logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ลงทุน

หุ้นกู้...ทางเลือกลงทุนในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น

โดย ภก.ธริญญ์รัฐ ปิยะศิริโสฬส AFPT™
ที่ปรึกษาการเงินอิสระ
เผยแพร่ ณ วันที่ 28 มิ.ย. 2566

ปัจจุบันการลงทุนใน “หุ้นกู้” ได้ยินกันบ่อยขึ้น เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น ทำให้บริษัทต่าง ๆ นิยมออกหุ้นกู้มากกว่าการกู้ยืมเงินจากธนาคารที่อาจมีภาระทางการเงินสูงกว่า ทำให้กลายเป็นช่องทางการลงทุนประเภทหนึ่งที่น่าสนใจของนักลงทุนรายย่อย อย่างไรก็ตาม ต้องพิจารณาให้รอบครอบ ก่อนตัดสินใจลงทุนหุ้น

หุ้นกู้ คือ ตราสารหนี้ ที่ออกโดยภาคเอกชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระดมทุนสำหรับใช้ในกิจการต่าง ๆ ของบริษัท เช่น ขยายกิจการ ซื้ออุปกรณ์ ก่อสร้างโรงงาน เป็นต้น

เมื่อลงทุนในหุ้นกู้ ผู้ซื้อจะมีสถานะเป็น “เจ้าหนี้” ของกิจการ ซึ่งแตกต่างจากการลงทุนในหุ้นสามัญที่ผู้ซื้อจะมีสถานะเป็น “เจ้าของกิจการ”

โดยผู้ซื้อหุ้นกู้จะได้รับผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ย ซึ่งมักจะจ่ายปีละ 2 ครั้ง หรือทุก 6 เดือน และจะจ่ายไปจนครบอายุของหุ้นกู้นั้น ๆ และรับเงินต้นคืนเมื่อสิ้นงวด

ดังนั้น ความเสี่ยงที่สำคัญที่สุดของการลงทุนในหุ้นกู้จึงเป็นความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ หมายความว่า สิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการพิจารณาลงทุนในหุ้นกู้นั่นคือ ความเสี่ยงที่ผู้ออกตราสารจะไม่สามารถชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยได้ (Credit Risk) ซึ่งในประเทศไทยใช้การจัดอันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้นั้น ๆ (Credit Rating) มาเพื่อให้ผู้ลงทุนพิจารณาประกอบการตัดสินใจลงทุน

โดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในประเทศไทยมี 2 แห่งคือ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด และ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยแสดงการเปรียบเทียบการจัดอันดับความน่าเชื่อถือดังตารางที่ 1 ซึ่งจากตารางจะได้ว่าจะมีการจัดกลุ่มหุ้นกู้เป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือ

  • 1. หุ้นกู้ที่เหมาะแก่การลงทุน (Investment grade bonds): หุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือระดับ BBB ขึ้นไป
  • 2. หุ้นกู้ที่เหมาะแก่การเก็งกำไร (Speculative grade bonds/ High Yield Bonds/ Junk Bonds): หุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือระดับ BB ลงไป

นอกจากนี้ Tris Rating และ Fitch Ratings ได้มีการใช้เครื่องหมายบวก (+) และ ลบ (-) ต่อท้ายอันดับเครดิต เพื่อใช้ขยายขอบเขตของคุณภาพเครดิตที่นิยามเอาไว้มากกว่าเล็กน้อย(+) และ น้อยกว่าเล็กน้อย (-) ตามลําดับ

การเปรียบเทียบการจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่าง Tris และ Fitch

Tris Fitch ความจำกัดความ หมายเหตุ
AAA AAA(tha) ความน่าเชื่อถือที่สูงสุด
และมีความเสี่ยงต่ำ
ที่สุด
กลุ่มตราสารหนี้ที่เหมาะแก่การลงทุน (Investment grade bonds)
AA AA(tha) ความน่าเชื่อถือสูงมาก
และมีความเสี่ยงต่ำมาก
A A(tha) ความน่าเชื่อถือสูงและมีความเสี่ยงต่ำ
BBB BBB(tha) ความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับปานกลาง
BB BB(tha) ความน่าเชื่อถือต่ำกว่าระดับปานกลาง กลุ่มตราสารหนี้ที่เหมาะแก่การเก็งกำไร (Speculative grade Bonds)
B B(tha) ความน่าเชื่อถือต่ำมาก
C CCC,CC,C(tha) มีความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้สูงสุด
  RD(tha) ผิดนัดชำระหนี้ แต่ยังไม่เข้าสู่กระบวนการล้มละลาย
D D(tha) ผิดนัดชำระหนี้ และอยู่ระหว่างกระบวนการล้มละลาย

นอกจากความเสี่ยงทางการผิดนัดชำระหนี้แล้ว ยังมีความเสี่ยงที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติมก่อนการลงทุน ได้แก่

