บทความ: ประกันภัย
มีห่วง อยากทำประกัน แบบไหนถึงจะเหมาะกับเรา
โดย จิญาดา พฤกษาชลวิทย์ นักวางแผนการเงิน CFP®
COO & Financial Planner
SIAM WEALTH MANAGEMENT
เผยแพร่ ณ วันที่ 27 ก.ย. 2566
ถ้าตอนนี้เราคือ ผู้ที่มีคุณค่าสำหรับคนรอบข้าง หากขาดเราไปย่อมส่งผลกระทบเชิงลบ ถ้าเป็นแบบนี้เราสมควรวางแผนประกันชีวิต แต่ก่อนเลือกแบบประกันชีวิตต้องมี 4 รู้ก่อน
รู้เป้าหมาย
“ควรมีทุนประกันชีวิตเท่าไหร่” ซึ่งวิธีการคำนวนอาจมีหลากหลายแนวคิด จะเลือกใช้แนวคิดไหนก็ได้ แต่อยากให้กำหนดเป็นช่วงขั้นต่ำและขั้นสูง เพื่อที่จะได้สามารถมาช่วยจัดสมดุลให้เหมาะสมกับความสามารถในการชำระเบี้ย
ตัวอย่าง นายอบอุ่น อายุ 35 ปี มีรายได้เดือนละ 100,000 บาท มีลูกชาย 1 คน อายุ 1ปี หากวันนี้นายอบอุ่นเกิดเสียชีวิต อยากให้มีเงินให้กับครอบครัวเหมือนกับตอนที่นายอบอุ่นยังมีชีวิตอยู่จนกว่าลูกชายจะบรรลุนิติภาวะ (อายุ 20ปีบริบูรณ์) ดังนั้นแนะนำทุนประกันที่ควรมี เท่ากับ 100,000บาท x 12 เดือน x 20 ปี = 24 ล้านบาท (แต่ถ้าหากมีอัตราการเพิ่มของเงินเดือนปีละ 4% ทุนประกันที่ควรมีจะเท่ากับ 35.7ล้านบาท) แต่ถ้ามองมุมค่าใช้จ่ายของครอบครัว ใช้เดือนละ 40,000 บาท และค่าเทอมลูกปีละ 80,000บาท ทุนประกันชีวิตที่ควรมี เท่ากับ 40,000 บาท x 12 เดือน บวกกับ 80,000บาท ทั้งหมด x 20 ปี = 11.2 ล้านบาท (แต่หากมีอัตราเงินเฟ้อ 3% ทุนประกันที่ควรมีจะเท่ากับ 15 ล้านบาท)
จากตัวอย่าง เป้าหมายทุนประกันที่ควรมีจะอยู่ระหว่าง 11.2 ล้านบาท ถึง 35.7 ล้านบาท
รู้ปัจจุบัน
รวบรวมข้อมูลการเงินในปัจจุบัน โดยอาจจะแบ่งง่าย ๆ เป็น 4 ส่วน
ส่วนแรก คือ สินทรัพย์ที่ไม่ต้องการเปลี่ยนเป็นเงินสดเพื่อใช้จ่ายได้ เช่น บ้านที่อยู่ปัจจุบัน
ส่วนสอง คือ สินทรัพย์ที่เปลี่ยนเป็นเงินสดได้ แต่ต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน เช่น คอนโดปล่อยเช่า ที่ดินเก็งกำไร
ส่วนสาม คือ สินทรัพย์ที่เปลี่ยนเป็นเงินสดได้ง่าย เช่น เงินฝากในธนาคาร กองทุนรวม หุ้นในตลาดหลักทรัพย์
ส่วนสี่ คือ ทุนประกันชีวิตในกรมธรรม์ประกันชีวิต
ซึ่งให้รวมจำนวนเงินส่วนที่ 3 และ 4 เพื่อจะได้รู้จำนวนเงินที่ครอบครัวสามารถนำมาใช้ได้หากคุณเสียชีวิต เช่น นายอบอุ่น มีกองทุน SSF และ RMF รวม 2 ล้านบาท มีทุนประกันชีวิต 1 ล้านบาท แสดงว่านายอบอุ่นเตรียมไว้ 3 ล้านบาท
รู้สภาพคล่อง
ดูความสามารถในการชำระเบี้ยประกัน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกแบบประกันที่เหมาะสม เพราะถึงแม้จะทำทุนประกันให้เพียงพอแต่ไม่มีความสามารถในการชำระเบี้ยก็จะทำให้แผนการเงินในปัจจุบันไม่ประสบความสำเร็จ
ตัวอย่าง นายอบอุ่น รายได้ปัจจุบัน 100,000 บาท ใช้จ่ายเดือนละ 40,000 บาท ถูกหักภาษีเดือนละ 5,000 บาท เก็บออมเพื่อยามเกษียณเดือนละ 25,000 บาท มีกระแสเงินสดคงเหลือ 100,000 – 40,000 – 5,000 – 25,000 = 30,000 บาทต่อเดือน หรือ 360,000 บาทต่อปี
รู้แบบประกัน
แบบประกันมีทั้งหมด 4+1 ประเภท
