logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ลงทุน

เพิ่มโอกาสการลงทุน ผ่าน ETF ต่างประเทศ

โดย พัชรินธ์ อีริคสัน CFA, CFP®

ETF ถือเป็นทางเลือกการลงทุนที่นิยมมากในเฉพาะในต่างประเทศ เช่น ในตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา มี ETF จดทะเบียนซื้อขายมากกว่า 3,000 ตัว แต่ในไทยอาจจะยังไม่ได้แพร่หลายมากนัก เนื่องจาก ETF ที่จดทะเบียนซื้อขายที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีเพียง 13 ตัวเท่านั้น

ETF คืออะไร

Exchange Traded Fund หรือ ETF คือกองทุนรวมดัชนีที่มีนโยบายลงทุนตามดัชนีต่าง ๆ และมีการซื้อขายบนตลาดหลักทรัพย์ได้เหมือนหุ้น ดังนั้น ETF จะเปรียบเสมือนลูกครึ่งระหว่างหุ้น และกองทุนรวมดัชนี (Passive Fund/ Index Fund) กล่าวคือ

  • ETF จะมีการกระจายลงทุนในหลักทรัพย์หลายตัวตามดัชนี เหมือนกับ Passive Fund ดังนั้น จะไม่มีความเสี่ยงเรื่องการกระจุกตัวเหมือนการลงทุนในหุ้น ยกตัวอย่างเช่น นักลงทุนที่มีเงินลงทุนน้อยเพียง 10,000 บาท อาจจะซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ได้ไม่กี่ตัว แต่สามารถนำเงินนี้ไปซื้อ ETF ที่ติดตามดัชนี SET ได้ ซึ่งจะเสมือนว่า นักลงทุนได้นำเงินไปลงทุนในหุ้นทุกตัวใน SET ด้วยเงินแค่ 10,000 บาท

  • นักลงทุนสามารถดูราคา และซื้อขาย ETF ได้แบบ real time บนตลาดหลักทรัพย์ ต่างจากการซื้อ Passive Fund ที่นักลงทุนจะซื้อขายได้ที่ราคา ณ สิ้นวันทำการเท่านั้น และไม่สามารถรู้ราคาได้ล่วงหน้า
ลง ETF ต่างประเทศผ่านช่องทางไหนได้บ้าง

ปัจจุบัน หากนักลงทุนอยากลงทุนใน ETF ต่างประเทศ สามารถทำได้ 2 ช่องทางหลัก

  • การซื้อกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนต่างประเทศ แต่กองทุนรวมประเภทนี้จะถูกบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ในไทยเก็บค่าธรรมเนียม กล่าวคือ นอกจากนักลงทุนจะต้องเสียค่าธรรมเนียมของ ETF แล้ว ยังต้องเสียค่าธรรมเนียมการจัดการรายปี และค่าธรรมเนียมแรกเข้า (ถ้ามี) ที่บลจ. เรียกเก็บอีกด้วย อย่างไรก็ตาม วิธีนี้อาจเหมาะกับนักลงทุนไม่ต้องการความยุ่งยากในการจัดการแลกเงิน หรือนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในกองทุนที่มีการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน

  • เปิดบัญชีกับบริษัทหลักทรัพย์ หรือสถาบันการเงินที่ให้บริการซื้อขายหลักทรัพย์ต่างประเทศเพื่อซื้อขาย ETF ผ่านตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศโดยตรง ซึ่งจะทำให้นักลงทุนไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมเหมือนกับการซื้อผ่านกองทุนรวม อย่างไรก็ตาม การเปิดบัญชีหลักทรัพย์ประเภทนี้มักมีกำหนดเงินขั้นต่ำในการเปิดบัญชี หรือค่าธรรมเนียมในการทำรายการ ซึ่งนักลงทุนจำเป็นต้องศึกษาให้ดีก่อนเปิดบัญชีกับโบรกเกอร์เจ้าไหน
เคล็ดลับในการเลือก ETFs
  • เลือกสินทรัพย์ (Asset Class) ที่สนใจลงทุน เพราะ ETFs นั้นมีหลากหลายครอบคลุมทุกสินทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็น หุ้น ตราสารหนี้ REITs ทองคำ สินค้าโภคภัณฑ์ หรือแม้กระทั่งสินทรัพย์ดิจิตัล
  • เลือกภูมิภาค ประเทศ อุตสาหกรรม ธีมการลงทุน สไตล์ลงทุน ที่สนใจลงทุน
    • สนใจลงหุ้นทั่วโลก หรือ หุ้นภูมิภาค/ประเทศใดประเทศหนึ่ง ตัวอย่าง ETF: SPDR S&P500 ETF (SPY US) ติดตามดัชนี S&P 500, iShares MSCI ACWI ETF (ACWI US) ติดตามดัชนี MSCI ACWI (หุ้นทั่วโลก)
    • สนใจลงทุนหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น กลุ่มธนาคาร กลุ่ม healthcare เป็นต้น ตัวอย่าง ETF: Financial Select Sector SPDR (XLF US) ติดตามผลการดำเนินงานหุ้นกลุ่ม Financial ใน S&P500
    • เลือกลงทุนตามสไตล์ เช่น หุ้นคุณค่า (Value) หุ้นเติบโต (Growth) เป็นต้น ตัวอย่าง ETF: Invesco S&P500 GARP ETF (SPGP US) ติดตามผลการดำเนินงานหุ้นเติบโตที่ยังมีมูลค่าเหมาะสมในสหรัฐฯ (Growth at Reasonable Price)
    • นอกจากนี้ยังมี ETF ที่มีธีมเฉพาะอีกมากมาย เช่น Global X Video Games & Esports ETF (HERO US) ติดตามผลดำเนินงานหุ้นทั่วโลกที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับ Video Game และ Esport
  • พิจารณาข้อมูลอื่น ๆ
    • วิธีการเลือกหลักทรัพย์ของดัชนี (Index Methodology): การเลือกหลักทรัพย์ของดัชนีเป็นสิ่งสำคัญมากโดยเฉพาะเมื่อ ETF ติดตามดัชนีที่ค่อนข้างมีความเฉพาะตัว เช่น เมื่อสนใจลงทุนหุ้นเทคโนโลยีในจีน แต่พบว่ามี ETF 2 ตัวที่มีความคล้ายคลึงกัน ได้แก่ KraneShares CSI China Internet ETF (KWEB US) และ Invesco China Technology ETF (CQQQ US) เมื่อดูเอกสาร Index Methodology ของ ETF ทั้ง 2 ตัวจะพบว่า ETF ทั้งสองตัวมีความแตกต่างกัน เช่น KWEB US จะลงทุนในหุ้นจีนที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับ Internet เท่านั้น แต่ CQQQ US มีการลงทุนในหุ้นจีนที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับ hardware ด้วย เป็นต้น
    • Tracking Error (TE): ควรเลือก ETF ที่มี TE ต่ำ ๆ เพราะว่ายิ่ง TE สูงเท่าไหร่ แปลว่า มีโอกาสที่ผลตอบแทนของ ETF จะเบี่ยงเบนจากดัชนีอ้างอิงมากขึ้นเท่านั้น
    • ค่าใช้จ่ายในการจัดการทั้งหมด (Total Expense Ratio (TER)): ควรเลือก ETF ที่มี TER ต่ำๆ
    • สภาพคล่อง: นักลงทุนควรพิจารณาขนาดกองทุน ปริมาณซื้อขายต่อวัน ผู้ดูแลสภาพคล่อง ETF (Market Maker) และ Bid-ask spread เพื่อพิจารณาสภาพคล่องของ ETF ด้วย โดยเฉพาะ ETF ในประเทศไทยที่มีขนาดค่อนข้างเล็ก และปริมาณการซื้อขายต่อวันต่ำ โดยถ้าหาก Market Maker ไม่ได้ active ในการเสนอราคาซื้อขาย (Bid-Ask) อาจทำให้ราคาซื้อขาย ETF นั้นไม่ตรงกับมูลค่าที่แท้จริงของสินทรัพย์อ้างอิง และทำให้เราต้องซื้อ หรือ ขาย ETF นั้นสูงกว่า หรือต่ำกว่าราคาที่ควรจะเป็น

เพียงเท่านี้ นักลงทุนก็จะสามารถเลือกลงทุนใน ETF ได้ไม่ยาก ซึ่งจะช่วยเปิดโอกาสให้นักลงทุนได้ลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย มีโอกาสหาสินทรัพย์ที่เติบโตสูง และช่วยกระจายพอร์ตการลงทุนได้

ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th