  • ความเสี่ยงจากการขาดสภาพคล่อง (Liquidity Risk) คือการที่ผู้ลงทุนไม่สามารถขายตราสารหนี้นั้น ๆ ออกไปได้อย่างรวดเร็วเมื่อต้องการ เนื่องจากหุ้นกู้นั้นมีการหมุนเวียนค่อนข้างต่ำ และมีราคาต่อหน่วยค่อนข้างสูง (โดยมากกำหนดราคาต่อหน่วยที่ 1,000 บาท และการลงทุนขั้นต่ำที่ 100 หน่วย)
  • ความเสี่ยงจากเหตุการณ์ไม่คาดคิด (Event Risk) คือความเสี่ยงจากเหตุไม่คาดฝันที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจการ เช่น การเกิดแผ่นดินไหวทำลายโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งทำให้ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ เป็นต้น
  • ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Risk or Market Risk) คือความเสี่ยงที่ทำให้ราคาของตราสารหนี้เพิ่มขึ้น หรือลดลง เช่น การลดลงของราคาตลาดหากมีตราสารหนี้ออกใหม่จ่ายอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าตราสารหนี้เดิม เป็นต้น แต่ความเสี่ยงชนิดนี้จะเกิดเฉพาะเมื่อผู้ลงทุนต้องการขายตราสารหนี้ก่อนครบกำหนดเท่านั้น
  • ความเสี่ยงจากการนำดอกเบี้ยไปลงทุนต่อ (Reinvestment Risk) เนื่องจากตราสารหนี้ส่วนใหญ่จะจ่ายดอกเบี้ยอย่างสม่ำเสมอในช่วงก่อนครบกำหนด ดังนั้นหากนักลงทุนนำดอกเบี้ยที่ได้รับไปลงทุนต่อ ก็อาจจะได้รับอัตราดอกเบี้ยไม่เท่าเดิม ขึ้นกับแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดในขณะนั้น ๆ

ข้อสังเกตเพิ่มเติมสำหรับการลงทุนในหุ้นกู้คือ จะมีการกำหนดคุณสมบัติของผู้ลงทุนไว้ โดยแบ่งเป็นสองประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ กลุ่มผู้ลงทุนทั่วไป และกลุ่มผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่ ซึ่งนิยามของลักษณะผู้ลงทุนนั้นเป็นไปตามเกณฑ์นิยามของ ก.ล.ต.

โดยผู้ลงทุนสถาบัน และผู้ลงทุนรายใหญ่สามารถลงทุนในตราสารหนี้ที่มีการเสนอขายทุกประเภท แต่ผู้ลงทุนทั่วไปจะสามารถลงทุนในตราสารหนี้ที่เสนอขายแก่ประชาชนเป็นการทั่วไปเท่านั้น ซึ่งหุ้นกู้ที่เสนอขายแก่ประชาชนทั่วจะมีอันดับความน่าเชื่อถือมากกว่า BBB ขึ้นไป อย่างไรก็ตามการลงทุนในหุ้นกู้นั้น มักจะกำหนดปริมาณเงินลงทุนขั้นต่ำไว้ ซึ่งตามปกติมักเป็นจำนวนเงิน 100,000 บาท (หน่วยละ 1,000 บาท จำนวน 100 หน่วย) และเป็นทวีคูณของจำนวนเงินขั้นต่ำ

ตัวอย่าง การสรุปลักษณะสำคัญของหุ้นกู้ในการเสนอขายจากเว็บไซต์สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย

ส่วนช่องทางการจัดจำหน่ายนั้นในปัจจุบันสามารถลงทุนได้ผ่าน 2 ช่องทางหลัก ได้แก่ ผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ซึ่งเป็นบริษัทหลักทรัพย์ หรือธนาคารพาณิชย์ ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้จัดจำหน่ายหุ้นกู้นั้น ๆ จากบริษัทผู้ออกตราสาร และช่องทางดิจิตอลซึ่งเป็นที่นิยมมากขึ้นในการใช้เป็นช่องทางการจัดจำหน่ายหุ้นกู้แก่ประชาชนชนเป็นการทั่วไป เช่น การจัดจำหน่ายหุ้นกู้ผ่านแอปพลิเคชันของธนาคารต่างๆ ซึ่งมักจะมีการกำหนดวงเงินลงทุนขั้นต่ำเพียงแค่ 1,000 บาทเท่านั้น สำหรับนักลงทุนที่ต้องการขายหุ้นกู้ออกก่อนครบกำหนดอายุ หรือจองซื้อหุ้นกู้ไม่ทันในตอนแรก ก็สามารถซื้อขายหุ้นกู้ตลาดรองผ่านสถาบันการเงิน และช่องทางดิจิตัล ได้เช่นเดียวกัน

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่าการลงทุนในหุ้นกู้ในปัจจุบันไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัวของบุคคลธรรมดาทั่วไปอย่างในอดีต อย่างไรก็ตาม ก่อนการลงทุนในหุ้นกู้ตัวใดก็ตาม สิ่งที่สำคัญมากกว่าอัตราผลตอบแทนที่ได้รับนั้นคือ การศึกษาถึงลักษณะของธุรกิจ ความเสี่ยงประเภทต่าง ๆ ของหุ้นกู้ที่ต้องการลงทุนดังที่กล่าวมาในข้างต้น เพราะการลงทุนในหุ้นกู้ ผู้ลงทุนอาจจะไม่ได้รับแม้แต่เงินต้นคืนอีกเลย หรือใช้เวลานานกว่าจะผ่านกระบวนการบังคับคดีเพื่อชดใช้หนี้ หากหุ้นกู้นั้นผิดนัดชำระหนี้

ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th