logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: เกษียณ

กอช. เงินออมเพื่อการเกษียณก้อนแรกที่คนไทยควรมี

โดย ชุติมา พงษ์เสน่ห์ ที่ปรึกษาการเงิน AFPTTM
เผยแพร่ ณ วันที่ 8 ต.ค. 2566

ทราบไหมว่าคนไทยทุกคนมีสิทธิ์รับเงินสมทบจากรัฐเพื่อออมเงินไว้ใช้ยามเกษียณได้ตั้งแต่อายุ 15 ปี ผ่านกองทุนการออม

แห่งชาติ (กอช.) โดย กอช.จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554 ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง เป็นกองทุนการออมภาคสมัครใจ ที่รัฐจัดให้กับแรงงานนอกระบบที่ไม่มีสวัสดิการอื่นรองรับ ได้มีบำเหน็จบำนาญในยามเกษียณเหมือนแรงงานในระบบจากเงินออมสะสม และเงินที่รัฐสมทบเพิ่มตามช่วงอายุของสมาชิก

แผนภูมิที่ 1

ที่มา : กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)

เป้าหมายสำคัญของ กอช. คือ การลดความเลื่อมล้ำในสังคม ให้ประชาชนเตรียมความพร้อมสู่วัยเกษียณอย่างมีคุณภาพ มีรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี และช่วยแบ่งเบาภาระงบประมาณของภาครัฐในการดูแลผู้สูงอายุ จากแผนภูมิที่ 1 พบว่าภาพพีระมิดประชากรของประเทศไทย เห็นได้ชัดว่าโครงสร้างประชากรผู้สูงอายุมีมากขึ้นและวัยแรงงานปัจจุบันกำลังจะกลายเป็นผู้สูงอายุในอนาคต ดังนั้นการส่งเสริมการออมให้กับแรงงานนอกระบบเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับวัยเกษียณจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก

ขณะนี้ประเทศไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบแล้ว หมายความว่าไทยจะเป็นสังคมที่มีผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด มีการคาดการณ์ว่าใน พ.ศ. 2574  ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอด คือ มีผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด (มีคนเกิดน้อยลง อายุขัยเฉลี่ยของคนไทยสูงขึ้น)  ถ้ามีคนแก่ที่ต้องพึ่งพาลูกหลานจำนวนมากขึ้น แต่มีจำนวนลูกหลานให้พึ่งพาน้อยลง ลูกที่เคยมีกำลังเลี้ยงพ่อแม่ก็จะกลายเป็นปู่ย่าตายายให้คนรุ่นถัดไปที่มีจำนวนน้อยลงอีกเลี้ยงดู ภาระของคนรุ่นถัด ๆ ไปก็จะหนักมากขึ้น จนอาจเกิดเหตุการณ์ที่ลูกหลานทอดทิ้งได้ ถึงลูกหลานจะกตัญญูก็คงดูแลให้ดีได้ลำบาก การเตรียมตัวด้วยตนเองเพื่อเกษียณจึงมีความสำคัญมาก ผู้ที่เป็นแรงงานในระบบจะมีบำนาญชราภาพของประกันสังคมมาช่วยดูแลยามเกษียณ

จากแผนภูมิที่ 1 ภาพรวมของแรงงานไทย เห็นได้ชัดว่ามีแรงงานนอกระบบอยู่เกินครึ่ง ซึ่งจะไม่มีบำนาญชราภาพอื่นมารองรับ ลำพังแค่เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากรัฐคงจะไม่เพียงพอ คนที่อยู่นอกระบบบำนาญทั้งหลายจำเป็นต้องตระหนักในเรื่องนี้ให้มากและเตรียมตัวให้เร็วขึ้น

