าจะทำอาชีพอะไรสามารถลงทุนได้ทั้งหมด ยกเว้นบางเครื่องมือที่มีเงื่อนไขเรื่องอาชีพที่ต้องพิจารณาเพิ่ม

1. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เฉพาะข้าราชการที่สามารถลงทุนใน กบข.  

2. ประกันสังคมมีทั้งภาคบังคับและภาคสมัครใจ

- มาตรา 33 (ภาคบังคับ) สำหรับลูกจ้างในระบบเป็นภาคบังคับต้องส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคม 5% ของเงินเดือน และสูงสุดไม่เกิน 750 บาท/เดือน

- มาตรา 39 (ภาคสมัครใจ) สำหรับลูกจ้างที่เคยประกันตนมาตรา 33 นำส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือนและต้องการรับสิทธิประโยชน์ต่อเนื่องจากประกันสังคม โดยส่งเงิน 432 บาท/เดือน 

- มาตรา 40 (ภาคสมัครใจ) สำหรับลูกจ้างนอกระบบหรืออาชีพฟรีแลนซ์ มีทางเลือกส่งเงิน 3 ทาง ทางเลือกที่หนึ่ง 70 บาท/เดือน ทางเลือกที่สอง 100 บาท/เดือน ทางเลือกที่สาม 300 บาท/เดือน 

ซึ่งแต่ละมาตราจะได้รับผลประโยชน์ที่แตกต่างกันไป

3. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) สำหรับพนักงานบริษัททั่วไป เก็บเงินจากการหักเงินเดือนตามสัดส่วนที่เราต้องการ (2%-15%ของรายได้) และได้รับเงินสมทบจากนายจ้าง (2%-15%ของรายได้) อย่างไรก็ตามเงินสมทบจากนายจ้างขึ้นอยู่กับเงื่อนไขแต่ละบริษัทว่าจะสมทบเท่าไหร่ นอกจากนี้ Provident Fund ยังมีสิทธิประโยชน์เรื่องภาษี สามารถนำส่วนเงินสะสมไปลดหย่อนภาษีได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 15% ของเงินเดือนและสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท

4. กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เหมาะสำหรับอาชีพอิสระที่ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์จากทางภาครัฐ นักเรียน นักศึกษา ชาวไร่ชาวนา พ่อค้าแม่ค้า ฯลฯ สามารถออมเงินผ่าน กอช. ขั้นต่ำ 50 บาท/เดือน สูงสุด 1,100 บาท/เดือน และได้รับเงินสมทบจากรัฐบาล เงินออมสามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30,000 บาทต่อปี

เงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับรายได้

มีบางเครื่องมือที่ต้องพิจารณาเรื่องเกณฑ์รายได้ที่ต้องเสียภาษี จึงจะเลือกเก็บเงินผ่านเครื่องมือนี้ได้ เนื่องจากมีเงื่อนไขในการลงทุน ดังนั้น ถ้ารายได้ไม่ต้องเสียภาษีก็ไม่ควรใช้เครื่องมือเหล่านี้ กองทุนรวมที่มีสิทธิประโยชน์ทางภาษี (RMF / SSF)

- กองทุนสำรองเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF ) มีเงื่อนไขการลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษี คือ

ซื้อสูงสุดไม่เกิน 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีและไม่เกิน 500,000 บาทเมื่อรวมกับเงินออมเพื่อการเกษียณอื่นๆ ( กบข. / กอช. / กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ / ประกันบำนาญ / SSF)

- กองทุนการออมระยะยาว (SSF ) เงื่อนไขการลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษี คือ

ซื้อสูงสุดไม่เกิน 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีและไม่เกิน 200,000 บาทเมื่อรวมกับเงินออมเพื่อการเกษียณอื่นๆ ไม่เกิน 500,000 บาท ( กบข. / กอช. / กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ / ประกันบำนาญ / RMF)

นอกจากนี้ยังมีเครื่องอื่นๆ ที่สามารถลดหย่อนภาษีได้และไม่มีบทลงโทษกรณีซื้อเกินเงื่อนไข

