logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ลงทุน

เลือกกลยุทธ์การลงทุนในกองทุนรวมให้เหมาะกับเรา

โดย ภก.ธริญญ์รัฐ ปิยะศิริโสฬส ที่ปรึกษาการเงิน AFPT™

เมื่อพูดถึงการลงทุนในกองทุนรวม คำที่มักได้ยินควบคู่กันไป คือ Dollar Cost Averaging หรือ DCA ซึ่งเป็นกลยุทธ์การลงทุนรูปแบบหนึ่ง อย่างไรก็ตาม นอกจาก DCA แล้ว ยังมีกลยุทธ์อื่น ๆ อีกหลายอย่าง

“กลยุทธ์การลงทุน” คือ แนวทางในการนำเงินลงทุนมาซื้อสินทรัพย์ลงทุนต่าง ๆ เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนตามที่กำหนดไว้ในแผนการลงทุน ลดความผันผวนของตลาด หรือเพิ่มโอกาสการทำกำไร ซึ่งแต่ละกลยุทธ์ก็จะมีความเหมาะสมกับแต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน เนื่องจากความแตกต่างกันของระยะเวลาที่ต้องการไปให้ถึงเป้าหมายการเงิน ความสามารถในการรับความเสี่ยง รวมถึงงบประมาณในการลงทุน ซึ่งกลยุทธ์การลงทุนในกองทุนรวมที่จะกล่าวถึงจะแยกเป็น 4 รูปแบบ

1. Dollar Cost Averaging (DCA) เป็นกลยุทธ์การลงทุนโดยการแบ่งเงินจำนวนเท่ากัน ลงทุนในช่วงเวลาที่ระยะห่างเท่ากัน เป็นงวด ๆ เช่น ลงทุนในกองทุน ABC ทุกเดือน ๆ ละ 5,000 บาท ซึ่งเหมาะกับการลงทุนในระยาว เนื่องจากเป็นกลยุทธ์ที่ช่วยลดความผันผวนของตลาดได้ค่อนข้างดี ซึ่งในภาวะตลาดขาขึ้นจะทำให้ได้หน่วยลงทุนจำนวนน้อย แต่ภาวะตลาดขาลงจะได้รับหน่วยลงทุนจำนวนมากขึ้นในปริมาณเงินเท่าเดิม สามารถลดความเสี่ยงจากการจับจังหวะการลงทุนและความผันผวนของราคาสินทรัพย์ได้ในการลงทุนระยะยาว อีกทั้งยังเป็นการสร้างอุปนิสัยที่ดีสำหรับผู้เริ่มลงทุน คือ การสร้างวินัยการลงทุน สิ่งสำคัญ คือ ผู้ลงทุนควรเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่แนวโน้มของราคาเติบโตในระยะยาว ล้อกันไปกับระยะเวลาของเป้าหมายการลงทุน เนื่องจากหากเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีแนวโน้มของราคาเป็นขาลงในระยะยาว หรือมีราคาผันผวนตามวงรอบเศรษฐกิจ เช่น น้ำมัน, สินค้าโภคภัณฑ์ เป็นต้น ก็อาจจะทำให้ขาดทุนได้

2. Lumpsum หรือ Market Timing เป็นกลยุทธ์ที่เหมาะกับผู้มีเงินก้อน รับความเสี่ยงได้สูง มีเวลาในการติดตามข่าวสาร และมีความสามารถในการวิเคราะห์แนวโน้มการเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์ลงทุน เนื่องจากเป็นการจับจังหวะ ชิงความได้เปรียบในการซื้อขาย

ข้อสังเกตที่สำคัญประการหนึ่งของกลยุทธ์นี้ คือ สามารถทำกำไรได้สูงในระยะเวลาอันสั้น แต่ก็สามารถขาดทุนได้สูงเช่นเดียวกันหากวิเคราะห์ข้อมูลผิดพลาด และการมีเงินก้อนจำนวนมากจะทำให้การใช้กลยุทธ์นี้คุ้มค่ามากกว่า เช่น มีเงินลงทุน 500,000 บาท ทำกำไรได้ 10% ได้รับผลกำไร 50,000 บาท ในทางกลับกันมีเงินลงทุน 5,000 บาท ทำกำไรได้ 10% ได้รับผลกำไร 500 บาท ซึ่งจะเห็นได้ว่าจำนวนเงินลงทุนที่แตกต่างกัน ทำให้ได้รับผลตอบแทนเป็นตัวเงินที่ต่างกัน ส่วนกองทุนรวมที่เหมาะสมกับกลยุทธ์การลงทุนแบบนี้จะเป็นกองทุนรวมดัชนี หรือกองทุนรวมสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น น้ำมัน, ทองคำ เป็น เนื่องจากสามารถติดตามการเคลื่อนไหวของราคาได้ง่าย

