logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ลงทุน

เลือกลงทุนทองคำแบบไหน ใช่สำหรับเรา

โดย จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์ ที่ปรึกษาการเงิน AFPT™
เผยแพร่ ณ วันที่ 16 ก.ค. 2566

เวลามีข่าวออกมาแต่ละทีว่า ประเทศนั้น ประเทศนี้ กำลังเตรียมทำสงครามกัน หรือเศรษฐกิจโลก กำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย สินทรัพย์ที่นักลงทุนมักจะนึกถึง เพราะรู้สึกว่า ถือเอาไว้อุ่นใจกว่าสินทรัพย์อีกหลายๆ ประเภท ก็คือ “ทองคำ”

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ “ทองคำ” เป็นสินทรัพย์ที่ใคร ๆ ก็นึกถึงเวลาที่เกิดเหตุการณ์ผิดปกติกับบ้านเมืองหรือเศรษฐกิจมีปัญหา เนื่องจาก

ทองคำเป็นของมีค่าที่คนรู้จักมาตั้งแต่โบราณกาล ในอดีตก็มีการใช้ทองคำเป็นเครื่องมือแลกเปลี่ยนสินค้าหรือเงินในช่วงเวลาที่คับขัน จึงเป็นที่มาของสำนวนที่คนไทยชอบพูดกันว่า “มีเงินนับเป็นน้อง มีทองนับเป็นพี่” ก็เพราะว่ามีเงิน ถ้าวันหนึ่งคนไม่เชื่อในมูลค่าเงินสกุลนั้น ๆ คนก็ไม่อยากจะได้เงินมา ในขณะที่ทองคำเป็นสินทรัพย์ที่มีมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก และคนทั่วโลกให้การยอมรับในการใช้แลกเปลี่ยนได้

ฉะนั้น เมื่อคนบนโลกต่างก็มีความเชื่อเหมือนกัน คนจึงวิ่งหาทองคำในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ค่อยดี หรือช่วงที่มีสถานการณ์ไม่ปกติเกิดขึ้น และทำให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นในช่วงนั้น

อย่างเช่นกรณีปี 2565 รัสเซียเริ่มทำสงครามกับยูเครน ราคาน้ำมันปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว เงินเฟ้อทั่วโลกก็ขยับขึ้นเช่นกัน เพราะการทำสงครามมีผลกระทบต่อต่อเส้นทางการขนส่งน้ำมัน รวมถึงวัตถุดิบอื่น ๆ ทำให้ประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะในแถบยุโรปเผชิญกับสถานการณ์ต้นทุนสูงขึ้น ซึ่งสินทรัพย์ที่ทนทานต่อภาวะเงินเฟ้อสูงได้ดี ก็คือทองคำ

หรือกรณีปี 2566 ที่ทั่วโลกมีความกังวลว่าสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นเศรษฐกิจหลักของโลก จะต้องเผชิญกับสถานการณ์เศรษฐกิจถดถอย ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจริง ก็คงจะทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงมา ฉะนั้นคนก็ต้องเริ่มมองหาแล้วว่า จะมีสินทรัพย์อะไรบ้างที่ยังมีโอกาสเก็บรักษามูลค่าได้ในช่วงเวลาแบบนี้ และคำตอบก็คือ ทองคำ เช่นกัน

ปัจจัยต่างๆ ที่มักจะมีผลกับราคาทองคำ

ปัจจัยที่มีผลต่อราคาทองคำ ราคาทองคำปรับขึ้น ราคาทองคำปรับลดลง
เศรษฐกิจ ไม่ดี ดี
ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่า แข็งค่า
อัตราเงินเฟ้อ ปรับขึ้น ลดลง
ความต้องการซื้อ-ขาย ความต้องการซื้อ > ความต้องการขาย ความต้องการขาย > ความต้องการซื้อ