ในฐานะที่เป็นผู้ออมใน กอช. คนหนึ่งที่สมัครสมาชิกในปีแรกที่เปิดให้ออมมาต่อเนื่องทุกปี ตั้งแต่ที่ยังกำหนดขั้นสูงสุดของเงินสะสมอยู่ที่ปีละ 13,200 บาทและเงินสมทบสูงสุดที่ 1,200 บาท (ข้อมูลวันที่ 22 สิงหาคม 2566) จะเห็นว่ามีทั้งส่วนของเงินเราเองและเงินสมทบจากรัฐซึ่งไม่น้อยเลยแล้วยังมีดอกผลจากการลงทุนที่เกิดขึ้นอีก

ที่มา : กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)

ตั้งแต่ปี 2566 กอช.ขยายเพดานการออมให้สูงสุดถึง 30,000 บาทต่อปี และขยายเงินสมทบให้สูงสุดถึง 1,800 บาทต่อปี เท่ากับว่าถ้าเราออมเต็มเพดาน เราจะมีเงินออมเพิ่มเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากได้ถึง 6% และกอช. บอกว่าถ้าออมเต็มเพดาน 30,000 บาท ต่อเนื่องทุกปีตั้งแต่อายุ 15 ปีจนถึง 60 ปี จะได้บำนาญสูงสุดถึงเดือนละ 12,XXX บาท (คำนวณประมาณการผลตอบแทน 2.5%ต่อปี)

ตัวอย่างที่ 1 ถ้าเราเริ่มออมเงินใน กอช. ตั้งแต่อายุ 15 ปี โดยใส่เงินสะสมใน กอช.ปีละ 3,600 บาทและได้รับเงินสมทบจากรัฐปีละ 1,800 บาท ออมต่อเนื่องจนถึงอายุ 22 ปี แล้วไปทำงานอยู่ในประกันสังคม ระยะเวลาการออมใน กอช.จะเท่ากับ 7 ปี ถ้าทิ้งเงินสะสมและเงินสมทบที่ออมไว้ตั้งแต่อายุ 22 ปีจนถึงเวลาเกษียณที่อายุ 60 ปี จำนวนปีที่คงอยู่ในกอช.ต่อเนื่อง คือ 38 ปี ถ้าอัตราผลตอบแทนของการลงทุนเท่ากับ 2.5% ในปีที่อายุครบ 60 เงินสะสมที่ใส่ไปปีละ 3,600 บาท ทั้งหมด 7 ปี เท่ากับ 25,200 บาท และเงินสมทบอีก 12,600 บาท จะกลายเป็นเงินจำนวน 104,160 บาท จากการที่ได้รับเงินสมทบจากรัฐและดอกผลที่เกิดจากการลงทุนสะสมไว้

ตัวอย่างที่ 2 ถ้าเปลี่ยนจำนวนเงินสะสมเป็นปีละ 30,000 ซึ่งเป็นจำนวนสูงสุดที่จะใส่ได้ในแต่ละปีตั้งแต่อายุ 15 ปีจนถึง 22 ปี และได้รับเงินสมทบจากรัฐปีละ 1,800 บาท แล้วไปทำงานอยู่ในประกันสังคมแบบเดียวกับตัวอย่างที่ 1 แล้วทิ้งเงินนี้ไว้ใน กอช.จนอายุ 60 ปี ที่อัตราผลตอบแทนของการลงทุนเฉลี่ยเท่ากับ 2.5% ต่อปี จำนวนเงินสุดท้ายจะเป็น 613,385 บาท

ตัวอย่างที่ 3 แต่ถ้าเรามีอาชีพอิสระ ออมตั้งแต่อายุ 15 ปีจนถึงอายุ 60 ปี ปีละ 30,000 บาทต่อเนื่องทุกปีและรับเงินสมทบจากรัฐปีละ 1,800 บาท ที่อัตราผลตอบแทน 2.5% เมื่อเราอายุครบ 60 ปี เราจะมีเงินใน กอช. ทั้งหมด 2,592,213 บาท จากเงินของเราที่ใส่เข้าไปทั้งหมด 1,350,000 บาท

ที่มา : กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)

ที่มา : กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)