ประเภท |
จุดเด่น |
ข้อจำกัด |
ชั่วระยะเวลา Term |
เบี้ยถูกที่สุดเมื่อเทียบกับทุน |
เป็นเบี้ยทิ้ง กรณีครบสัญญาไม่มีเงินคืน |
ตลอดชีพ Whole Life |
เบี้ยคงที่ ความคุ้มครองคงที่ |
ปรับลดทุนประกันไม่ได้ |
สะสมทรัพย์ |
ความคุ้มครองเพิ่มขึ้นตามเบี้ยสะสมที่จ่าย เหมาะสมกับการเก็บเงินไปพร้อมกับการสร้างความคุ้มครอง |
เบี้ยสูงเมื่อเทียบกับทุน |
บำนาญ |
ความคุ้มครองเพิ่มขึ้นตามเบี้ยสะสมที่จ่าย |
เบี้ยสูงเมื่อเทียบกับทุน |
ควบการลงทุน Unit Link |
มีช่วงเบี้ยให้เลือกจ่ายได้ ทุนประกันสามารถปรับลดระหว่างทางได้ |
ลดหย่อนภาษีไม่ได้ทั้งจำนวนเบี้ยที่จ่าย ได้เพียงส่วนที่หักค่าใช้จ่าย |
เมื่อมี 4 รู้แล้ว ก็ถึงเวลามาเลือกแบบประกันที่เหมาะสมกับโจทย์
ตัวอย่าง กรณีคุณอบอุ่น
รู้เป้าหมาย: ทุนประกันที่ควรมี อยู่ระหว่าง 11.2 ล้านบาท - 35.7 ล้านบาท
รู้ปัจจุบัน: เตรียมไว้แล้ว 3 ล้านบาท (ทุนประกัน 1 ล้านบาท + กองทุนภาษี 2 ล้านบาท)
ดังนั้น ยังขาดทุนประกันในช่วง 8.2 ล้านบาท - 32.7ล้านบาท
รู้สภาพคล่อง: กระแสเงินสดคงเหลือ 360,000 บาทต่อปี
จากนั้นมาเลือกแบบประกันที่มีความเหมาะสม โดยคุณอบอุ่น เพศชาย อายุ 35 ปี ความคุ้มครองอย่างน้อย คือ 20 ปี
แบบประกันที่มีระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป และเลือกที่ชำระเบี้ย 20 ปี
ประเภท |
เบี้ยต่อทุน 10ล้านบาท (บาทต่อปี) |
เหตุผลสนับสนุนในการเลือก |
ชั่วระยะเวลา Term |
70,000 |
ถ้าอยากให้มีทุนประกันที่สูงถึง 32.7ล้านบาท บนงบประมาณไม่เกิน 360,000 บาท แบบนี้น่าจะเหมาะสมที่สุด |
ตลอดชีพ Whole Life |
230,000 |
ถ้าไม่อยากจ่ายเป็นเบี้ยทิ้ง และสามารถส่งต่อเป็นแผนมรดกให้ลูกได้ต่อ โดยให้ความคุ้มครองอยู่ประมาณ 15 ล้านบาท ซึ่งพอครอบคลุมกับค่าใช้จ่ายที่สำคัญในครอบครัว แบบนี้น่าสนใจที่สุด |
สะสมทรัพย์ |
1,600,000 |
แบบนี้อาจจะไม่ตอบโจทย์ในการเน้นการทำทุนประกันเท่าไหร่ เพราะงบประมาณในการจ่ายเบี้ยสูงเกินความสามารถในการชำระเบี้ย |
บำนาญ |
- |
|
ควบการลงทุน Unit Link |
85,000 – 200,000 |
ถ้าอยากได้ทุนประกันที่สูง และสามารถปรับลดทุนประกันลงได้ระหว่างทางเนื่องจากความจำเป็นลดลงเช่นกัน รวมถึงเบี้ยประกันไม่ใช่เป็นเบี้ยทิ้งทั้งก้อน เพราะมีบางส่วนนำไปลงทุนด้วย แบบนี้ก็น่าจะครบเครื่องที่สุด |
นี่คือเหตุผลที่ทำไมประกันถึงมีหลากหลายแบบ เพราะโจทย์ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน มุมมองและความชอบต่อประกันที่ไม่เท่ากัน และมีปัจจัยสนับสนุนที่แตกต่างเช่นกันอีกด้วย ดังนั้น ก่อนที่จะเลือกทำประกันอยากให้ตั้งวัตถุประสงค์ของประกันเล่มนั้น ๆ อย่างชัดเจน เพราะพิจารณาความสามารถในการชำระเบี้ยด้วย เพราะการวางแผนการเงินที่ดี คือ การรักษาสมดุลให้เหมาะสมทั้งปัจจุบันและอนาคต พร้อมป้องกันความเสี่ยงหรือพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันอีกด้วย
ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th