logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: เกษียณ

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ปรับน้อย แต่ได้มาก

โดย ณัฐนันท์ เอื้อวัฒนาสกุล นักวางแผนการเงิน CFP®

“สังขารไม่เที่ยง” เป็นสัจธรรมของโลก เมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายที่เคยแข็งแรงก็จะเริ่มถดถอยลง ความคิดที่เคยเฉียบคมก็ค่อย ๆ ช้าลง

เมื่อร่างกายและความคิดช้าลง อาจจะทำให้งานที่เคยทำได้ดีมาตลอด เริ่มทำได้ไม่เหมือนเดิม รายได้ที่เคยมีก็เริ่มน้อยลง เพราะฉะนั้น แผนเกษียณอายุจึงเป็นหนึ่งในแผนการเงินภาคบังคับ ที่นักวางแผนการเงินจะชวนผู้ใช้บริการทุกคนวางแผนรับมือ เพื่อประเมินให้ได้ว่าจะต้องออมและลงทุนเท่าไหร่ และใช้เครื่องมืออะไรบ้าง ถึงจะเพียงพอสำหรับการใช้จ่ายในช่วงเกษียณอายุ

แหล่งเงินทุนสำคัญที่เป็นตัวช่วยทุ่นแรงสำคัญให้กับพนักงานประจำในการเก็บเงินเกษียณอายุคือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) เมื่อเรามีความเข้าใจในเครื่องมือนี้แล้ว จะสามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม และใช้ประโยชน์จากมันได้เพิ่มมากขึ้น

ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คือ กองทุนที่นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันจัดตั้ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ลูกจ้างเก็บออมเงินไว้เมื่อ เกษียณอายุ ออกจากงาน ทุพพลภาพ หรือเป็นหลักประกันให้กับครอบครัวยามที่ลูกจ้างเสียชีวิต

โดยเงินที่ถูกเติมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะมาจาก 2 ส่วน ได้แก่ เงินสะสมที่หักจากเงินเดือนของตัวลูกจ้างเอง และ เงินสมทบที่นายจ้างสนับสนุนเงินเพิ่มให้ โดยเงินทั้ง 2 ส่วนจะถูกนำไปลงทุนภายใต้นโยบายการลงทุนที่ถูกระบุไว้ เมื่อได้ผลตอบแทนจะถูกจัดสรรกลับเข้าไปยังบัญชีของสมาชิกแต่ละคน

การใช้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับการวางแผนเกษียณอายุ

หากพนักงานประจำมีสวัสดิการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ควรสมัครเข้าเป็นสมาชิกตั้งแต่เริ่มต้นทำงาน เพราะนอกจากเงินสะสมส่วนตัวที่ถูกหักไปเก็บไว้จากเงินเดือนทุกเดือนแล้ว ยังมีเงินสมทบที่นายจ้างร่วมส่งเข้าบัญชีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของเราด้วย เป็นการลงทุนที่ได้ผลกำไรทันทีตั้งแต่เริ่มลงทุน

สำหรับผู้ที่เป็นสมาชิกอยู่แล้ว สามารถปรับเปลี่ยนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มี เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดในวันเกษียณด้วย 2 วิธีการหลัก

ปรับเงินสะสมเพิ่ม สามารถปรับเงินสะสมได้สูงสุด 15% ของเงินเดือน ซึ่งการปรับเงินสะสมเพิ่มแค่เล็กน้อย ไม่กี่เปอร์เซ็นต่อเดือน จะส่งผลให้จำนวนเงินปลายทางที่มีตอนเกษียณแตกต่างกันอย่างมาก เช่น นายขยัน อดออม อายุ 22 ปี เงิน 25,000 บาทต่อเดือน และเพิ่มในอัตราปีละ 3% วางแผนเกษียณเมื่ออายุ 60 ปี โดยนายจ้างจะสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามจำนวนเงินสะสมของลูกจ้างแต่ไม่เกิน 5% ของเงินเดือน ผลตอบแทนคาดหวัง 5% ต่อปี หากนายขยัน เปลี่ยนเงินสะสมจากอัตรา 3% ไปเป็น 15% จำนวนเงินที่ได้รับเมื่ออายุ 60 ปี จะเพิ่มขึ้นจากประมาณ 3.1 ล้านบาท เป็น 10.6 ล้านบาท (ตามภาพประกอบที่ 1)

ปรับแผนการลงทุน หากมีตัวเลือกนโยบายการลงทุนให้สมาชิกเลือก การปรับนโยบายการลงทุน จะส่งผลให้ผลตอบแทนคาดหวังเปลี่ยนไปด้วย เช่น นายขยัน อดออม สะสมเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 3% แต่เลือกปรับนโยบายการลงทุนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจากผลตอบแทนคาดหวัง 5% ต่อปี ไปเป็น 3% และ 8% ตามลำดับ จำนวนเงินที่ได้รับเมื่ออายุ 60 ปี จะเปลี่ยนจาก 3.1 ล้านบาท เป็น 2.1 ล้านบาท ในกรณีผลตอบแทน 3% และเพิ่มเป็น 6.1 ล้านบาท ในกรณีผลตอบแทน 8% (ตามภาพประกอบที่ 2)

โดยทั้งสองแนวทางสามารถปรับใช้ได้ไปพร้อม ๆ กัน ทั้งปรับจำนวนเงินสะสมและปรับแผนการลงทุน ซึ่งเงินที่นำมาสะสมเพิ่มก็ให้เหมาะสมและไม่กระทบกับสภาพคล่องในแต่ละเดือน (สะสมเพิ่มเท่าที่ไหว) เช่นเดียวกับการปรับนโยบายการลงทุนควรจะเหมาะสมกับตัวเอง เพราะผลตอบแทนที่มากขึ้น จะตามมาด้วยความเสี่ยงและความผันผวนที่เพิ่มขึ้นด้วย

จะเห็นได้ว่า แค่การรู้จักและเข้าใจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมากขึ้น ปรับอีกสักนิด ขยับอีกสักหน่อย อาจจะได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างอย่างมากในปลายทางวันเกษียณอายุ

 

ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th

 

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th