- ประกันบำนาญ ลดหย่อนสูงสุดสูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้และไม่เกิน 200,000 บาท เมื่อรวมกับเงินออมเพื่อการเกษียณอื่นๆ ไม่เกิน 500,000 บาท ( กบข. / กอช. / กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ / SSF / RMF)

ประกันชีวิต/ประกันสะสมทรัพย์ ลดหย่อนสูงสุด 100,000 บาท

อายุ

อายุมีส่วนสำคัญในการเลือกเครื่องมือ บางเครื่องมือสามารถซื้อได้ถึงอายุ 55 ปี หรือ 60 ปี เช่น ประกันบำนาญหรือประกันสะสมทรัพย์บางแบบ นอกจากนี้สำหรับคนอายุมาก เช่น อีก 45 ปี 50 ปี ใกล้เกษียณในอีก 5 -10 ปี ต้องเลือกลงทุนในเครื่องมือที่ความเสี่ยงไม่สูงมากเพื่อไม่ให้เงินต้นขาดทุน

เครื่องมือที่กล่าวมามีการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายและมีระดับความเสี่ยงที่แตกต่างกัน ดังนั้น ต้องเลือกเครื่องมือที่เหมาะสมกับอายุและความเสี่ยงที่รับได้

ทำความเข้าใจสินทรัพย์การลงทุน

เครื่องมือวางแผนเกษียณแต่ละอย่างมีการลงทุนที่แตกต่างกัน ดังนั้น ต้องเรียนรู้สินทรัพย์ลงทุน (Asset Class) โดยสินทรัพย์พื้นฐานที่ควรรู้มี 5 ประเภท

1. เงินสด หรือเงินฝากธนาคาร ใช้เก็บเพื่อเป็นสภาพคล่องหรือใช้เป็นเงินฉุกเฉิน ไว้ในบัญชีออมทรัพย์ธนาคาร โดยเงินฝากจะได้รับผลตอบแทนคือดอกเบี้ย

2. ตราสารหนี้ ถ้าให้รัฐบาลกู้ยืมเงิน เรียกว่า พันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินคลัง ถ้าให้บริษัทกู้ยืมเงิน เรียกว่า หุ้นกู้ ส่วนใหญ่แล้วตราสารหนี้จะมีความเสี่ยงต่ำถึงปานกลาง ความผันผวนต่ำถึงปานกลาง ใช้ลงทุนเพื่อสร้างสภาพคล่องหรือลงทุนเพื่อเน้นกระแสเงินสดรับอย่างต่อเนื่อง ผลตอบแทนจากตราสารหนี้ คือ ดอกเบี้ยและส่วนต่างราคา

3. หุ้น มีความเสี่ยงสูง และมีความผันผวนสูง ลงทุนเพื่อเน้นเติบโตสูงและโอกาสได้ผลตอบที่ชนะเงินเฟ้อ ผลตอบแทน คือ กำไรส่วนต่างจากราคาหุ้นและเงินปันผล

4. อสังหาริมทรัพย์ มีความเสี่ยงสูง สภาพคล่องต่ำ ลงทุนเพื่อการเติบโตของเงินลงทุนหรือสร้างกระแสเงินสดประจำจากค่าเช่า โดยสามารถลงทุนทางตรงโดยการซื้อบ้าน คอนโดหรือลงทุนทางอ้อมผ่านกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) ได้เช่นกัน ผลตอบแทน คือ ส่วนต่างราคาและค่าเช่า

5. สินทรัพย์ทางเลือก เช่น ทองคำ สินทรัพย์ที่หลายคนนิยมและมองว่าเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (safe heaven) มักลงทุนเพื่อไว้กระจายความเสี่ยงเพราะให้ผลตอบแทนที่ดีสวนทางกับเวลาที่เศรษฐกิจไม่ดี มีสภาพคล่องสูง ผลตอบแทน คือ ส่วนต่างราคา

หากรู้จักเครื่องมือให้เหมาะสมกับอาชีพ รายได้ และระยะเวลาของตัวเอง รวมถึงการเข้าใจสินทรัพย์ลงทุน จะทำให้การบริหารเงินเพื่อการเกษียณเป็นไปอย่างประสิทธิภาพมากขึ้น ย่อมส่งผลให้การวางแผนเพื่อการเกษียณมีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้นเช่นกัน

ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th