logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: บริหารจัดการเงิน

เตรียมตัวอย่างไร เพื่อขอสินเชื่อบ้านให้ผ่านฉลุย

โดย ศุภฤกษ์ ตรงจิตสุนทร AFPTTM, IP

ถึงแม้ว่าสถานการณ์ต่าง ๆ จะเริ่มค่อย ๆ ดีขึ้น จากการที่รัฐบาลประกาศให้โควิด-19 เป็น “โรคประจำถิ่น “ ธุรกิจภายในประเทศกลับมาดำเนินกิจการได้ตามปกติ อีกทั้ง การเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวให้กลับเข้ามาแล้ว แต่ก็ยังเห็นว่าปัญหาที่ยังคงส่งผลกระทบต่อเนื่องคือ การชะลอตัวทางเศรษฐกิจ รายได้ การลงทุน และส่งผลกระทบไปยังทุกภาคส่วน

โดยสถาบันการเงินก็ต้องออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิดตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย เช่น การให้พักชำระเงินต้น ลดค่างวดที่ต้องชำระ เป็นต้น

ณ ปัจจุบัน สถาบันการเงินจึงจำเป็นเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อเพิ่มมากขึ้น โดยเพิ่มความเข้มงวดในการขอสินเชื่อเป็นพิเศษ ทั้งนี้ก็เพื่อลดความเสี่ยงป้องกันการเกิดหนี้เสียขึ้น

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ตอนนี้ อาจจะสุ่มเสี่ยง ขอสินเชื่อได้ยากเพราะสถาบันการเงินหลายแห่งก็มีมาตราการรัดกุมมากยิ่งขึ้น แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่สามารถขอสินเชื่อได้ เพียงแต่ถ้าอยากกู้ให้ผ่านฉลุย ต้องมีการเตรียมความพร้อม

1. หลักฐานการแสดงรายได้ต่าง ๆ เช่น สลิปเงินเดือน ใบรับรองเงินเดือน โบนัส 50 ทวิ ในกรณีที่ เป็นรายได้อื่น ๆ ทางธนาคารจะขอดูหลักฐานในการยื่นภาษี บางธนาคารมีเกณท์เรื่อง รายได้ขั้นต่ำเพิ่ม เช่น ต้องมีรายรับอย่างน้อยที่ 15,000 - 20,000 ถึงจะผ่านเกณท์ในการยื่นกู้ ในการเตรียมตัวถ้า มีบ้าน คอนโด หรืออสังหาริมทรัพย์อื่น ๆ ปล่อยเช่าแล้วมีรายได้ ก็สามารถยื่นเป็นรายได้ในการพิจารณาขอสินเชื่อได้ แต่ต้องสอบถามทางธนาคารซึ่งแต่ละที่เกณท์ในการประเมินจะไม่เหมือนกัน

สิ่งที่ต้องระวัง คือ ห้ามนำบ้านที่ติดจำนองแล้วปล่อยเช่ามีรายได้ไปยื่น ขอสินเชื่อบ้านหลังใหม่กับธนาคารเดียวกัน เพราะอาจจะโดนดอกเบี้ยปรับจากธนาคารได้ เนื่องจากทางธนาคารจะมองว่าเป็นการกู้ยืมที่ผิดวัตถประสงค์ ต้องเป็นการกู้ยืมเพื่อการพักอาศัยเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อการพาณิชย์

2. ประเมินความสามารถในการผ่อน สามารถคำนวณได้เองเบื้องต้น โดยเกณท์ของธนาคารจะประเมินโดยเทียบกับรายได้ซึ่งโดยส่วนใหญ่ธนาคารจะคำนวณความสามารถในการผ่อนที่ประมาณ 40% ของรายได้ซึ่งบางธนาคารก็จะมีเกณท์ให้ที่ 60% แต่ถ้าในกรณีที่มีสิทธิสวัสดิการของบริษัท ที่ทำร่วมกับบางธนาคารอาจจะยอมให้ถึง 80% ของรายได้