ถ้าดูจากปัจจัยที่มีความเกี่ยวข้องกับราคาทองคำในช่วงปี 2566 ก็จะพบว่า เงินเฟ้อชะลอตัวลงอย่างช้าๆ แต่ยังอยู่ในระดับสูง ส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Fed) แม้ว่าจะยังอยู่ในระดับสูง แต่แนวโน้มระยะข้างหน้าก็มีแต่ทรง ๆ กับปรับลดลง ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา มีแนวโน้มเกิดภาวะถดถอย (เศรษฐกิจหดตัวติดต่อกันตั้งแต่ 2 ไตรมาสขึ้นไป) ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็อาจจะเป็นที่มากดดันเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกาฯ ให้อ่อนค่าลงในช่วงปลายปี

ด้วยเหตุนี้ หากนักลงทุนมีทองคำติดพอร์ตซักส่วนหนึ่ง ก็จะช่วยกระจายความเสี่ยงและลดความผันผวนของพอร์ตลงทุนได้ เนื่องจากราคาทองคำมักจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางตรงข้ามกับสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้น ดังนั้น ในช่วงที่สินทรัพย์เสี่ยงปรับตัวลดลง ก็ยังมีทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ช่วยพยุงพอร์ตโดยรวมไม่ให้ปรับลดลงมากเกินไปได้ แต่ก็ต้องจำไว้ว่า ในวันที่ฟ้าสดใส หุ้นทำผลงานได้ดี ทองคำในพอร์ตก็อาจจะมูลค่าลดลงได้

อย่างไรก็ดี การลงทุนทองคำ ในปัจจุบัน มีช่องทางให้เลือกหลากหลาย ซึ่งผู้ลงทุนบางท่านเป็นมือใหม่ยังไม่เคยลงทุนทองคำมาก่อน ก็อาจจะเกิดอาการเลือกไม่ถูกว่าจะลงทุนทองคำผ่านช่องทางไหนถึงจะใช่สำหรับตัวเอง ฉะนั้นลองมาสำรวจกันดีกว่าว่า แบบไหนถึงจะใช่

  • มีความต้องการลงทุนทองคำแบบนี้เหมาะกับช่องทางการลงทุนทองคำแบบไหน?

1.ซื้อทองคำแท่ง/ทองรูปพรรณ
สำหรับการซื้อทองคำแท่ง/ทองคำรูปพรรณนั้น ก็แบ่งแยกย่อยได้เป็น 2 วิธี คือ

  • 1.1) ซื้อทองคำแท่งหรือทองรูปพรรณที่จับต้องได้ กับร้านขายทองคำ
    วิธีการนี้ เหมาะสำหรับนักลงทุนที่มีเงินลงทุนจำนวนมากเพียงพอกับราคาทองคำตามน้ำหนักที่ต้องการซื้อ และต้องการเก็บทองคำที่จับต้องได้ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบทองคำแท่ง หรือทองรูปพรรณที่เอาไว้สวมใส่เป็นเครื่องประดับได้ด้วย
    สิ่งสำคัญ คือ หากเลือกลงทุนด้วยวิธีนี้ ก็จะต้องคำนึงถึงการเก็บรักษาทองคำด้วย เพราะก็จะมีความเสี่ยงเรื่องการสูญหาย ขณะที่การซื้อขายทองคำ ทำได้ค่อนข้างสะดวก เพราะสามารถซื้อขายที่ร้านขายทองคำได้ เพียงแต่มีข้อสังเกต คือ ในการซื้อทองรูปพรรณ ผู้ซื้อจะต้องเสียค่ากำเหน็จ ซึ่งเป็นค่าจ้างแรงงานในการนำทองคำมาทำผลิตเป็นเครื่องประดับลวดลายต่างๆ ด้วย ขณะที่เวลาขายทองคำ หากเป็นทองคำแท่ง ก็จะขายคืนได้ในราคาตามน้ำหนักของทองคำเลย แต่ถ้าเป็นทองรูปพรรณ ราคารับซื้อคืนก็จะถูกกว่าทองคำแท่งเล็กน้อย
    ฉะนั้น ถ้าคิดจะซื้อเพื่อลงทุน ให้ซื้อทองคำแท่ง แต่ถ้าคิดจะซื้อเพื่อลงทุน แต่คาดหวังการใช้สอยในฐานะเครื่องประดับด้วย ก็ซื้อทองรูปพรรรณ

