logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ประกันภัย

“ประกันค่าชดเชยรายวัน รู้อะไรไม่สู้ รู้ว่าสำคัญ”

โดย ธนภัทร จินดาหลวง ที่ปรึกษาการเงิน AFPT™

“ยังไม่รับดีกว่า “พี่ทำไปแล้ว ไม่ค่อยได้นอนโรงพยาบาล” “ลืมซื้อเพิ่ม” ประโยคตัวอย่างที่หลาย ๆ คน บอกปัดเมื่อต้องซื้อประกัน แต่เมื่อเกิดเหตุและต้องนอน โรงพยาบาล อาจจะบอกว่า “รู้งี้ ซื้อประกันดีกว่า”

การเข้ารักษาที่โรงพยาบาล ไม่ว่าจะเกิดจากโรคภัยไข้เจ็บหรือเกิดจากอุบัติเหตุ ทำให้สูญเสียโอกาสต่าง ๆ ขาดรายได้จากการทำงาน ซึ่งหากเป็นมนุษย์เงินเดือนอาจจะยังไม่กระทบมากนัก แต่สำหรับอาชีพอิสระหรือ ฟรีแลนซ์ อาชีพค้าขาย หรือได้รับค่าจ้างรายวัน ถ้าไม่ได้ทำงานก็อาจทำให้รายได้หดหาย

คำนิยาม สัญญาเพิ่มเติมค่าชดเชยรายวัน (HB : HOSPITAL BENEFIT ) บางบริษัทประกัน ใช้คำว่าสัญญาเพิ่มเติมค่าชดเชยรายได้ สัญญาเพิ่มเติมวงเงินแน่นอน โดยหลัก คือ จะคุ้มครองในกรณีที่ผู้เอาประกันภัย เข้ารับการรักษาพยาบาลในฐานะผู้ป่วยใน หรือเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล เกิน 6 ชั่วโมงขึ้นไป โดยสามารถเคลมค่าสินไหมทดแทนตามทุนประกันที่ทำไว้ คูณกับจำนวนวันที่นอนรักษาตัวในโรงพยาบาล เช่น

ประกันค่าชดเชยรายวัน วันละ 3,000 บาท นอนรักษาตัวเป็นเวลา 5 วัน
เคลมได้ = 15,000 บาท
ทำประกันค่าชดเชยรายวัน วันละ 5,000 บาท นอนรักษาตัวเป็นเวลา 10 วัน
เคลมได้ = 50,000 บาท

โดยแต่ละบริษัทจะมีเพดานกำหนดจำนวนวันสูงสุดที่สามารถเคลมได้ต่อครั้งต่อโรค แตกต่างกันไป เช่น 180 วัน หรือ 365 วัน เป็นต้น

หลายคนที่มีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล เช่น สิทธิบัตรทอง สิทธิประกันสังคม สิทธิข้าราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ อาจคิดว่ามีสิทธิรักษาเพียงพอแล้ว จึงไม่ได้ทำประกันค่าชดเชยรายวัน เพราะเชื่อว่ามีโอกาสน้อยที่จะป่วยจนถึงขั้นนอนโรงพยาบาล หรือหากป่วยก็ไม่น่าจะนอนโรงพยาบาลนาน เกิน 1 หรือ 2 วัน จึงไม่ส่งผลกระทบกับรายได้มากนัก

อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าจะเกิดเหตุการณ์กับตัวเองจนต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาล หรือหากป่วยด้วยโรคร้ายแรง เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ หรือประสบอุบัติเหตุ ต้องนอนรักษาในโรงพยาบาลนาน ๆ ซึ่งส่งผลกระทบกับฐานะทางการเงินของตัวเองและครอบครัวได้

กระนั้นก็ดี ถึงแม้จะไม่ต้องกังวลเรื่องค่ารักษาพยาบาลที่จะเกิดขึ้น เพราะมีประกันสุขภาพค่ารักษาพยาบาลที่เพียงพอ แต่อย่าลืมว่าภาระค่าใช้จ่ายส่วนอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่รักษาตัวในโรงพยาบาล เช่น ค่าผ่อนรถ ค่าผ่อนบ้าน ค่าบัตรเครดิต ค่าเดินทางของญาติที่มาเฝ้าไข้ ค่ากิน ค่าเช่าร้าน ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าจ้างคนเฝ้าไข้ เป็นต้น หากต้องรักษาตัวนานขึ้นก็มีความเสี่ยงทางการเงินมากขึ้น อาจต้องหยิบยืม กู้สินเชื่อ หรือขายทรัพย์สินก็เป็นได้

การวางแผนทุนประกันค่าชดเชยรายวันที่เหมาะสม คำนวณจากค่าใช้จ่ายจำเป็น เพื่อให้เพียงพอต่อสถานการณ์จริง หากวันใดวันหนึ่งเกิดเจ็บป่วยขึ้นมา จนต้องนอนโรงพยาบาล เช่น มีค่าใช้จ่าย = 30,000 บาทต่อเดือน เฉลี่ยวันละ 1,000 บาท ก็ควรที่จะทำประกันค่าชดเชยรายวัน ด้วยทุนประกันอย่างน้อยวันละ 1,000 บาท ขึ้นไป ซึ่งหากเป็นเสาหลักของครอบครัวหรือ เสาหลักของกิจการ ทำธุรกิจส่วนตัว มีภาระค่าใช้จ่าย=100,000 บาทต่อเดือน เฉลี่ยวันละ 3 พันกว่าบาท ก็ควรวางแผนทำทุนประกันค่าชดเชย อย่างน้อย วันละ 3,000 บาท ขึ้นไป เป็นต้น