ตัวอย่าง การคำนวณเบื้องต้นในการประเมิณวงเงินขอสินเชื่อ

เงินเดือน/รายได้(บาท) ความสามารถในการผ่อนชำระ วงเงินกู้โดยประมาณที่(บาท)
 40%  60%  80% ( คำนวณจาก 40 % )
15,000
20,000
25,000
30,000
35,000
40,000
45,000
50,000
6,000
8,000
10,000
12,000
14,000
16,000
18,000
20,000
9,000
12,000
15,000
18,000
21,000
24,000
27,000
30,000
12,000
16,000
20,000
24,000
28,000
32,000
36,000
40,000
900,000
1,200,000
1,500,000
1,800,000
2,100,000
2,400,000
2,700,000
3,000,000

หมายเหตุ: สูตรการคำนวณดังกล่าวเป็นเพียงการประมาณการเท่านั้น หากต้องการทราบข้อมูล
แบบละเอียดชัดเจน ติดต่อสอบถามเจ้าหน้าที่จากธนาคารที่ขอสินเชื่อ

ในส่วนของข้อ 2 อาจจะต้องพิจารณาหักลบกับหนี้สินที่มีอยู่เดิมด้วย เช่น สินเชื่ออื่น ๆ ที่ยังต้องผ่อนชำระอยู่ และรายการที่มักจะไม่ค่อยทราบกันว่าจะส่งผลต่อการประเมินขอสินเชื่อกับธนาคารด้วย คือ รายการผ่อนสินค้า 0% ต่าง ๆ มีโอกาสทำให้ขอสินเชื่อไม่ผ่านหรือถ้าผ่านก็ได้วงเงินน้อยลง

เช่น ซื้อโทรศัพท์ 40,000 บาท ผ่อน 0% 10 เดือน โดยผ่อนชำระตกเดือนละ 4,000 บาท ทางธนาคารก็จะมองเป็นภาระค่าใช้จ่ายทันที โดยสมมติว่ากู้ซื้อบ้าน 2 ล้านบาท ระยะเวลา 30 ปี ผ่อนต่อเดือนประมาณ 14,000 บาทต่อเดือน แต่มีภาระผ่อนมือถือ 4,000 บาทต่อเดือน ทางธนาคารก็อาจจะพิจารณาให้วงเงินสินเชื่อน้อยลงจากการที่ต้องนำความสามารถในการผ่อนชำระไปหักภาระที่ต้องผ่อน เท่ากับว่า 14,000 – 4,000 = 10,000 บาท คงเหลือความสามารถในการผ่อนชำระที่ 10,000 บาท ซึ่งอาจทำให้ขอสินเชื่อบ้านได้เพียงวงเงินที่ 1.5 ล้านบาท

3. ทำบัญชีทรัพย์สิน เงินออมในรูปแบบต่าง ๆ การมีเงินออมที่ฝากไว้ในธนาคารบัญชีออมทรัพย์ , บัญชีเงินฝากประจำ, สลากออมสิน หรือการออมเงินในรูปแบบการลงทุน เช่น กองทุนรวมทั่วไป กองทุนเพื่อการลดหย่อนภาษี ซึ่งบางธนาคารก็จะพิจารณาในส่วนนี้ให้ เป็นการเพิ่มโอกาสในการขอสินเชื่อบ้านให้ผ่าน

ทั้งนี้ เกณท์การพิจารณาก็จะแตกต่างไปตามแต่ละธนาคาร ดังนั้น ในการยื่นเอกสารผู้ขอสินเชื่อควรที่จะสอบถามข้อมูลเพื่อเป็นการช่วยเพิ่มโอกาสในการขอสินเชื่อให้ผ่านฉลุย

