บทความ: ลงทุน
มี PVD แล้ว ควรลงทุน RMF หรือไม่
โดย จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์ ที่ปรึกษาการเงิน AFPTTM
เผยแพร่ ณ วันที่ 10 ก.ย. 2566
การเก็บออมเงิน เพื่อให้เพียงพอใช้หลังเกษียณอายุ ถือเป็นเป้าหมายสำคัญที่ทุกคนควรให้ความสำคัญตั้งแต่เริ่มต้นทำงานหาเงินได้ ยิ่งรู้ตัวเร็วเท่าไหร่ ยิ่งมีโอกาสเก็บเงินได้ถึงเป้าหมายที่ตั้งใจไว้เร็วขึ้นเท่านั้น และถ้าเป็นหนึ่งในผู้โชคดีที่ได้ทำงานในบริษัทที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund : PVD) ให้พนักงาน ก็โล่งใจได้ว่าจะมีเงินออมส่วนหนึ่งไว้ใช้ยามเกษียณแน่นอน หากลงทุนอย่างต่อเนื่อง และไม่ได้นำเงินนี้ออกมาใช้ก่อนเกษียณ แถมระหว่างที่สะสมเงินเข้ากองทุนนี้ ก็สามารถลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม กรณีบริษัทที่ไม่มี PVD ก็ยังมีกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund : RMF) เป็นอีกทางเลือกที่จะช่วยให้ออมเงินเพื่อใช้หลังเกษียณได้ แถมยังได้นำเงินลงทุนมาลดหย่อนภาษีในปีที่ลงทุนด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม มีคำถามว่าถ้ามี PVD อยู่แล้ว จำเป็นหรือไม่ควรต้องลงทุน RMF ควบคู่ไปด้วย
คำตอบ คือ ควรลงทุนเพิ่มเติมใน RMF เพราะจะช่วยให้เตรียมเงินไว้ใช้หลังเกษียณได้ตามเป้าหมายรวดเร็วขึ้น แถมยังได้ใช้ประโยชน์จากการลดหย่อนภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
ทั้งนี้ ขอแบ่งคำแนะนำสำหรับมนุษย์เงินเดือนที่มี PVD แล้วกำลังสนใจจะลงทุนใน RMF ดังนี้
1.ลงทุน PVD รวมทั้งปีถึง 500,000 บาท
กรณีนี้ ไม่ควรลงทุนใน RMF รวมถึงกองทุนรวมเพื่อการออม (Super Savings Fund : SSF) เพิ่มเติม เนื่องจากเงื่อนไขการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากการลงทุน กำหนดเอาไว้ว่า เมื่อรวมการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเกษียณ และประกันชีวิตแบบบำนาญแล้วจะลดหย่อนได้ไม่เกิน 500,000 บาท
ดังนั้น หากลงทุนใน PVD อย่างเดียวก็เต็มสิทธิลดหย่อนภาษี ก็ไม่ควรลงทุนใน RMF/SSF เพราะหากเผลอไปลงทุนเกินสิทธิลดหย่อนก็จะเป็นเรื่องยุ่งยาก นอกจากไม่ได้ลดหย่อนภาษีแล้ว ยังต้องนำเงินที่ลงทุนเกินสิทธิไปเสียภาษีกำไรส่วนเกิน (Captial Gain Tax) กรณีที่ขาย RMF/SSF แล้วมีกำไรด้วย
ขอแนะนำว่า ถ้าคำนวณเงิน PVD ที่นำส่งทั้งปีแล้วถึง 500,000 บาท ให้นำเงินที่อยากจะลงทุนเพิ่ม ไปลงทุนผ่านสินทรัพย์อื่น ๆ เช่น กองทุนรวมทั่วไป
เงื่อนไขการลดหย่อนภาษีกลุ่มการลงทุน |
||
|
% ของเงินได้ |
จำนวนเงินสูงสุดที่ลดหย่อนได้ |
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) |
15% |
ไม่เกิน 500,000 บาท |
กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) |
30% |
ไม่เกิน 500,000 บาท |
กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) |
30% |
ไม่เกิน 200,000 บาท |
กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) |
30% |
ไม่เกิน 500,000 บาท |
กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน |
15% |
ไม่เกิน 500,000 บาท |
กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) |
|
ไม่เกิน 30,000 บาท |
เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ |
15% |
ไม่เกิน 200,000 บาท |
รวมทุกประเภท |
ไม่เกิน 500,000 บาท |
2.ลงทุน PVD 15% ของเงินได้ แต่ไม่ถึง 500,000 บาท และมีเงินลงทุนเพิ่ม
กรณีนี้ สามารถลงทุนใน RMF เพิ่มเติมได้ ตามจำนวนเงินที่พร้อมลงทุน แต่ไม่เกินสิทธิที่ยังคงเหลืออยู่ เมื่อหักเงินลงทุนใน PVD ไปแล้ว
ตัวอย่าง
นายเก็บออม ลงทุนใน PVD 15% ของเงินได้ = 30,000 บาท/เดือน
เงินใน PVD ทั้งปี = 360,000 บาท
ดังนั้น ลงทุนเพิ่มใน RMF ทั้งปี = ไม่เกิน 140,000 บาท
3.ลงทุน PVD ไม่ถึง 15% ของเงินได้ และไม่ถึง 500,000 บาท และมีเงินลงทุนเพิ่ม
PVD มีนโยบายการลงทุนให้เลือกหลากหลาย ตอบโจทย์ความต้องการอยู่แล้ว
หากเป็นเช่นนี้ ควรเลือกลงทุนใน PVD ให้เต็มสิทธิไปก่อน เพราะจำนวนเงินลงทุนที่มากขึ้นบวกกับนโยบายการลงทุนที่หลากหลาย ค่าธรรมเนียมที่ค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับ RMF จะช่วยให้เงินลงทุนทำงานเพิ่มมูลค่าได้มีประสิทธิภาพขึ้น อีกทั้ง การลงทุนใน PVD บริษัทจะหักเงินลงทุนโดยอัตโนมัติทันทีที่เงินเดือนออก จึงช่วยให้สามารถออมก่อนจ่ายได้เป็นอย่างดี ส่วนในอนาคตหากลงทุนถึง 15% ของเงินได้ แต่ไม่ถึง 500,000 บาท ก็สามารถลงทุน RMF เพิ่มเติม
PVD มีนโยบายการลงทุนให้เลือกน้อย ไม่ตอบโจทย์ความต้องการ
หากเป็นเช่นนี้ แนะนำให้คงสัดส่วนการลงทุนใน PVD ไว้ตามเดิม แล้วนำเงินส่วนที่เหลือไปลงทุน RMF ที่มีนโยบายลงทุนเหมาะกับตัวเอง โดยต้องไม่ลืมคำนึงถึงเงื่อนไขการลงทุนที่กำหนดไว้ว่าลงทุนใน RMF ได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้ และรวมกับกองทุนลดหย่อนภาษีทุกประเภทแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
ดังนั้น หากลงทุน PDV และต้องการลงทุน RMF ควบคู่ นอกเหนือจากการคำนึงเรื่องจำนวนเงินลงทุนแล้ว ควรพิจารณา การจัดพอร์ตลงทุนเพื่อการเกษียณแบบองค์รวม ที่คำนึงถึงเงินลงทุนแบบครอบคลุมทั้ง PVD และ RMF โดยเน้นกระจายเงินลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภท และสอดคล้องกับระดับความเสี่ยงที่ตนเองยอมรับได้
เช่น ถ้านโยบายลงทุนใน PVD มีให้เลือกน้อย และส่วนใหญ่เป็นการลงทุนความเสี่ยงต่ำ ที่มีโอกาสให้ผลตอบแทนต่ำในระยะยาว แต่ผู้ลงทุนสามารถรับความเสี่ยงได้สูง อาจจะพิจารณาไปเลือกลงทุนใน RMF ที่มีนโยบายลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น เพื่อรับโอกาสผลตอบแทนสูงขึ้นในระยะยาว
เช่นเดียวกัน ถ้านโยบายลงทุนใน PVD มีความเสี่ยงสูง ควรพิจารณาเลือกลงทุนใน RMF ที่มีนโยบายลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ
เมื่อ PVD และ RMF เป็นทางเลือกที่ดีทั้งคู่สำหรับการเก็บออมเพื่อการเกษียณ หากมีโอกาสทำงานในบริษัทที่มี PVD ก็ควรจะใช้ประโยชน์จากการลงทุนให้เต็มที่ และลงทุน RMF ควบคู่ด้วย
หากบริษัทไม่มี PVD ก็สามารถลงทุนผ่าน RMF SSF และประกันชีวิตแบบบำนาญ เป็นทางเลือกที่จะสะสมเงินเพื่อวัยเกษียณได้ พูดง่าย ๆ ทางเลือกมีหลากหลาย ขอเพียงมีวินัยในการเก็บออมและลงทุน เพียงเท่านี้ก็สามารถมีเงินเก็บเพื่อใช้หลังเกษียณอย่างเพียงพอ
ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th