logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: เกษียณ

Pay yourself first ในกระปุกเกษียณ

โดย สุทธสินี สุวรรณาพิสิทธิ์ ที่ปรึกษาการเงิน AFPT™
เผยแพร่ ณ วันที่ 5 ก.ค. 2566

เมื่อเริ่มต้นทำงานและมีรายได้เป็นของตัวเอง ย่อมต้องการจัดการเรื่องใช้จ่ายเงินด้วยตัวเอง แม้ฐานรายได้อาจยังไม่มาก แต่รายจ่ายที่ทุกคนมีเหมือนกัน รายจ่ายพื้นฐานสำคัญที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าเช่าที่อยู่อาศัย ค่าเสื้อผ้า

เมื่อทำงานมั่นคงมาสักระยะ จะเริ่มวางแผนมีทรัพย์สินของตัวเอง ด้วยการมีภาระเพิ่มมากขึ้น เช่น ซื้อรถยนต์ ซื้อบ้านหรือคอนโดมิเนียม หรือสร้างครอบครัวและมีลูก ทำให้มีภาระทางการเงินเพิ่มสูงขึ้น

จากรายการค่าใช้จ่ายที่กล่าวมา ทำให้การออมเงิน เป็นเรื่องยากที่จะนึกถึงก่อนค่าใช้จ่ายพื้นฐานที่จำเป็น และเพราะสภาวะทางเศรษฐกิจในการหารายได้ในปัจจุบัน บวกกับสภาวะเงินเฟ้อที่ข้าวของแพงมากขึ้น การมีสภาพคล่องเงินสดเหลือในการเก็บออมหรือลงทุน อาจต้องรอช่องการหารายได้เพิ่มมากขึ้น เพื่อมีส่วนเหลือออมและลงทุน รวมถึงต้องสามารถบริหารรายจ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย

สมการการเงินทั่วไป คือ รายได้ - รายจ่าย = เงินออม หมายถึงเมื่อมีรายได้เข้ามา ใช้จ่ายไปก่อนเหลือเท่าไหร่ค่อยออมผลลัพธ์คือ จะทำให้ “ไม่มีเงินออม” เพราะรายจ่ายอาจเท่าหรือมากกว่ารายได้

หากลองเปลี่ยนสมการใหม่ เป็นรายได้ - เงินออม = รายจ่าย หมายถึงเมื่อมีรายได้เข้ามา ให้ตัดเป็นเงินออมทันที เพราะเงินออม คือ รายจ่ายก้อนแรกหลังจากมีรายได้เข้ามา ผลลัพธ์ที่ได้ คือ เริ่มมีตัวเลขเงินออมอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน เมื่อให้ความสำคัญกับการเก็บออม ย่อมทำให้จำนวนเงินออมเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น เมื่อมีรายได้เข้ากระเป๋า ควรจ่ายให้กับตัวเองก่อนเสมอ (Pay yourself first) ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1. ได้ฝึกวินัยการออมเงินอย่างเป็นรูปธรรมและสม่ำเสมอต่อเดือน เช่น หักเงิน 10% ของรายได้ทุกเดือนไว้สำหรับการออม โดยโอนเข้าบัญชีเงินออมประเภทออมทรัพย์ หรือฝากประจำ 24 เดือน หรือจะนำไปลงทุนในกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น กองทุนรวมตราสารเงิน กระปุกเงินของเราจะค่อย ๆ ทวีค่าเพิ่มจำนวนมากขึ้นตามระยะเวลาเก็บออมที่มากขึ้น

2. สร้างความสบายใจของชีวิต หากเกิดเหตุจำเป็นต้องใช้จ่าย เงินก้อนนี้ เสมือนเงินสำรองฉุกเฉินที่มีสภาพคล่อง สามารถนำมาใช้ได้ทันที เช่น คนในครอบครัวเจ็บป่วย ต้องใช้เงินผ่าตัดอย่างเร่งด่วน เงินออมกระปุกนี้ช่วยแก้ปัญหาให้เราได้ทันท่วงที

3. สร้างพลังใจในช่วงวัยทำงาน ที่สามารถสะสมเงินออมให้มีตัวเลขที่เพิ่มมากขึ้น ๆ เกิดความมั่นคงและอุ่นใจ การเริ่มต้นทำได้ไม่ยาก สิ่งแรกคือ การเริ่มต้นจากคำนวณก่อนว่า เมื่อ ณ วันเกษียณมีตัวเลขเป้าหมายเท่าไร แล้วลองหารด้วยจำนวนเวลาต่อปี แล้วหารต่อเดือน ก็จะได้เงินออมต่อเดือนที่ควรเก็บเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเกษียณ เช่น อายุ 30 ปี ต้องการเกษียณอายุ 60 ปี มีระยะเวลาเก็บออมและลงทุน 30 ปี ตัวเลขเป้าหมายคือ 6 ล้าน แปลว่า ต้องออมเงินปีละประมาณ 2 แสนบาท หรือเดือนละ 16,667 บาท

เมื่อมีตัวเลขที่เก็บออมแล้ว คำถามตามมา คือ จะนำเงินไปฝากหรือลงทุนอย่างไร คำตอบ คือ ควรจัดสรรให้เหมาะสม เช่น ฝากออมทรัพย์ ซื้อประกันชีวิต ลงทุนกองทุนรวม หุ้น หรือทองคำ เป็นต้น

การสร้างนิสัยสะสมเงินตั้งแต่แรกเริ่มทำงาน จะเป็นรากฐานความมั่นคงทางการเงินของชีวิต ประกอบกับภาครัฐส่งเสริมการออมโดยมีภาคบังคับสำหรับข้าราชการก็กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ส่วนพนักงานบริษัทเอกชนก็มีระบบประกันสังคม และบางบริษัทก็มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่หักเงินส่วนหนึ่งของรายได้ลูกจ้าง และสมทบด้วยเงินอีกส่วนหนึ่งของนายจ้าง สะสมไปตลอดช่วงวัยทำงานจนกว่าจะเกษียณจากการทำงาน เราเรียกเงินออมในกระปุกนี้ว่า “กระปุกเงินเกษียณ”

กระปุกเงินเกษียณเหล่านี้ สำคัญไม่แพ้เงินที่นำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เพราะยอดเงินในกระปุกจะเป็นตัวรองรับฐานะยามเกษียณจากการทำงาน ว่าจะเกษียณมีความสุขหรือไม่ และ“กระปุกเงินเกษียณ” อาจไม่ใช่เรื่องไกลตัว เพราะต้องใช้เวลาในการสะสมเพื่อบรรลุเป้าหมายตัวเลขเกษียณที่ต้องการ

 

ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th

 

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th