บทความ: เกษียณ
แผนเกษียณฉบับฉุกเฉิน
โดย มัณทิวา จันทร์แต่งผล ที่ปรึกษาการเงิน AFPTTM
เผยแพร่ ณ วันที่ 24 ก.ย. 2566
การวางแผนเพื่อการเกษียณอายุโดยทั่วไป เป็นการวางแผนที่มักจะต้องใช้เวลาจัดทำล่วงหน้าก่อนถึงวันเกษียณเป็นระยะเวลาค่อนข้างยาวนาน อย่างน้อย 10-20 ปี และติดตามผลอย่างสม่ำเสมอ หากเปรียบเทียบแผนเกษียณกับเกมกีฬา ก็คงเปรียบได้กับการวิ่งมาราธอน แต่บางครั้งการวิ่งมาราธอนก็อาจกลายเป็นการวิ่ง 400 เมตร ที่ต้องเร่งฝีเท้าเข้าเส้นชัยในโค้งสุดท้ายได้ ถ้ามีสถานการณ์ไม่ปกติบางอย่างเกิดขึ้น
เมื่อสังเกตดูในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา หากวางแผนเกษียณอยู่อาจต้องการปรับแผนเกษียณให้เร็วขึ้น อาจเป็นการปรับโดยลดค่าใช้จ่ายด้านเบี้ยประกันภัยลง ลดเงินลงทุน หรือวางแผนประหยัดภาษีเนื่องจากมีเงินก้อนที่ได้มาด้วยการออกจากงาน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการแพร่ระบาด COVID-19 ที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปทั่วโลกทั้งในด้านการลงทุน และในภาคเศรษฐกิจ หลายบริษัทต้องปิดกิจการลง แม้ว่าบางบริษัทจะยังคงอยู่รอดแต่ก็ได้รับผลกระทบทางอ้อม กล่าวคือ COVID-19 เป็นตัวเร่งให้บริษัทหลายแห่งต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน หรือแม้กระทั่งต้องสร้าง Business Model ใหม่ ๆ การใช้นวัตกรรมที่เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทดแทนคน ทำให้ตำแหน่งงานบางอย่างมีความจำเป็นน้อยลง ส่งผลให้คนจำนวนมากว่างงาน สำนักงานประกันสังคมได้รวบรวมข้อมูลจำนวนผู้ว่างงานของไทย ตั้งแต่ปี 2563 ถึงเดือน มิถุนายน 2566 โดยเดือนมิถุนายน 2566 มีผู้ว่างงานจำนวน 250,010 คน อัตราการว่างงานในระบบประกันสังคม อยู่ที่ร้อยละ 2.09 มีผู้ประกันตนที่ขอรับประโยชน์ ทดแทนกรณีว่างงานจากสาเหตุเลิกจ้างจากสำนักงานประกันสังคมจำนวน 35,020 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.18 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา (1)
สถานการณ์การว่างงาน อาจเกิดขึ้นได้กับใครก็ได้ไม่ว่าจะเป็น เพื่อนฝูง สมาชิกในครอบครัว หรือแม้แต่ตัวเราเองก็อาจเป็นคนหนึ่งที่ถูกให้ออกจากงานอย่างกะทันหัน ดังนั้น จะทำอย่างไรหากต้องกลายเป็นผู้เกษียณโดยไม่ทันตั้งตัว ในขณะที่ยังมีความจำเป็นต้องหารายได้จากการทำงานเพื่อเลี้ยงชีพ อีกทั้งยังไม่เคยมีการวางแผนเกษียณไว้ก่อนล่วงหน้า บทความนี้จึงได้รวบรวมข้อแนะนำมาให้ลองนำไปพิจารณาดูว่าควรทำอย่างไรและจะทำอะไรได้บ้างเพื่อให้บรรลุแผนการเกษียณได้อย่างราบรื่น
เริ่มต้นที่การตั้งสติ พยายามคิดว่าทุกปัญหามีทางออก แล้วตรวจสอบสถานะทางการเงินปัจจุบันว่ามีแหล่งเงินสดสำรองอยู่ที่ใดบ้าง และเพียงพอเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและรองรับภาระค่าใช้จ่ายคงที่ไปได้อีกนานเท่าใด เช่น กรณีผู้ออกจากงานเป็นลูกจ้างประจำบริษัทเอกชน มีรายได้จากเงินเดือน เพียงอย่างเดียว หากไม่ได้มีการออมเงินไว้เพื่อเป็นเงินสำรองฉุกเฉินขั้นต่ำที่ 6-12 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน แหล่งเงินสำรองที่ควรนึกถึงเป็นอันดับแรกคือ
1. ประกันสังคม ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม มาตรา 33 ที่ลูกจ้างจ่ายสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม เดือนละ 750 บาท (5%ของเงินเดือน ซึ่งปัจจุบันใช้ฐานเงินเดือนที่ 15,000 บาท) มีสิทธิได้รับเงินทดแทนการว่างงานในอัตราตามที่กำหนดในแต่ละกรณีดังนี้
1.1) กรณีถูกเลิกจ้างจะได้รับเงินทดแทนการว่างงานร้อยละ 50 ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 180 วันโดยคำนวณจากฐานเงินสมทบเฉลี่ยและฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท (เป็นเงินไม่เกิน 7,500 บาท)
