logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ประกันภัย

Life Settlement อีกทางเลือก เสริมสภาพคล่องให้กับผู้เอาประกันชีวิต

โดย อิศรินทร์ เมืองแตง  ที่ปรึกษการเงิน AFPT™
ตำแหน่ง: Senior Investment Advisory Specialist
แผนก: Sales Distribution Enablement
ฝ่าย: CIO Office
ธนาคารไทยพาณิชย์ (จำกัด) มหาชน

เผยแพร่ ณ วันที่ 4 ต.ค. 2566

หากพูดถึงคำว่า “ประกันชีวิต” คงมีความเห็นไปในทางเดียวกันว่า เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ช่วยบริหารจัดการความเสี่ยงให้กับผู้เอาประกัน ในรูปแบบการถ่ายโอนความเสี่ยงมายังบริษัทประกัน และมีวงเงินความคุ้มครองที่ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ครอบครัวหรือคนข้างหลังในฐานะผู้รับผลประโยชน์ ในกรณีที่ผู้เอาประกันเสียชีวิตไปก่อนเวลาอันควร

และในมุมเดียวกัน ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต ถูกออกแบบมาเพื่อสร้างความคุ้มครองให้กับผู้เอาประกันในระยะเวลาที่ยาวนาน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้เอาประกันได้ว่า หากมีเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ผลประโยชน์ที่เกิดจากกรมธรรม์ประกันชีวิตหรือสินไหม จะสร้างความมั่นคงให้กับครอบครัวหรือผู้ที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของผู้เอาประกันตลอดอายุสัญญากรมธรรม์ได้อย่างแน่นอน

อย่างไรก็ดี ในอีกมุมประกันชีวิต เป็นผลิตภัณฑ์ ที่ให้ผลประโยชน์สูงสุดของแบบประกัน โดยอยู่ที่การทำตามเงื่อนไขของแบบประกันทั้งระยะเวลาการชำระเบี้ยและระยะเวลาถือครองตามที่กำหนด ด้วยระยะเวลาที่ยาวนานของสัญญา มีความยืดหยุ่นน้อยเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ทางการเงินอื่น ๆ เช่น การชำระเบี้ยที่ยาวนานเป็นค่าใช้จ่ายคงที่ในระยะยาว ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์ที่ทำวิถีชีวิตเกิดการเปลี่ยนแปลง มีผลให้สถานะทางการเงินเปลี่ยนแปลงไปในระยะยาว เช่น เปลี่ยนงาน ตกงาน ธุรกิจล้มละลาย ซึ่งทำให้กระแสเงินสดไม่เพียงพอในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ก็อาจส่งผลถึงความสามารถในการชำระเบี้ยประกันในช่วงเวลานั้นได้

ทั้งนี้ หากเกิดปัญหาเรื่องความสามารถในการชำระค่าเบี้ยประกันหรือมีกระแสเงินสดจ่ายไม่เพียงพอ ผู้เอาประกันมี “สิทธิ” ในการหยุดชำระค่าเบี้ยหรือเปลี่ยนแปลงกรมธรรม์เป็นเงินสด เพื่อหาทางเลือกในการแก้ไขหรือจัดการปัญหาทางการเงินของตนเอง ได้แก่