4. เช็คประวัติเครดิตบูโร การขอข้อมูลเครดิตบูโรของตัวเองมาตรวจสอบ โดยขอได้จากช่องทางของธนาคารกรุงไทย ผ่าน Application Mobile Banking โดยจะมีค่าดำเนินการอยู่ที่ 150 บาท ภายใน 24 ชม ก็จะมีการส่งให้ตาม Email ที่ลงทะเบียนไว้ ข้อมูลที่ได้มาก็เพื่อที่จะไว้ตรวจสอบ รายการแปลกปลอมต่าง ๆ เช่น บัตรกดเงินสด บัตรเครดิต หรือสินเชื่อต่าง ๆ แม้กระทั่งรายการค้างชำระ โดยปกติระยะเวลาของบัญชีต่าง ๆ ที่แสดงในเครดิตบูโร จะอยู่ที่ 3 ปี กรณีที่มีรายการที่ค้างชำระนานเกิน 3 เดือน ข้อมูลก็จะปรากฏในรายการเครดิตบูโรว่าเป็นการผิดนัดชำระ แปลว่า ต้องใช้เวลานานถึง 3 ปี ในการให้ข้อมูลดังกล่าวหายไปจากเครดิตบูโร

5. การเตรียมตอบคำถาม จากสถานะการณ์ช่วงโควิดที่ผ่านมา ที่ทางธนาคารประกาศมาตราการเยียวยาให้ผู้ที่ขอสินเชื่อไปลงทะเบียนในการแจ้งความประสงค์ ว่าได้รับผลกระทบจากงานประจำ หรือจากธุรกิจต่าง ๆ โดยธนาคารก็จะประเมินและให้การเยียวยา เช่น ให้พักชำระทั้งเงินต้น + ดอกเบี้ย , ให้ผ่อนชำระเฉพาะดอกเบี้ย เป็นต้น

ในส่วนนี้ ธนาคารจะเช็คข้อมูลจากเครดิตบูโรว่ามีการหยุดพักชำระหรือไม่ และจะถามจากผู้ขอสินเชื่อ ว่าได้มีการใช้มาตรการเยียวยาจากธนาคารหรือไม่ เพราะเหตุใด แล้วในปัจจุบันได้กลับมาผ่อนชำระปกติแล้วหรือไม่

โดยธนาคารก็จะซักข้อมูลถึงความจำเป็นที่ต้องพักชำระในช่วงที่ผ่านมาว่าเกิดจากเหตุใด เช่น โดนลดเงินเดือน , ตกงาน , ขายของไม่ได้ และสถานะปัจจุบันปัญหาเหล่านั้นคลี่คลายแล้วหรือไม่ เพื่อเป็นการให้ธนาคารมีความเชื่อมั่นว่าผู้ขอสินเชื่อมีความสามารถในการผ่อนคืนชำระสินเชื่อได้

โดยกรณีที่เป็นพนักงานบริษัทแล้วมีการโดนปรับลดเงินเดือนธนาคารอาจจะมีการขอดูเอกสารเพื่อเป็นการยืนยันว่าเงินเดือนที่โดนลดไปได้มีการกลับคืนให้แล้วหรือไม่ เพื่อประเมินผู้ขอสินเชื่อ และความมั่นคงของบริษัทที่ผู้ขอสินเชื่อทำงานอยู่ด้วย

จากวิธีการเตรียมตัวดังกล่าวเป็นเพียงการช่วยเพิ่มโอกาสในการขอสินเชื่อให้ผ่านได้ อย่างไรก็ตาม ในการขอสินเชื่อแต่ละธนาคารเองก็ยังมีวิธีในการประเมินที่แตกต่างกัน อีกทั้ง ยังสามารถใช้ตัวช่วยอื่น ๆ ได้ เช่น การพิจารณาหาคนมากู้ร่วม ดังนั้น การพูดคุยสอบถามทางเจ้าหน้าที่ของธนาคารที่เราไปขอสินเชื่อโดยตรงนั้นก็มีความสำคัญมากที่จะช่วยให้ความกระจ่าง ทั้งในเรื่องการเตรียมตัวและการพิจารณาในการเลือกใช้บริการจากธนาคารที่ต้องการยื่นสินเชื่อ

อ้างอิง : การคำนวณรายได้ในการประเมินวงเงินเพื่อขอสินเชื่อโดยประมาณของธนาคาร ธอส.

 

ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th

 

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th