กอช.นำเงินไปลงทุนอะไร

กอช.นำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์หลายประเภท แต่โดยส่วนใหญ่จะลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ จากภาพด้านบน สัดส่วนการลงทุนในหุ้นสามัญ (ตราสารทุน) แค่ประมาณ 10% ที่เหลือเป็นการลงทุนในตราสารหนี้ ตราสารแสดงสิทธิในหนี้ของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ ตั๋วเงินคลังและพันธบัตรของรัฐแทบทั้งหมด

การออมในกอช.ยังได้รับการค้ำประกันผลตอบแทนจากการลงทุน ไม่ต่ำกว่าดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน เฉลี่ย 7 ธนาคาร ณ. วันที่สมาชิกอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์อีกด้วย

เงื่อนไขสมัคร

  1. มีสัญชาติไทย
  2. อายุ 15-60 ปี
  3. ไม่อยู่ในระบบสวัสดิการบำเหน็จบำนาญอื่นของรัฐ เช่น กบข. กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน กองทุนประกันสังคม ม.33, ม.39, ม.40 ทางเลือกที่ 2 และ 3 หรือพนักงานบริษัทที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
  4. ผู้ประกันตนมาตรา 40 ทางเลือกที่ 1

สิทธิพิเศษอีกอย่างหนึ่งของ กอช.คือ สามารถใช้ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ตามจริงสูงสุดถึง 30,000 บาทแต่เมื่อรวมกับประกันบำนาญและกองทุนรวมเพื่อการเกษียณ (RMF) สามารถใช้สิทธิได้ไม่เกิน 500,000 บาท

ออมใน กอช.เงินไม่หายไปไหน  เป้าหมายในการออมคือ เงินเพื่อใช้หลังเกษียณซึ่งจะได้รับในรูปแบบของบำเหน็จหรือบำนาญตามเงื่อนไขจำนวนเงินที่ออมได้ หากอยากรู้ประมาณการบำนาญก็สามารถคำนวณบำนาญได้จากแอพพลิเคชั่น กอช.และ LINE OFFICIAL กอช. (@nsf.th)

หากมีเหตุให้ไม่มีโอกาสอยู่รับบำนาญ ทั้งเงินสะสมและเงินสมทบจากรัฐรวมทั้งผลตอบแทนจากการลงทุนทั้งก้อนก็จะจ่ายให้กับทายาทที่ระบุเอาไว้กับ กอช. แล้วถ้าลาออกจากการเป็นสมาชิก กอช. ก่อนอายุ 60 ปี (ซึ่งไม่แนะนำ) ก็จะได้รับเฉพาะเงินสะสมและผลตอบแทนจากการลงทุนในส่วนของตัวเองกลับคืนมา แต่จะไม่ได้ส่วนเงินสมทบและผลตอบแทนจากการลงทุนในส่วนของรัฐมาด้วย

เช็คสิทธิ์และสมัครทำได้ง่ายมาก แค่บัตรประชาชนใบเดียว ทำได้จากโทรศัพท์มือถือที่เป็นสมาร์ทโฟน ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น กอช.แล้วเข้าแอพไปที่ตรวจสอบสิทธิ์ ใส่หมายเลขบัตรประชาชนและเบอร์โทรศัพท์ก็เช็คสิทธิ์การสมัครสมาชิกได้แล้ว หรือสอบถามผ่านไลน์ก็ได้ ที่ LINE OFFICIAL กอช. (@nsf.th) ถ้าไม่ถนัดออนไลน์ก็สามารถไปติดต่อหน่วยบริการสมาชิกใกล้บ้าน ที่ที่ว่าการอำเภอ สำนักงานคลังจังหวัด ธนาคารธกส. ออมสิน กรุงไทย อาคารสงเคราะห์(ธอส.) อิสลาม 7-11 เคาน์เตอร์เซอร์วิส สถาบันการเงินชุมชนที่เข้าร่วม และเครือข่ายรับสมัครทั่วประเทศ

การออมต่อเนื่องก็ทำได้ง่าย ๆ ในแอพพลิเคชั่น กอช. ผ่านพร้อมเพย์ กรุงไทยเน็กซ์ เป๋าตัง มายโม เคพลัส โลตัสและบุญเติม

ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th