  1. สิทธิในการผ่อนผันการชำระเบี้ย สามารถยืดระยะเวลาชำระเบี้ยประกันได้อีก 1 เดือน โดยหากเสียชีวิตระหว่างนั้น บริษัทประกันยังจ่ายสินไหมทุนประกันให้กับผู้เอาประกันอยู่ (หักค่าใช้จ่ายคงค้าง)
  2. สิทธิในการชำระเบี้ยประกัน โดยสามารถเลือกปรับการชำระเบี้ยเป็นแบบราย 6 เดือน, ราย 3 เดือน , ราย 1 เดือน เพื่อลดปัญหากระแสเงินสดจ่ายก้อนใหญ่ในช่วงเวลานั้น
  3. สิทธิในการกู้กรรมธรรม์เพื่อชำระเบี้ย ในกรณีผู้เอาประกันไม่ต้องชำระค่าเบี้ย ทั้งนี้บริษัทประกันจะใช้มูลค่าเงินสดตามตารางกรมธรรม์ หากมูลค่าเงินสดเพียงพอ บริษัทประกันจะทำการกู้เงินจากกรมธรรม์ เพื่อนำไปจ่ายค่าเบี้ยทุกปี จนกว่ามูลค่าเงินสดจะไม่เหลือ
  4. สิทธิในการการเวนคืนกรมธรรม์ ถือว่าเป็นการสิ้นสุดสัญญา ไม่มีความคุ้มครองใดๆต่อไป ผู้เอาประกันไม่ต้องชำระเบี้ยอีกต่อไป บริษัทประกันจะจ่ายเงินคืนตามตารางมูลค่าเงินสดที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ หักด้วยค่าใช้จ่าย หนี้สินต่าง ๆ (ถ้ามี)
  5. สิทธิในการใช้มูลค่าเงินสำเร็จ โดยผู้เอาประกันไม่ต้องชำระค่าเบี้ยประกันต่อ แต่กรมธรรม์ยังมีระยะเวลาคุ้มครองเท่าเดิม โดยความคุ้มครองและเงินคืนเมื่อครบสัญญาอาจลดลง หรือผู้เอาประกันอาจได้เงินคืนทันทีเมื่อใช้สิทธิ ทั้งนี้ขึ้นกับตารางกรมธรรม์ระบุไว้ในส่วนของการใช้สิทธิมูลค่าเงินสำเร็จ
  6. สิทธิในการขยายระยะเวลา โดยผู้เอาประกันไม่ต้องชำระค่าเบี้ยประกันต่อ แต่กรรมธรรม์ยังมีทุนประกันความคุ้มครองอยู่เท่าเดิม แต่ระยะเวลาคุ้มครอง และเงินคืนเมื่อครบสัญญา อาจจะลดลงจากเดิม และผู้เอาประกันอาจได้เงินคืนทันทีเมื่อใช้สิทธิ ทั้งนี้ขึ้นกับตารางกรมธรรมืระบุไว้ในส่วนของการใช้สิทธิขยายระยะเวลา

ทั้งนี้ ในสิทธิข้อ (4) (5) และ (6) ที่เป็นทางเลือกของของลูกค้ามีสิ่งที่คล้ายกัน คือ ลูกค้าไม่ต้องชำระค่าเบี้ยต่อ และได้เงินคืนทันทีจำนวนหนึ่ง (ถ้ามี) หากแต่โดยหลักการ ประกันชีวิตในแต่ละแบบจะให้ผลประโยชน์ผลตอบแทนได้สูงสุด หากมีการชำระเบี้ยประกันครบ และอยู่ครบสัญญาตามปีที่กำหนด

ด้วยเหตุนี้จึงมีอีกหนึ่งทางเลือกที่กรมธรรม์จะอยู่ครบสัญญาตามกำหนดเพื่อรับผลประโยชน์สูงสุด และจะแก้ปัญหาสภาพคล่องให้กับผู้เอาประกัน โดย ผู้เอาประกันไม่ต้องชำระค่าเบี้ยประกันอีกต่อไป และได้เงินคืนที่มากกว่าการใช้สิทธิต่าง ๆ กระบวนการนั้น คือ Life Settlement