ตัวอย่าง เบี้ยประกันสัญญาเพิ่มเติม ค่าชดเชยรายวัน *
เพศชาย อายุ 30 ปี ทุนประกันค่าชดเชยวันละ 3,000 บาท เบี้ยประกัน เดือนละ =432 บาท
เพศชาย อายุ 40 ปี ทุนประกันค่าชดเชยวันละ 3,000 บาท เบี้ยประกัน เดือนละ =486 บาท
เพศชาย อายุ 50 ปี ทุนประกันค่าชดเชยวันละ 3,000 บาท เบี้ยประกัน เดือนละ =567 บาท
เพศหญิง อายุ 30 ปี ทุนประกันค่าชดเชยวันละ 3,000 บาท เบี้ยประกัน เดือนละ =432 บาท
เพศหญิง อายุ 40 ปี ทุนประกันค่าชดเชยวันละ 3,000 บาท เบี้ยประกัน เดือนละ =486 บาท
เพศหญิง อายุ 50 ปี ทุนประกันค่าชดเชยวันละ 3,000 บาท เบี้ยประกัน เดือนละ =567 บาท
เบี้ยประกันข้างต้น สามารถวางแผนทำเป็นโหมด รายสามเดือน รายหกเดือน หรือรายปี ได้

สาเหตุที่ไม่ได้ซื้อประกันชดเชยรายได้เอาไว้ให้เพียงพอ มาจากเหตุผลประกันค่าชดเชยรายวันจะเป็นสัญญาเพิ่มเติมที่ซื้อแนบกับประกันชีวิต ซึ่งเป็นสัญญาหลัก เมื่อไม่ได้คิดจะทำประกันชีวิตหรือไม่ได้รับการนำเสนอจากตัวแทน จึงไม่ทราบว่ามีประกันแบบนี้ด้วย ซึ่งในปัจจุบัน บางบริษัทประกัน มีประกันค่าชดเชยรายวัน ขายโดยเฉพาะ โดยไม่ต้องซื้อประกันชีวิตก่อน อีกสาเหตุหนึ่งมองว่า เบี้ยประกันที่ชำระจะเป็นเบี้ยสูญเปล่า ยังไม่เห็นความจำเป็น หรือบางคนทำประกันนี้ แต่อาจจะทำทุนประกันที่น้อยกว่า ความเหมาะสมที่แท้จริง เพราะเสียดายเบี้ยประกัน

เงื่อนไขการพิจารณารับประกันของแต่ละบริษัทประกัน ก็จะแตกต่างกันไป เช่น บางบริษัท มีเพดานกำหนดซื้อค่าชดเชยรายวันสูงสุดตามทุนประกันชีวิต ( สัญญาหลัก ) , บางบริษัทดูรายได้ของผู้ขอเอาประกัน หากทำทุนประกันต่อวันที่สูง เช่น ทำแผนค่าชดเชยรายวัน วันละ 10,000 บาท ว่าสอดคล้องกับรายได้หรือไม่ ซึ่งในอดีต มีกรณีศึกษาการฉ้อฉลเอาประกัน โดยทำประกันค่าชดเชยรายวันสูง ๆ หรือทำหลายบริษัท มีการเคลมสินไหมครั้งหนึ่ง หลายแสนบาท หรือป่วยเล็กน้อยแล้วขอนอนโรงพยาบาลโดยไม่มีความจำเป็นทางการแพทย์ ทำให้หลายบริษัทประกัน พิจารณารับประกันที่เข้มงวดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพและประวัติการรักษาในอดีต หรือข้อมูลทางการเงินของผู้ขอเอาประกันภัย เป็นต้น

มาถึงตรงนี้ หลายคนเห็นความสำคัญและสนใจอยากจะทำประกัน แต่กังวลเรื่องสุขภาพว่าจะทำได้หรือไม่ หรือจะต้องตรวจสุขภาพหรือเปล่า ควรติดต่อสอบถามตัวแทนประกัน หรือที่ปรึกษาทางการเงินมืออาชีพ เพื่อให้คำแนะนำและ

วางแผนประกันที่เหมาะสม เพราะบางกรณีอาจไม่อยู่ในเกณฑ์ หรืออายุเกินเกณฑ์ที่บริษัทประกันกำหนดเอาไว้

ดังนั้น หากตอนนี้ สุขภาพแข็งแรง อายุยังอยู่ในเกณฑ์รับพิจารณา จึงไม่ควรรีรอให้สายเกินไปที่จะวางแผนทำประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันโรคร้ายแรง รวมถึงประกันค่าชดเชยรายวัน เพื่อตัวเอง และคนที่เรารัก

ที่มา
*บมจ เมืองไทยประกันชีวิต ข้อมูล ณ วันที่ 1 ธันวาคม 2565 ประกอบอาชีพค้าขาย ขายของ ตลาดนัด

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th