1.2) กรณีลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างจะได้รับเงินทดแทนการว่างงานร้อยละ 30 ของค่าจ้างเฉลี่ย ครั้งละไม่เกิน 90 วันโดยคำนวณจากฐานเงินสมทบเฉลี่ยและฐานเงินสมทบสูงสุด 15,000 บาท
ทั้งนี้ มีเงื่อนไขว่าผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่ต่ำกว่า 6 เดือนภายในระยะเวลา15 เดือนก่อนว่างงานจึงจะได้รับสิทธิดังกล่าว วิธีการในการขอรับเงินทดแทนจากประกันสังคม ท่านสามารถศึกษารายละเอียดได้จากเว็บไซต์ของสำนักงานประกันสังคม (2)
2. เงินชดเชยกรณีให้ออกจากงาน ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ฉบับที่ 7 พ.ศ.2562
2.1) สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า (ค่าตกใจ) หากลูกจ้างถูกนายจ้างเลิกจ้างกรณี เลิกจ้างทั่วไป นายจ้างจะต้องแจ้งการเลิกจ้างล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างน้อย 30 วัน หากไม่แจ้งต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 1 งวดของการจ่ายค่าจ้างถ้าได้จ่ายเป็นราย 30 วัน (หรือจ่ายเงินให้เท่ากับเงินเดือน 1 เดือน)
2.2) เงินชดเชยที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง นอกเหนือจากเงินประเภทอื่นซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง โดยพิจารณาอัตราค่าชดเชยตามอายุงานของลูกจ้าง ซึ่งได้ทำงานครบ 120 วันเป็นอย่างน้อย ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชย หากนายจ้างเลิกจ้างโดยลูกจ้างไม่มีความผิด ดังนี้
ระยะเวลาทำงานของลูกจ้าง |
ได้รับค่าชดเชยเท่ากับ.. |
ติดต่อกันครบ120วัน แต่ ไม่ครบ 1 ปี |
ค่าจ้างสุดท้าย 30 วัน |
ติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี |
ค่าจ้างสุดท้าย 90 วัน |
ติดต่อกันครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี |
ค่าจ้างสุดท้าย180 วัน |
ติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ10ปี |
ค่าจ้างสุดท้าย 240 วัน |
ติดต่อกันครบ 10ปี แต่ไม่ครบ20ปี |
ค่าจ้างสุดท้าย 300 วัน |
ติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไป |
ค่าจ้างสุดท้าย 400 วัน |
ลำดับต่อมา ควรตรวจสอบหนี้สินและภาระผูกพันทางการเงินต่าง ๆ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายคงที่ อาทิ เงินผ่อนชำระหนี้บ้าน รถ หรือทรัพย์สินต่าง ๆ ที่ต้องชำระในระยะเวลา 1 ปีข้างหน้า หากไม่เคยจดบันทึกค่าใช้จ่ายหรือทำสรุปรายรับ-รายจ่ายมาก่อน แนะนำให้ท่านทดลองทำ โดยแยกหมวดหมู่ของค่าใช้จ่ายคงที่และค่าใช้จ่ายผันแปรให้ชัดเจนเพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการ
หลังจากสำรวจเงินสำรองฉุกเฉิน ตรวจสอบภาระทางการเงินแล้วขั้นตอนต่อมาคือรวบรวมแหล่งรายได้หลังเกษียณ สำหรับกรณีลูกจ้างบริษัทเอกชน แหล่งรายได้เพื่อใช้ในยามเกษียณที่สำคัญ ได้แก่
1. บำนาญชราภาพ /บำเหน็จชราภาพ ประกันสังคม
- กรณีที่ได้จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 180 เดือน และอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์แล้ว มีสิทธิได้รับบำนาญชราภาพตามอัตราที่กำหนด กล่าวคือ ส่งครบ180 เดือน จะได้รับบำนาญร้อยละ20 ของฐานเงินสมทบ15,000บาท หากส่งมากกว่า180 เดือน จะได้รับเพิ่มอีกร้อยละ1.5 ต่อปี
- กรณีจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเป็นเวลาไม่ถึง 180 เดือน แต่เกิน12เดือน มีสิทธิได้รับบำเหน็จ
2. เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) หากได้เข้าเป็นสมาชิกกองทุนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่นายจ้างได้จัดตั้ง มีอายุงานไม่น้อยกว่า 5 ปี เป็นสมาชิกกองทุนไม่ต่ำกว่า 5 ปี และอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ เมื่อออกจากการเป็นสมาชิกกองทุนด้วยเหตุเกษียณจากงาน เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ แต่หากไม่ครบเงื่อนไข บางข้ออาจจะมีผลให้ไม่ได้รับยกเว้นภาษี ดังนั้นผู้ที่ถูกเลิกจ้างควรศึกษาเรื่องเงินกองทุนPVDส่วนของนายจ้างที่จะได้รับ และศึกษาข้อบังคับกองทุนของแต่ละบริษัทเพิ่มเติมด้วย
3. แหล่งเงินออมภาคสมัครใจอื่น ๆ อาทิเช่น กองทุน RMF, SSF, กองทุน LTF ที่ใกล้ครบกำหนดขายคืน เงินฝากธนาคาร ประกันออมทรัพย์ ประกันแบบบำนาญ และสินทรัพย์ลงทุนอื่น ๆ
ขั้นตอนสุดท้ายหลังจากรวบรวมข้อมูลเรียบร้อยแล้ว คือการคำนวณเงินกองทุนเกษียณที่ต้องการ เปรียบเทียบกับแหล่งเงินเพื่อการเกษียณที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้ทราบว่าท่านสามารถบรรลุเป้าหมายการเกษียณได้หรือไม่
ตัวอย่าง
คุณบี เพศหญิง อายุ 52 ปี ทำงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งมา 23 ปีก่อนจะถูกเลิกจ้างมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นสมาชิกกองทุนมา 5 ปี
1) เนื่องจากคุณบี มีภาระเงินกู้ที่อยู่อาศัยคงค้างอยู่จำนวนไม่มาก เพื่อขจัดความกังวลเกี่ยวกับภาระหนี้ในระหว่างที่ยังว่างงาน และไม่มีรายได้ประจำ ให้นำเงินค่าชดเชยกรณีให้ออกจากงานไปปิดหนี้เงินกู้ที่อยู่อาศัย โดยใช้เงินชดเชยตามกฎหมายกรณีออกจากงาน หลังจากชำระหนี้เสร็จสิ้นจะเหลือเงินอีกก้อนหนึ่ง เพื่อนำไปใช้วางแผนเกษียณต่อได้ และสามารถตัดค่าใช้จ่ายคงที่จากค่าผ่อนชำระหนี้บ้านที่หมดภาระไป
2) ขอรับเงินทดแทนกรณีว่างงาน จากประกันสังคม ซึ่งจะได้รับเงินทดแทนเดือนละ 7,500 บาท เป็นเวลาไม่เกิน 6เดือน ตามรายละเอียดในข้อ 1.1.1) สำหรับวิธีการและขั้นตอนอ่านรายละเอียดได้จากเว็บไซต์ของสำนักงานประกันสังคม และในระหว่างที่รอหางานใหม่ ให้ใช้เงินทดแทนเป็นเงินหมุนเวียนใช้จ่าย นอกจากเงินทดแทนจากประกันสังคม คุณบี คาดว่าสามารถรับงานอิสระได้ ครอบคลุมค่าใช้จ่ายส่วนที่ขาดไป หากไม่เพียงพอส่วนที่ขาดสามารถถอนจากเงินส่วนที่เหลือจากก้อนแรกได้ไม่เกินเดือนละ 13,000 บาท
3) ให้คุณบี โอนเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปเข้า RMF for PVD จนถึงอายุครบ 55ปีบริบูรณ์ เพื่อไม่ให้เงินส่วนนี้ต้องนำมาเสียภาษี และได้ลงทุนต่อเนื่องใน RMF for PVD ซึ่งมีนโยบายการลงทุนให้เลือกหลากหลายมากกว่า กองทุน PVD หรือคงเงินไว้ที่กองทุนเดิมจนครบกำหนดขายได้ จึงขายออกมาและนำเงินไปลงทุนต่อ
4) สำหรับประกันสังคม คุณบี ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนมานานเกิน 180 เดือนแล้ว จึงมีสิทธิรับบำนาญชราภาพเมื่ออายุ 55 ปีบริบูรณ์ กรณีไม่สามารถหางานประจำใหม่ได้ ไม่ควรไปเปลี่ยนจากผู้ประกันตนมาตรา 33 เป็นมาตรา 39 เนื่องจากจะทำให้ฐานเงินเดือน 5 ปีสุดท้ายที่ใช้คำนวณบำนาญลดลง จึงควรหยุดส่งเงินสมทบและรอรับบำนาญเมื่ออายุ 55 ปีบริบูรณ์
จากการคำนวณเงินกองทุนเกษียณที่ต้องมี เปรียบเทียบกับแหล่งเงินเพื่อเกษียณที่มีอยู่ พบว่าคุณบี ไม่สามารถเกษียณได้ในขณะนี้ แนะนำว่าควรขยายเวลาเกษียณและทำงานต่อไปอีก10 ปี และอาจขอคำปรึกษาเพิ่มเติมจากนักวางแผนการเงินเพื่อจัดทำการวางแผนออมเงินและลงทุนอย่างละเอียดจนบรรลุเป้าหมายการเกษียณได้ในที่สุดต่อไป
ที่มาของข้อมูล
- https://prachatai.com/journal/
- https://live.staticflickr.com/65535/53067663591_566630da64_o_d.png
- สำนักงานประกันสังคม https://www.sso.go.th
ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th