logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: บริหารจัดการเงิน

3 สิ่งที่ทำแล้ว เงินเก็บมีแต่เพิ่ม

โดย ราชันย์ ตันติจินดา นักวางแผนการเงิน CFP®

ทำงานมาหลายปี แต่ทำไมแทบไม่มีเงินเหลือเก็บ ทั้งที่รายได้ก็มีทุกเดือน เงินเดือนก็ขึ้นทุกปี บทความนี้จะมาบอก 3 สิ่งที่ควรทำในการบริหารรายจ่าย เพื่อให้มีเงินเหลือเก็บแถมได้ดอกเบี้ยเพิ่มมากกว่าการจัดการแบบเดิม ๆ

1)​ จ่ายให้กับเงินเก็บ เป็นอันดับแรก

เมื่อมีรายรับหรือเงินเดือนเข้าบัญชี สิ่งแรกที่ต้องทำคือการกันเงินอย่างน้อย 10 - 20% ของเงินที่ได้รับ ไปแยกเก็บไว้อีกบัญชีหนึ่ง ซึ่งการเก็บเงินที่ว่าควรเป็นการตั้งใจเก็บระยะยาว ทางเลือกการเก็บเงินจึงควรเน้นไปที่การสร้างผลตอบแทนระยะยาว เช่น

  • กรณีรับความเสี่ยงจากการลงทุนไม่ได้ อาจเลือกหักบัญชีอัตโนมัติทุกเดือนไปเก็บเงินในเงินฝากประจำปลอดภาษี ที่ให้ดอกเบี้ยสูง หากฝากมียอดเงินที่เท่ากันทุกเดือน ได้อย่างน้อย 24 เดือนขึ้นไป (ระยะเวลาขึ้นกับเงื่อนไขแต่ละบัญชีหรือธนาคาร)
  • กรณีรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้และมีภาระภาษีเงินได้ อาจเลือกตัดเงินลงทุนอัตโนมัติไปลงทุนกองทุน SSF หรือกองทุน RMF ที่เป็นกองทุนผสมหรือกองทุนหุ้น เพื่อเป็นทั้งเงินเก็บ เพิ่มผลตอบแทนระยะยาว และช่วยลดหย่อนภาษี

แต่หากไม่ได้มีภาระภาษีหรือปีนี้ลงทุนกองทุน SSF/RMF เต็มสิทธิแล้ว อาจเลือกลงทุนในกองทุนผสมหรือกองทุนหุ้นทั่วไปได้ หรือหากรู้สึกว่าตนเองยังมีเงินเก็บน้อยอยู่ โดยเฉพาะยังมีเงินสำรองฉุกเฉินไม่ถึง 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน ควรเลือกเก็บในเงินฝากออมทรัพย์แบบ e-Savings เงินฝากประจำปลอดภาษี หรือกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีความเสี่ยงต่ำและสภาพคล่องสูงรอรับเงินค่าขายคืน 1 วันทำการ ก่อน

2)​ แยกงบรายจ่าย ให้ชัดเจน

หลังจากกันเงินเก็บ 10 - 20% ของรายได้แล้ว เพื่อให้มั่นใจว่าเงินส่วนที่เหลือ 80 - 90% จะเพียงพอกับรายจ่ายทั้งเดือน ควรตั้งงบรายจ่ายในแต่ละเรื่องให้ชัดเจน และแยกจัดสรรไว้ต่างบัญชีกัน เช่น

  • รายจ่ายคงที่ ที่ต้องจ่ายแน่นอน ขึ้นกับว่าต้องจ่ายช่วงไหนของเดือน จำเป็นต้องกันเงินเพื่อรอจ่ายส่วนนี้ไว้ เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าผ่อนบ้าน/รถ เบี้ยประกัน ค่าส่วนกลางหมู่บ้าน/คอนโด ฯลฯ ห้ามนำไปใช้จ่ายอย่างอื่น
  • รายจ่ายผันแปร ที่แต่ละเดือนอาจมียอดเงินและช่วงเวลาในการจ่ายที่แตกต่างกัน เช่น ค่าอาหาร ค่าสังสรรค์ ท่องเที่ยว เลี้ยงดูบุตร/บิดา/มารดา ค่าซื้อของใช้ส่วนตัว ฯลฯ

การแยกงบรายจ่าย นอกจากกำหนดงบ จดบันทึกรายจ่ายเพื่อคุมรายจ่ายแต่เรื่องให้อยู่ภายในงบที่กำหนดไว้แล้ว การแยกบัญชีไว้กันเงินหรือสำรองเงินไว้สำหรับแต่ละงบรายจ่าย ก็เป็นอีกวิธีการในการคุมรายจ่ายไม่ให้เกินตัว และช่วยให้การจัดการรายจ่ายในแต่ละเดือนเป็นระเบียบมากยิ่งขึ้น

