บทความ: ภาษีและมรดก
4 ข้อควรรู้ในการเลือกผู้จัดการมรดก
โดย อรรถสิทธิ์ แสงทอง นักวางแผนการเงิน CFP®, เภสัชกร, ทนายความ
เผยแพร่ ณ วันที่ 13 มิ.ย. 2566
ก่อนชีวิตเดินทางมาถึงจุดสิ้น ในระหว่างทางก็มีการสร้างความมั่งคั่ง ปกป้องความมั่งคั่ง เพิ่มพูนความมั่งคั่ง และสุดท้ายส่งต่อความมั่งคั่ง นั่นคือ มรดก ที่ประกอบไปด้วย
- ทรัพย์สิน เช่น บ้าน รถ เงินสด กองทุน หุ้น ทองคำ ลิขสิทธิ์ ฯลฯ
- สิทธิ เช่น สิทธิได้เงิน สิทธิที่สามารถเป็นมรดกได้ ฯลฯ
- หน้าที่ เช่น หน้าที่ตามสัญญา หนี้สินที่ต้องชดใช้ ฯลฯ
ผู้ที่จะมาเป็นผู้ดูแลการแบ่งมรดกให้เป็นตามพินัยกรรม หรือตามทายาทโดยธรรม คือ “ผู้จัดการมรดก”
ผู้จัดการมรดกเป็นตัวแทนของเหล่าทายาทโดยธรรม ทำหน้าที่ในการแบ่งมรดกตามพินัยกรรมหรือกฎหมาย เป็นผู้เซ็นรับรองทางทะเบียน เป็นผู้ไกล่เกลี่ยหากเกิดความไม่เข้าใจระหว่างทายาทหรือบุคคลอื่นที่มีส่วนในมรดก รวมถึงการจัดทำรายการมรดก ดูแลโดยทั่วไป
ผู้จัดการมรดกสามารถตั้งขึ้นได้โดยพินัยกรรมที่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือโดยศาล ในทางปฏิบัติทรัพย์ที่มีทะเบียนไม่ว่าจะเป็นบ้าน ที่ดิน รถยนต์ บัญชีธนาคาร กองทุน หรือที่ต้องมีการติดต่อราชการ เจ้าหน้าที่ไม่สามารถรู้ได้ว่าพินัยกรรมนั้นเป็นของจริงหรือถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ต้องมีการไปร้องต่อศาลให้แต่งตั้ง เพื่อเป็นการรับรองว่ามีการตรวจสอบผู้จัดการมรดกคนนั้นว่ามีความถูกต้องตามกฎหมาย ไม่มีคุณสมบัติต้องห้าม คือ
1. ยังไม่บรรลุนิติภาวะ
2. บุคคลวิกลจริต หรือบุคคลที่ศาลสั่งให้เป็นบุคคลเสมือนไร้ความสามารถ
3. บุคคลล้มละลาย
ดังนั้นเมื่อมีทรัพย์ที่มีทะเบียน ต้องไปร้องขอต่อศาลให้แต่งผู้จัดการมรดกซึ่งก็ต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือนตามการรวบรวมเอกสารประกอบคำร้อง รายการทรัพย์สิน และปริมาณงานของศาลแต่ละพื้นที่ หลังจากศาลมีคำสั่งแต่งตั้งผู้จัดการมรดกก็ต้องรอว่ามีผู้มาคัดค้านหรือไม่ อีก 30 วันเมื่อครบแล้วก็ไปขอคำรับรองจากศาลอีกครั้ง คำแนะนำ คือ กรณีที่ไม่มีความขัดแย้งเมื่อจัดการงานเจ้ามรดกตามประเพณี ศาสนา ความเชื่อแล้วนั้น ก็ต้องเร่งดำเนินการเตรียมเอกสารคำร้องศาลด้วยเป็นโอกาสที่ทายาทมารวมตัวกัน แต่ต้องมีการชี้แจงว่าทำไมเร่งรีบเพราะทายาทบางคนอาจเข้าใจเป็นอย่างอื่นได้