  • 1.2) ทยอยออมทอง
    การออมทอง ก็คือ การที่นักลงทุนค่อย ๆ ใช้เงินจำนวนน้อย ทยอยซื้อสะสมทองคำผ่านแอปพลิเคชันของร้านขายทองคำ ซึ่งปัจจุบันมีให้เลือกจากหลายค่าย ด้วยจำนวนเงินลงทุนเริ่มต้นไม่สูงมาก อาจจะอยู่ที่ 1,000 บาทต่อครั้ง ซึ่งนักลงทุนสามารถทยอยสะสมไปเรื่อย ๆ จนน้ำหนักทองคำครบหลักเกณฑ์ที่ให้ถอนออกมาได้ แล้วค่อยไปถอนเป็นทองคำที่ร้านทอง หรืออาจจะไม่ถอนออกมา แต่รอขายออกตามจำนวนที่ต้องการผ่านแอปพลิเคชันไปเลยก็ได้

    วิธีนี้ เหมาะกับนักลงทุนที่มีเงินลงทุนเริ่มต้นไม่มาก และผู้ที่ต้องการฝึกวินัยในการลงทุน ด้วยการหักเงินมาลงทุนทุก ๆ เดือน นอกจากนี้ อาจจะเป็นนักลงทุนที่ไม่ต้องการจัดเก็บทองคำเอาไว้กับตัว เพราะกังวลเรื่องการสูญหาย ซึ่งทางเลือกนี้ก็จะตอบโจทย์ เพราะไม่จำเป็นต้องถอนออกมาเป็นทองคำ แต่รอขายออกผ่านทางแอปพลิเคชันได้เลย ฉะนั้น หากเป็นวัยรุ่นเพิ่งเริ่มตั้งตัว แล้วอยากลงทุนทองคำ นี่ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ

2.ซื้อกองทุนรวม
แบ่งได้ 2 ประเภท คือ

  • 2.1) กองทุนรวมทองคำ
    กองทุนรวมทองคำในไทยส่วนมากมักจะไปลงทุนต่อในกองทุนหรือ ETF ต่างประเทศที่นำเงินไปลงทุนในทองคำแท่ง อย่างเช่น SPDR Gold Trust ซึ่งเป็นกองทุน ETF ทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลก

    ทั้งนี้ การซื้อกองทุนรวมลักษณะนี้ จะเหมาะสำหรับนักลงทุนที่มีเงินลงทุนไม่มาก ที่ไม่ได้ต้องการเก็บทองคำที่จับต้องได้ไว้กับตัว เพราะกลัวความเสี่ยงเรื่องการสูญหาย และเป็นนักลงทุนที่รับความเสี่ยงจากการลงทุนได้สูง เนื่องจากกองทุนรวมทองคำ จัดอยู่ในกลุ่มกองทุนรวมทรัพย์สินทางเลือก ซึ่งมีความเสี่ยงระดับ 8 คือ ความเสี่ยงสูงมาก เป็นผลมาจาก การลงทุนในสินทรัพย์ที่มีลักษณะเฉพาะ ความผันผวนด้านราคาค่อนข้างสูง ​รวมถึงมีความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน อย่างไรก็ตาม นักลงทุนสามารถเลือกได้ว่าจะลงทุนในกองทุนรวมทองคำที่มีการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนหรือไม่

  • 2.2) กองทุน ETF ทองคำ
    เป็นการไปลงทุนผ่านกองทุนรวมดัชนี (ETF) ที่มีนโยบายการลงทุนให้ผลตอบแทนอ้างอิงการเคลื่อนไหวของราคาทองคำในต่างประเทศ​ โดยกองทุนลักษณะนี้จะสามารถซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ได้ทุกวันทำการและเวลาทำการ จึงมีความคล่องตัวมากกว่า