3) เลือกที่พักเงินรอจ่าย ที่ช่วยให้งอกเงย

การแยกบัญชีเพื่อรองรับรายจ่าย เป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายในปัจจุบัน เนื่องจากแทบทุกธนาคารสามารถเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ได้ผ่าน Mobile Banking สำหรับใครที่มีงบรายจ่ายหลายเรื่อง และธนาคารหลักที่ใช้อยู่มีจำกัดจำนวนบัญชีสูงสุดในการเปิดบัญชีออนไลน์ ก็ยังสามารถสมัคร Mobile Banking และเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารอื่นที่ตนเองไม่เคยมีบัญชีมาก่อนได้บนมือถือที่มี ด้วยบริการ NDID (บริการยืนยันตัวตนรูปแบบดิจิทัล) อีกทั้งการโอนเงินข้ามธนาคาร หลายๆ ธนาคารมักไม่เก็บค่าธรรมเนียมการโอน ทำให้การแยกบัญชีเงินฝากเพื่อรองรับงบรายจ่ายต่าง ๆ ไม่ใช่เรื่องยากเลย

อีกทั้งบัญชีเงินฝากออมทรัพย์แบบ e-Savings ที่เปิดบัญชีด้วย Mobile Banking ธนาคารส่วนใหญ่มักให้อ้ตราดอกเบี้ยสูง โดยปัจจุบันส่วนใหญ่อยู่ที่ 1.5% ต่อปี คิดเป็น 5 เท่า ของอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์ทั่วไปที่ 0.3% ต่อปี ดังนั้นการใช้เงินฝากออมทรัพย์แบบ e-Savings ถือเป็นเครื่องมือในการแยกงบรายง่าย ที่นอกจากใช้คุมรายจ่ายไม่ให้เกินงบที่ตั้งใจจนไปดึงเงินเก็บออกมาแล้ว ยังเป็นตัวช่วยให้เงินที่พักไว้ระหว่างรอใช้จ่ายในแต่ละเดือน ได้เติบโตเร็วขึ้นถึง 5 เท่า เมื่อเทียบกับเงินฝากแบบเดิม

ตัวอย่าง

หากมีงบรายจ่ายต่าง ๆ รวมกันเดือนละ 20,000 บาท (ไม่รวมเงินเก็บ 10 - 20% ของรายได้) ซึ่งหากเงินก้อนนี้ถูกนำไปกันไว้ในเงินฝาก e-Savings ทุกต้นเดือนและถูกทยอยใช้จนหมดตอนสิ้นเดือน จะเสมือนว่าเรามีเงินฝากไว้ใน e-Savings ประมาณ 10,000 บาท ตลอดเดือนหรือตลอดปี (= [เงินต้นเดือน 20,000 บาท + เงินปลายเดือน 0 บาท] ÷ 2 ) ดอกเบี้ยรวมที่ได้รับจาก e-Savings ส่วนนี้ตลอดทั้งปีอยู่ที่ 150 บาท (สูงกว่าออมทรัพย์ทั่วไป ซึ่งอยู่ที่ปีละ 30 บาท)

แม้อาจดูไม่ได้มากมาย แต่อย่างน้อยก็เหมือนได้ทานอาหารฟาสต์ฟู้ดฟรี 1 มื้อ โดยไม่ต้องออกแรงอะไรเลย อีกทั้ง สำหรับคนที่มีรายได้หรืองบรายจ่ายสูงกว่านี้ หรือมีการเทคนิคบริหารรายแบบอื่นมาเสริม เช่น การใช้ประโยชน์จากระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยสูงสุด 45 - 55 วัน ของบัตรเครดิต ฯลฯ ดอกเบี้ยรับก็จะสูงขึ้น จากการแค่เพียงรู้จักเลือกที่พักเงินเท่านั้นเอง

อยากมีเงินเก็บ ไม่ได้ขึ้นกับว่ามีรายได้แค่ไหนหรือมีภาระรายจ่ายเท่าไร แต่ขึ้นอยู่กับบริหารรายจ่ายอย่างไรให้สอดคล้องกับรายรับที่เข้ามา การกันเงินเก็บตั้งแต่วันที่เงินเข้าและคุมงบรายจ่ายให้เหมาะสม ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่ช่วยให้สามารถเก็บเงินได้และเงินเก็บนั้นจะยังอยู่กับเราไปอีกนาน

ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th

 

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th