3. Combined Method เป็นกลยุทธ์ที่เป็นการผสมผสานระหว่าง DCA และ Market Timing แต่กรอบเวลาของการลงทุนเป็นการลงทุนระยะยาว คือเป็นการแบ่งเงินลงทุนออกเป็นงวด ๆ แต่ก็มีการจับจังหวะการเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์ลงทุนโดยคาดหวังว่าในแต่ละช่วงที่ทำการลงทุนนั้นจะได้รับสินทรัพย์ที่ราคาต่ำที่สุดในช่วงเวลานั้น ๆ เช่น ต้องการลงทุนในกองทุน ABC เดือนละ 5,000 บาท แต่ไม่ได้กำหนดชัดเจนว่าในแต่ละเดือนนั้นจะลงทุนในวันที่เท่าไร แต่ใช้การคาดการณ์แนวโน้มราคาจากเหตุการณ์ต่าง ๆในช่วงนั้นเพื่อช่วยเลือกจังหวะการเข้าลงทุนแทน เช่น หากเกิดสงครามขึ้นก็มักจะเกิดความกังวลในตลาดการเงิน ทำให้ราคาสินทรัพย์การเงินมีแนวโน้มปรับตัวลดลง ผู้ลงทุนอาจอาศัยจังหวะนี้ในการเข้าลงทุน เพื่อทำให้ราคาเฉลี่ยของสินทรัพย์ที่ลงทุนต่ำลง ผู้ลงทุนมีโอกาสกำไรมากกว่าการทำ DCA ปกติหากวิเคราะห์แนวโน้มของราคาได้ถูกต้อง และการลงทุนด้วยกลยุทธ์นี้ก็ควรจะลงทุนในสินทรัพย์ที่มีแนวโน้มการเติบโตของราคาเพิ่มขึ้นในระยะยาวเช่นกัน

4. Value Averaging เป็นกลยุทธ์สำหรับการลงทุนระยะยาวที่มีการกำหนดเป้าหมายไว้ล่วงหน้า ว่าผู้ลงทุนต้องการให้แผนการลงทุนมีมูลค่าเท่าไรเมื่อจบระยะเวลาการลงทุนในแต่ละช่วงเวลา จะมีการทบทวนมูลค่าของแผนการลงทุนว่าเป็นไปอย่างที่ตั้งเป้าหมายไว้หรือไม่ หากมีมูลค่าเกินกว่าที่ตั้งเป้าหมายไว้จะมีการขายออกทำกำไร หากมีมูลค่าน้อยกว่าที่ตั้งเป้าหมายไว้จะต้องมีการลงทุนเพิ่มเพื่อให้แผนการลงทุนมีมูลค่าตามที่ตั้งเป้าหมายไว้

ตัวอย่างผู้ลงทุนตั้งเป้าหมายไว้ว่ามูลค่าแผนการลงทุนที่ปีที่ 10 จะต้องมีมูลค่า 1,000,000 บาท และทุกสิ้นปีจะต้องมีมูลค่าสะสมเพิ่มขึ้น 100,000 บาททุกสิ้นปี


ตารางที่1 ตัวอย่างการลงทุนตามกลยุทธ์ Value Averaging

จากตัวอย่างสังเกตได้ว่ากลยุทธ์การลงทุนแบบ Value Averaging จะให้ความสำคัญกับมูลค่าการลงทุนสะสมในแต่ละช่วงที่กำหนดไว้ หากมูลค่าการลงทุนจริงสูงกว่ามูลค่าการลงทุนสะสมตามกลยุทธ์ จะแนะนำให้ผู้ลงทุนขายออกเพื่อทำกำไรในส่วนเกิน (ปี 2016 และ 2018) หากมูลค่าการลงทุนเท่ากับมูลค่าการลงทุนสะสมตามกลยุทธ์ในช่วงนั้นก็จะไม่ต้องลงทุนเพิ่ม (ปี 2014) และหากมูลค่าการลงทุนต่ำกว่ามูลค่าการลงทุนสะสมตามกลยุทธ์ ผู้ลงทุนก็จะต้องลงทุนเพิ่มเพื่อให้มีมูลค่าการลงทุนสะสมตามกลยุทธ์เท่ากับที่ตั้งเป้าหมายไว้ และหากมูลค่าการลงทุนต่ำกว่ามูลค่าการลงทุนสะสมตามกลยุทธ์มาก จะทำให้ผู้ลงทุนต้องลงทุนเพิ่มเป็นเงินก้อนใหญ่ (ปี 2021) ซึ่งอาจจะกระทบต่อสภาพคล่องของผู้ลงทุนได้

งนั้น กลยุทธ์แบบ Value Averaging จึงเหมาะกับผู้ที่มีสภาพคล่องสูงพร้อมลงทุนเป็นเงินก้อนใหญ่ได้ และการลงทุนด้วยกลยุทธ์นี้ก็ควรจะลงทุนในสินทรัพย์ที่มีแนวโน้มการเติบโตของราคาเพิ่มขึ้นในระยะยาวเช่นกัน

เมื่อมีกลยุทธ์การลงทุนหลากหลาย ผู้ลงทุนต้องประเมินตนเองว่ามีความพร้อมในด้านเงินลงทุน ความสามารถในการยอมรับความเสี่ยง ความรู้ความเข้าใจในการลงทุนว่าเหมาะสมกับกลยุทธ์แบบใด แล้วเลือกกลยุทธ์ที่เหมาะสมกับตนเองเพื่อให้สามารถทำให้ผู้ลงทุนบรรลุเป้าหมายทางการเงินได้ในระยะเวลาที่ตั้งใจไว้ เพราะกลยุทธ์ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับแต่ละบุคคลนั้นไม่เหมือนกัน แต่กลยุทธ์การลงทุนที่เหมาะสมกับทุกคนคือ “กลยุทธ์ที่ผู้ลงทุนเข้าใจและสอดคล้องกับความเสี่ยงที่รับได้” ซึ่งจะทำให้สามารถดำเนินการลงทุนได้ตลอดจนจบแผนการลงทุน ส่งผลให้มีโอกาสสูงที่จะบรรลุเป้าหมายการเงินที่ได้ตั้งไว้

ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th