เมื่อรู้บทบาทหน้าที่ของผู้จัดการมรดกแล้ว 4 ข้อควรรู้ในการพิจารณาคุณสมบัติเลือกมีดังต่อไปนี้
1. มีความซื่อสัตย์ โปร่งใส
เนื่องจากต้องมีการจัดการทรัพย์สินเงินทอง จึงมีโอกาสที่ดำเนินการทุจริต ยักยอก ปิดบังทรัพย์สินและผลประโยชน์ที่เป็นของกองมรดกได้
2. มีความพร้อมในการติดต่อประสานงาน
หน้าที่ของผู้จัดการมรดกนั้น คือ ทำการแบ่งทรัพย์มรดกตามสิทธิของทายาทแต่ละคน จึงต้องมีการติดต่อหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน อีกทั้งต้องติดต่อประสานทายาทโดยธรรมทุกคน อาจต้องหน้าที่ติดตามผลประโยชน์ เช่น ค่าเช่าทรัพย์มรดก ไปสำรวจทรัพย์ในสถานที่จริง ดังนั้นจึงควรเลือกคนที่มีความพร้อมทั้งสุขภาพ ความรู้ความเข้าใจในการติดต่องาน
โดยทั่วไปมักแต่งตั้งคู่สมรสของเจ้ามรดก ที่เป็นบิดามารดาของทายาท ซึ่งก็อายุมากไม่สะดวกในการประสานงานสุขภาพไม่อำนวยให้เดินทาง ก็ต้องมีการมอบอำนาจซึ่งก็เพิ่มเอกสาร เพิ่มขั้นตอนการตรวจสอบ จนทำให้เพิ่มโอกาสการทุจริตปลอมใบมอบอำนาจได้และสุดท้ายก็กลายเป็นหน้าที่ของทายาทคนอื่นอยู่ดี
3. เป็นที่ยอมรับของทายาท
ผู้จัดการมรดกไม่จำเป็นต้องเป็นทายาทโดยธรรม สามารถแต่งบุคคลที่อื่นที่มีคุณสมบัติตามกฎหมายและทายาทให้การยอมรับได้ ด้วยทรัพย์สินบางรายการอาจมีความยุ่งยากในการแบ่งปันให้ยุติธรรม หรือความเห็นในการจัดการทรัพย์ที่เป็นกรรมสิทธิ์ร่วมของเหล่าทายาทไม่ตรงกัน ทำให้ผู้จัดการมรดกต้องเป็นคนกลางในการเจรจา ไกล่เกลี่ยให้ได้ข้อตกลงในจัดการทรัพย์สินนั้นๆ เมื่อผู้จัดการมรดกเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายก็ดำเนินการได้ราบเรียบ
4. คนเดียวไม่มั่นใจ ตั้งหลายคนได้
หากไม่สามารถเลือกผู้จัดการมรดกที่ยอมรับของทายาท สามารถแต่งตั้งได้หลายๆ คนเพื่อความสบายใจของทายาท แต่ไม่ควรมากเกินไป เนื่องจากการรวมตัวประชุมหามติของผู้จัดการมรดกทำได้ช้า และควรแต่งตั้งเป็นจำนวนคี่ เพราะต้องมีเสียงข้างมากจึงจะเป็นข้อสรุปของผู้จัดการมรดกได้
จะเห็นได้ว่าการส่งมอบทรัพย์สิน โดยเฉพาะมรดก มักมีปัญหาขัดแย้ง จากระดับเล็กน้อยไปจนถึงต้องมีการทำร้ายทายาทคนอื่นๆ ที่มีให้เห็นในสังคม ดังนั้นทุกคนควรมีการวางแผนการส่งมอบขณะยังมีชีวิต ซึ่งทำได้ราบเรียบตรงตามความต้องการ สามารถวางแผนภาษีมรดก ภาษีการให้ ลดความผิดใจในหมู่ทายาท ทำให้ครอบครัวเกิดความรักใคร่สามัคคี สงบสุข สมดังความตั้งใจของเจ้าของได้
ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th