3.ซื้อหุ้นบริษัทที่ทำเหมืองทองคำ
วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีเงินลงทุนค่อนข้างสูง รวมทั้งสามารถยอมรับความเสี่ยงได้สูงจากการลงทุนในหุ้น และยอมรับความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนได้ เนื่องจากหุ้นบริษัทเหมืองทองคำนั้นเป็นหุ้นในต่างประเทศ หากนักลงทุนต้องการจะไปลงทุนโดยตรง ก็ต้องทำการเปิดบัญชีลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศก่อน และต้องแลกเงินสกุลต่างประเทศไปลงทุนด้วย ส่วนในกรณีที่ต้องการจะรับรู้ผลตอบแทนกลับมาเป็นเงินบาท ก็ต้องแลกเป็นเงินบาทกลับมา

4.ลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าทองคำ (Gold Futures)
วิธีนี้เหมาะกับผู้ลงทุนที่เข้าใจเรื่องการลงทุนในสัญญาซื้อขายหล่วงหน้า (Futures) โดยการลงทุนแต่ละครั้งอาจจะใช้จำนวนเงินไม่มาก ทำให้มีความคล่องตัว ขณะที่ผลตอบแทนจากการลงทุนมีโอกาสทำกำไรได้มาก แต่ก็มีโอกาสขาดทุนได้มากเช่นกัน
เช่น ถ้ามองว่าในอนาคตอีก 3 เดือนข้างหน้า ราคาทองคำจะปรับเพิ่มขึ้น​ก็สามารถไปทำสัญญาซื้อล่วงหน้าทองคำในอีก 3 เดือนล่วงหน้าเอาไว้ก่อน หรือถ้ามองว่า ราคาทองคำจะปรับลดลง ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ก็สามารถทำสัญญาขายทองคำล่วงหน้า หรือใช้เป็นเครื่องมือบริหารจัดการความเสี่ยงจากการไปลงทุนในทองคำแท่งโดยตรง ตามจำนวนทองคำที่เรามี เช่น หากกังวลว่าราคาทองคำจะปรับลดลง ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ก็สามารถทำสัญญาขายทองคำล่วงหน้าไว้ได้เลย เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการลงทุนในทองคำแท่งปัจจุบัน เพราะจะได้รับกำไรในสัญญาซื้อขายล่วงหน้ามาชดเชยจากการปรับลดลงของราคาทองคำ

อย่างไรก็ตาม ผู้ลงทุนที่จะเลือกวิธีนี้ ควรมีความรู้ความเข้าใจตลาดอนุพันธ์ด้วย และถึงแม้การลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจะใช้เงินลงทุนจำนวนไม่มาก แต่ข้อควรระมัดระวังก็คือ ในช่วงที่ราคาของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าผันผวนมาก อาจจะต้องมีเตรียมเงินลงทุนเพื่อเพิ่มหลักประกันไม่ให้ต่ำกว่าระดับที่กำหนดไว้

ทั้งหมดนี้ก็คือช่องทางการซื้อขายทองคำในปัจจุบัน ที่ผู้ลงทุนสามารถเลือกใช้ได้ตามความถนัด ความชอบส่วนบุคคล กำลังเงินลงทุนที่มี และเป้าหมายการลงทุนที่ต้องการ

อย่างไรก็ตาม ต้องย้ำเตือนว่า หากต้องการลงทุนในทองคำ ควรจะมีทองคำเป็นเพียงสินทรัพย์ส่วนหนึ่งในพอร์ตโดยรวมเท่านั้น ไม่ใช่ใช้เงินลงทุนทั้งหมดทุ่มลงไปกับการลงทุนทองคำเพียงอย่างเดียว โดยสัดส่วนอาจจะอยู่ที่ 5 - 10% ของพอร์ตลงทุนทั้งหมด

ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th