Life Settlement คือ ธุรกรรมทางการเงินประเภทหนึ่งที่ช่วยเพิ่มทางเลือกให้กับผู้เอาประกันในการ “ขาย” กรมธรรม์ประกันชีวิตให้กับตัวกลางทางการเงิน ด้วยการ “ขาย” กรมธรรม์ของตนเองให้กับบริษัทที่รับซื้อขายกรมธรรม์ประกันชีวิต บริษัทรับซื้อขายกรมธรรม์จะรับซื้อในกรณีที่ผู้เอาประกันไม่มีความสามารถที่จะชำระค่าเบี้ยประกันได้อีกต่อไป และ/หรือ มีความจำเป็นต้องใช้เงินในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่

โดยกระบวนการ Life Settlement จะเกิดขึ้นเมื่อผู้เอาประกันหรือเจ้าของกรมธรรม์ ขายกรมธรรม์ให้กับบริษัทตัวกลางที่รับซื้อขายกรมธรรม์ มูลค่าที่บริษัทรับซื้อจะสูงกว่ามูลค่าเงินเวนคืนกรมธรรม์ แต่จะต่ำกว่าผลประโยชน์ที่ได้รับจากกรมธรรม์

ทั้งนี้ มูลค่าจากการรับซื้อขายกรมธรรม์ คำนวณจากการคิดลดกระแสเงินสดจ่าย(ค่าเบี้ยประกัน) และกระแสเงินสดรับ (เงินคืน/สินไหม) ของบริษัทรับซื้อในอนาคต ปรับด้วยประวัติสุขภาพของผู้เอาประกันและอัตราคิดลดที่คำนึงถึงความเสี่ยงที่บริษัทจะได้รับ

เมื่อบริษัทรับซื้อกรมธรรม์มาแล้ว บริษัทจะกลายเป็นผู้รับผลประโยชน์ แทนบุคคลเดิม และบริษัทที่รับซื้อจะรับภาระในการชำระค่าเบี้ยประกันแทนผู้เอาประกันหรือเจ้าของกรมธรรม์เดิม ให้แก่บริษัทประกันชีวิตที่เป็นคู่สัญญาจนกว่ากรมธรรม์จะครบกำหนด หรือผู้เอาประกันเสียชีวิต

ซึ่งบริษัทที่รับซื้อกรมธรรม์ จะรับสินไหม เงินคืนต่าง ๆ เป็นผลประโยชน์ในการดำเนินกิจการ

Life Settlement ส่วนใหญ่จะทำธุรกรรมในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีกฎหมายคุ้มครองการซื้อขายกรมธรรม์ครอบคลุม 43 รัฐหรือคิดเป็น 90% ของรัฐทั้งหมด และนับแต่มีกฎหมายคุ้มครองการซื้อขายกรมธรรม์อย่างถูกต้อง มีผู้สนใจขายกรมธรรม์ และผู้ลงทุนในธุรกิจนี้เพิ่มขึ้นทุกปี

ดังนั้น  Life Settlement จึงเป็นทางเลือกในการเสริมสภาพคล่องให้กับผู้เอาประกันที่ไม่สามารถชำระเบี้ยปีต่อได้, ต้องการเงินก้อนที่มากกว่าการใช้สิทธิเวนคืนกรมธรรม์ และไม่ต้องการความคุ้มครองแล้ว

สำหรับในประเทศไทย Life Settlement ถือเป็นเรื่องใหม่ ยังไม่มีกฎหมายที่รองรับในเรื่องนี้ และอาจกระทบกับหลักการ “ผู้มีส่วนได้เสีย” ทำให้การออกกฎหมายคุ้มครองการซื้อขายกรมธรรม์มีระยะเวลาที่ยาวนานออกไป

และหากผู้อ่านท่านใดสนใจเรื่องบริษัทที่รับซื้อขายกรมธรรม์จะดำเนินการต่อไปอย่างไร หรือสนใจลงทุนในบริษัทที่รับซื้อขายกรมธรรม์ ตลอดถึงต้องการทราบผลตอบแทน และความเสี่ยงจากการลงทุนใน Life Settlement ผู้เขียนจะขอนำเสนอในส่วนของการลงทุนในลำดับถัดไป

ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th